Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
14 พ.ค. 2022 เวลา 09:23 • ท่องเที่ยว
พิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรเพื่อการพัฒนาประเทศ
พิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรเพื่อการพัฒนาประเทศ แต่เดิมเป็นบ้านของมหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ท่านได้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำฝรั่งเศส อิตาลี สเปนและรัสเซีย ในสมัยรัชกาลที่ 5 อีกทั้งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย
บ้านสุริยานุวัตรจึงเป็นบ้านที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเพื่อตอบแทนคุณความดีในการปฏิบัติราชการ ด้วยความสามารถ ความเพียร และซื่อสัตย์สุจริตมาโดยตลอด
อาคารสุริยานุวัตรก่อสร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2449 – 2453 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกแบบโดยนายมาริโอ ตามานโญ (Mario Tamangno) สถาปนิกชาวอิตาลี จึงได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมตะวันตกอย่างเด่นชัด เช่นเดียวกับอาคารจำนวนมากที่ก่อสร้างขึ้นในช่วงสมัยเดียวกัน
รูปแบบสถาปัตยกรรม .. เป็นอาคารสองชั้น ลักษณะสถาปัตยกรรมคลาสสิกแบบอาร์ตนูโว ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า จัดองค์ประกอบสองข้างอาคารต่างกัน
จึงมีความสง่างามและน่าสนใจด้วยรูปแบบหลังคาที่ด้านหนึ่งเป็นหลังคาจั่วผสมทรงปั้นหยา ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปทรงหลายเหลี่ยม และมีทรงปิระมิดผสานอยู่ ทั้งหมดนี้มีลักษณะอวดพื้นหลังคา และมุขประดับหลังคา (Dormer) มีห้องใต้หลังคา และห้องใต้ดิน
.. เหนือบันไดทางขึ้นตรงกลางก่อนเข้าอาคาร ทำเป็นกันสาดโค้ง ประดับลวดลายฉลุ มีคันทวยแกะสลักด้วยศิลปะแบบอาร์ตนูโวรองรับ เหนือประตูทางเข้ามีช่องตีไม้เกร็ด ประดับด้วยเครื่องหมายของพระยาสุริยานุวัตร
.. ด้านขวามือของอาคารมีมุขสี่เหลี่ยม ภายในเป็นส่วนบันไดที่เชื่อมต่อกับชั้นใต้ดิน จนถึงห้องใต้หลังคา
.. การตกแต่งอาคารเป็นไม้ฉลุและปูนปั้นลวดลายแบบตะวันตกที่มีความพิเศษด้วยการเจาะช่องหน้าต่างเล็กตรงกลาง มีการแกะไม้ประดิษฐ์ลาย แต่ตกแต่งอย่างไม่หวือหวาจนเกินงาม
.. ตัวตึกภายนอกประดับลายปูนปั้นแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่กำลังรุ่งเรืองอยู่ในยุคนั้นได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว เข้าชุดกับส่วนที่เป็นไม้
.. หน้าต่างเป็นไม้บานเกล็ด เหนือขึ้นไปทำเป็นช่องระบายลม ส่วนประตูทำแบบบานลูกฟักแกะลายงดงาม ที่สะดุดตาที่สุดเห็นจะได้แก่หน้าต่างทางตึกปีกซ้ายซึ่งเป็นด้านบันได เล่นระดับไล่กันอย่างสวยงามแปลกตา
.. ผนังของอาคารฉาบปูนเรียบ ตกแต่งด้วยลวดลายปูปั้นแบบตะวันตกบริเวณเหนือกรอบหน้าต่าง และเชิงผนังด้านใต้หลังคา
.. มุมอาคารด้านทิศตะวันออก ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นคล้ายลายเฟื่องอุบะใต้กรอบหน้าต่างยางลงมาจนถึงชั้นล่าง .. งดงามมาก
นามบ้านสุริยานุวัตร นามของผู้กระทำตนเสมือนหนึ่งพระอาทิตย์ที่เผาผลาญตัวเองเพื่อยังประโยชน์แก่ส่วนรวม สมดังราชทินนามที่ได้รับพระราชทาน และถือเป็นแบบฉบับแห่งความดีงามที่ควรแก่การกล่าวขานยกย่องสืบต่อสู่อนุชนรุ่นหลังตลอดไป
บ้านหลังนี้กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานในปีพ.ศ.2549 การบูรณะครั้งล่าสุดก่อนเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ในปี พ.ศ.2550 ได้มีการทำสีของอาคารใหม่จากสีขาวให้เป็นสีดั้งเดิมคือสีเหลืองจำปา
บ้านสุริยานุวัตรเป็นอาคารที่ทำงานถาวรหลังแรกของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ มาตั้งแต่ พ.ศ.2493 จนถึงปัจจุบัน
เมื่อมีการก่อตั้ง 'สภาที่ปรึกษาแห่งชาติ' ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” (สศช.) ในปีพ.ศ.2493 .. ได้หาที่ตั้งสำนักงานและขอซื้อตึกพร้อมที่ดินของพระยาสุริยานุวัตร
นับจากนั้นเป็นต้นมาอาคารแห่งนี้เป็นที่ตั้งของสภาพัฒน์ จนถึงปัจจุบัน แต่คนสภาพัฒน์ เรียกว่า 'ตึกกลาง' เนื่องจากมีการก่อสร้างอาคาร 5 ชั้นล้อมรอบในปีพ.ศ.2504 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี
“อาคารสุริยานุวัตร” ได้รับการตั้งชื่อมาเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากกรมศิลปากรได้ประกาศให้ 'ตึกกลาง' เป็น 'โบราณสถานแห่งชาติ' เพื่อเป็นเกียรติและรำลึกถึงเจ้าของอาคารเดิม อีกทั้งทายาทได้มอบภาพเหมือนเขียนด้วยสีน้ำมันขนาดใหญ่ และของใช้ส่วนตัวของพระยาสุริยานุวัตร มาแสดงไว้ภายในอาคารด้วย และผู้บริหารสภาพัฒน์ ได้ดำเนินการปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์และห้องสมุด
พิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรเพื่อการพัฒนาประเทศ
ชื่อของพิพิธภัณฑ์ มาจากราชทินนามของพระยาพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) .. พิพิธภัณฑ์นี้เกิดขึ้นมาจากการดำริของ ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในช่วงเวลานั้น ท่านได้ตระหนักเห็นคุณค่าในคุณูปการของพระยาสุริยานุวัตร ที่มีต่อประเทศไทย และเห็นความสำคัญทางสถาปัตยกรรมของตัวอาคาร
พระยาสุริยานุวัตร ได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ว่าเป็น นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของไทย เนื่องจากเป็นคนแรกที่เขียนหนังสือเศรษฐศาสตร์ แบบ 'ตะวันตก' ใช้ชื่อว่า 'ทรัพยศาสตร์' ซึ่งมีด้วยกัน 3 เล่ม โดยเขียนในช่วงที่ออกจากรับราชการแล้ว
แต่บทบาทของพระยาสุริยานุวัตร ในช่วงแรกของชีวิตรับราชการ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องนโยบายต่างประเทศ โดยทำงานด้านการทูตหลายประเทศในยุโรป ก่อนเดินทางกลับมาเมืองไทย ในปีพ.ศ.2448 และได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ในปีพ.ศ.2449
เนื่องจากพระยาสุริยานุวัตร พยายามนำหลักการแบบตะวันตกมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งกับผู้อื่นหลายเรื่อง จนต้องขอลาออกจากราชการในปีพ.ศ.2450 แต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระยาสุริยานุวัตรยังเป็นผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อีกด้วย
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่รัฐบาลหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจะแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีและที่ปรึกษาของรัฐบาล .. อาคารแห่งนี้ยังเป็น สถานที่จัดประชุมคิดรัฐประหาร รัฐบาลพระยามโนปกรณ์อีกด้วย ซึ่งเป็นรัฐบาลที่อยู่คนละฝ่ายกับคณะราษฎร์
Ref :
http://www.oknation.net/blog/wanna/2007/07/13/entry-1
ประวัติของ มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) สามารถอ่านได้ในหลายช่องทาง รวมถึง Wikipedia
เราจะเข้าไปชมด้านในกันนะคะ
ห้องแรกก่อนส่วนจัดแสดง .. จัดเป็นเหมือนห้องทำงาน โดยมีประติมากรรมรูปปั้นเสมือนจริงของท่านตั้งอยู่ตรงกับประตูทางเข้า
ภายในมีการจัดวางสิ่งของ และโต๊ะทำงาน .. ภายในห้องนี้ประดับด้วยภาพถ่ายของท่านและครอบครัวด้วย
พระยาสุริยานุวัตร กับ คุณหญิงลิ้นจี่ และบุตรธิดา ขณะเป็นอัครราชทูตที่ปารีส พ.ศ. 2446 (ค.ศ. 1903)
ชื่อของพระยาสุริยานุวัตรได้เงียบหายไปจากประวัติศาสตร์อยู่ช่วงหนึ่งจากการที่ท่านมีความคิดแบบคนหัวก้าวหน้า วิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจและการเงินการคลังในยุคสมัยนั้น จนกระทั่งได้มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชื่อของท่านจึงกลับมาอีกครั้งในฐานะนักเศรษฐศาสตร์คนแรกของประเทศไทย
ในห้องสุริยานุวัตร .. ผลงานที่โดดเด่นคือตำรา “ทรัพย์ศาสตร์” ปัจจุบันเป็นหนังสือ 1 ใน 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ตามโครงการวิจัยเพื่อคัดเลือกและแนะนำหนังสือดีในศตวรรษ ที่นี่เราจะได้เห็นตำราเล่มนี้แบบต้นฉบับเดิม
หอเกียรติยศ ... แสดงภาพผู้ก่อตั้ง สศช.
ส่วนถัดไป เป็นการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์
ภายในพิพิธภัณฑ์ได้จัดทำเนื้อหาจัดแสดงนิทรรศการเป็น 7 โซน ดังนี้
1. แสงแรก : เมื่อสยามเริ่มปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่หลังสนธิสัญญาเบาว์ริง ขณะนั้นสยามยังขาดแคลนนักคิดด้านเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่เพื่อรับมือกับเหตุการณ์เช่นนี้ 50 กว่าปีหลังจากนั้น สยามจึงมีตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกโดยพระยาสุริยานุวัตร คือ “ทรัพยสาตร์” นั่นจึงเป็น “แสงแรก” ของการเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ของไทย
2. แสงกำเนิด : เมื่อการเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีหน่วยงาน “หัวกะทิ” เพื่อการนี้ 2493 จึงเป็นปีที่ “แสงกำเนิด” ขึ้นเป็น สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ก่อนจะมาเป็น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปัจจุบัน
3. แสงนำทาง : บทบาทสำคัญของสภาพัฒน์ฯ คือ วางรากฐานการพัฒนาประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อปูพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม และออกแบบกระบวนทรรศน์ใหม่สำหรับอนาคตเพื่อเป็น “แสงนำทาง” ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาแล้ว 12 ฉบับ
4. แสงในโลกมืด : วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสภาพัฒน์จนถึงปัจจุบัน สภาพัฒน์เข้าได้เข้าไปมีบทบาทในการร่วมแก้ไขสถานการณ์ในขณะนั้นให้ผ่านพ้นด้วยดี ด้วยการปรับแผนและกำหนดแนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้เห็นว่าทุกวิกฤตนั้นย่อมต้องอาศัย “แสงนำทาง” ฝ่าความมืดออกไปเสมอ
5. แสงจากฟ้า : 2540 นับเป็นปีที่หนักที่สุดครั้งหนึ่งของคนไทย เศรษฐกิจไทยตกลงไปในเหวที่มืดที่สุด คนทั้งโลกเรียกมันว่า “ต้มยำกุ้ง” เวลานั้นคนไทยได้อาศัย “แสงจากฟ้า” โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางการดำรงอยู่ ประเทศไทยจึงค่อย ๆ กลับเข้าสู่แสงสว่างอีกครั้ง
6. แสงสู่อนาคต : เมื่อโลกเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่อย่างเต็มตัว การค้ารูปแบบเก่าจำนวนมากไม่สามารถไปต่อได้ ในขณะที่ธุรกิจรูปแบบใหม่ต่างโตวันโตคืน การเศรษฐกิจยุคใหม่จึงต้องการพิมพ์เขียวเป็น “แสงสู่อนาคต” เพื่อการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน
7. แสงแห่งปัญญา : ห้องค้นคว้าหนังสือ “เฉพาะทาง” เกี่ยวกับการเศรษฐกิจและสังคม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับเต็ม และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เป็น “แสงแห่งปัญญา” สำหรับเติมเต็มความรู้ ความคิด ให้สามารถเท่าทันเศรษฐกิจและสังคมในทุกความเปลี่ยนแปลง
ชั้นสอง .. แต่เดิมเป็นห้องนอนของพระยาสุริยานุวัตรกับครอบครัว ปัจจุบันทำเป็นห้องประชุมของผู้บริหารระดับสูง
บันไดทางขึ้นสู่ชั้นบนของบ้านนี้มีสองด้าน บันไดใหญ่เป็นของเจ้าของบ้าน
ส่วนบันไดเล็กอีกด้านเป็นของคนรับใช้ .. ซึ่งว่ากันว่า บันไดเล็กอีกด้านในสมัยก่อนจะมีทางเชื่อมกับเรือนของข้าทาสบริวารที่รายล้อมอยู่
บันไดทางขึ้นใหญ่ .. โดดเด่นด้วยสไตล์อาร์ตเดโคและอาร์ตนูโว โดยเฉพาะที่บันไดที่ทำด้วยไม้สักลงเงา หัวบันไดและราวบันไดแกะสลักและฉลุเป็นลายพรรณพฤกษา ดูสวยสง่ามาก ผนังรอบๆบันไดใหญ่ทำกรอบหน้าต่างตีเกร็ดไม้ และกรุกระจก
มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ว่ากันว่า .. เดิมมีกระจกกรอบไม้บานใหญ่ที่ติดอยู่บริเวณทางขึ้นชั้นบน กระจกบานนี้คุณยายประชงค์เป็นผู้มอบให้พร้อมกับบอกว่าหลังบานกระจกมีภาพของคุณลินจง ธิดาของเจ้าพระยาสุริยานุวัตร
ครั้นมาวันหนึ่งกรอบไม้ถูกปลวกกินจึงได้มีการถอดกระจกออกมา จึงได้พบกับภาพเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบขนาด 70 คูณ 130 เซนติเมตรคาดว่าจิตรกรคือ กาลิเลโอ คินี (Galilro Chini) จิตรกรที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เข้ามาวาดภาพจิตรกรรมบนฝาผนังทั้งหมดภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม
.. ภาพเขียนของสตรีสูงศักดิ์ ทำไมต้องเก็บภาพคุณลินจง ธิดาของเจ้าพระยาสุริยานุวัตรไว้หลังกระจก ทุกวันนี้ยังเป็นปริศนา?
เมื่อมองจากบันไดตรงขึ้นไปจนถึงเพดานด้านบนสุดของบ้าน .. จะมองเห็นส่วนที่เป็นห้องใต้หลังคา ซึ่งช่วงเวลาหนึ่งมีค้างคาวมาอาศัยบินเข้าออกเป็นจำนวนมาก จนชาวบ้านพากันเรียกว่า “วังค้างคาว”
พื้นที่บริเวณชั้นที่สอง .. แบ่งเป็นโถงทางเดิน และห้องใหญ่ๆ 3 ห้อง
โถงทางเดินกลาง .. เป็นส่วนนั่งพัก และเดินไปยังห้องต่างๆ ..
ปัจจุบันด้านหนึ่งประดับด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 9 และ 10 พร้อมพระราชินี
ห้องนอน .. การตกแต่งภายในบ้านงามอย่างเรียบง่าย มีเก้าอี้หมู่อยู่ตรงกลาง มีภาพเหมือนพระยาสุริยานุวัตร เขียนด้วยสีน้ำมันขนาดใหญ่ วาดโดยจิตรกรชาวอิตาเลียนเมื่อ พ.ศ.2441
.. เครื่องใช้ส่วนตัวเมื่อครั้งที่นำติดตัวกลับมาจากต่างประเทศในครั้งดำรงตำแหน่งเป็นอัครราชทูต ได้แก่ แจกันฐานทอง ชุดน้ำชาเครื่องเงินของเยอรมัน ชุดจานกระเบื้องสำหรับรับประทานอาหารค่ำ ฯลฯ โดยเครื่องใช้ส่วนใหญ่มีตราประจำตัวชื่อของพระยาสุริยานุวัตรพิมพ์หรือสลักไว้
ภาพเขียน ภาพของหม่อมลินจง ธิดาของท่านเจ้าพระยา และเป็นหม่อมห้ามในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๖๔ อายุ ๓๗ ปี
ด้านในสุด .. มีไม้ฉลุแผ่นใหญ่ลวดลายงดงามห้อยลงมา ให้เป็นสัดส่วนของบริเวณที่ทำงาน
ห้องประชุม ... ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้เคยมาประชุมกันที่นี่
ใกล้กันมีโต๊ะทำงานของเลขาธิการสภาพัฒน์ซึ่งเปลี่ยนกันไปตามวาระ
ถาดที่มีตราของท่านเจ้าพระยา ที่จัดแสดงไว้ ได้นัยมาจากทายาท
ห้องอีกหนึ่งห้อง .. คล้ายกับห้องทำงาน แต่มีขนาดเล็กกว่า มีการจัดวางเครื่องเรือนรูปแบบคลาสสิกเอาไว้ บางคนคาดว่า พื้นที่แห่งนี้อาจจะเป็นห้องนอนของท่านเจ้าของบ้านดั้งเดิมมาก่อน
บันไดที่ใช้เป็นทางขึ้น-ลงของผู้คนที่เป็นบริวารของบ้าน .. มองจากชั้นสองของอาคาร
เสน่ห์ของบ้านหลังนี้ นอกจากเรื่องราวของท่านเจ้าของบ้านดั้งเดิมแล้ว .. สถาปัตยกรรมของบ้าน ก็งดงาม ควรค่าต่อการไปเยี่ยมชม
บันทึก
3
3
5
3
3
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย