16 พ.ค. 2022 เวลา 15:04 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ผมไม่เคยลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์และก็ไม่เคยซื้อ crypto แต่ผมก็ติดตามข่าวเศรษฐกิจอยู่บ้างตอนยืนล้างจาน
มุมมองของผมเป็นแบบนี้ครับ
1) คุณเคยคิดมั้ยครับว่า ทำไมต้องเรียนหนังสือ แล้วไปสมัครงาน?
ชีวิตทำงานเป็นพนักงาน ต้องมีกฎระเบียบ ต้องตื่นแต่เช้าไปทำงาน บางทีช่วงที่เป็นวันหยุด บางคนอาจไม่ได้หยุด!
ทั้งหมดทั้งมวลคือคุณสร้าง “คุณค่า” ให้กับองค์กรที่คุณทำงานให้ แล้วเขาตอบแทน “คุณค่า” ทั้ง “เวลา, กำลังกาย, กำลังใจ, ความเสี่ยง,ฯลฯ” และอื่นๆที่คุณต้องเผชิญ ด้วย “เงินเดือน” และผลประโยชน์อื่นๆ
1
สมมุติว่าคุณเป็นเจ้าของกิจการขาย “หมูปิ้ง” คุณขายหมูปิ้งให้เด็กนักเรียน คุณช่วยให้เด็กๆมีอาหารเช้ารับประทาน และคุณได้ช่วยผู้ปกครองของเด็กๆเหล่านั้น ประหยัดเวลาและกำลังกายในการปิ้งหมูให้ลูกๆของพวกเขากิน นั่นคือ การที่ลูกค้าของคุณ “จ่ายเงิน” ให้คุณเพื่อแลกกับหมูปิ้ง เป็นการ “แลกเปลี่ยนคุณค่า” กันนั่นเอง!
สมมุติอีกว่า คุณขยายกิจการหมูปิ้งของคุณไปทั่วประเทศ จนเป็นที่รู้จักและเงื่อนไขในการระดมทุนของคุณโดยการขายหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นไปอย่างถูกต้อง กิจการหมูปิ้งของคุณก็จะมีสาธารณะชนผู้สนใจ เข้ามา “ลงทุน” กับคุณ ในฐานะ “ผู้ถือหุ้น” ตามกำลัง “ความเสี่ยง” ที่คนเหล่านั้นยอมรับได้
1
โดย “กฎแห่งการแลกเปลี่ยนคุณค่า” ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง คือ ในวงจรจะมี “คนขายหมูปิ้ง” และ “คนซื้อหมูปิ้ง” ส่วนกิจการจะได้ “กำไรหรือขาดทุน” อย่างไรเป็นเรื่องของความพยายามของทีมบริหารในการจัดการกับความเสี่ยงต่างๆ
ทั้งหมดทั้งมวลมี “กิจกรรม” จริงๆเกิดขึ้นเช่น การประชุมผู้ถือหุ้น, มีรายงานผลประกอบการ, มีการแบ่งเงินปันผล, มีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่มีคณะกรรมการกำกับดูแล, มีการขึ้นลงของต้นทุนที่จับต้องได้ ฯลฯ นั่นคือ
ทุกอย่าง “มีที่มาที่ไป”
2) ผมเองอยากจะให้ท่านผู้สนใจ ได้พิจารณารับชม คลิปจากทาง ThaiPBS ทั้งสองคลิปนี้
2.1) ทฤษฎีฟองสบู่
คลิปนี้ท่านอาจารย์ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ได้หยิบยก “ตัวอย่าง” ของวิกฤติฟองสบู่ในการ “ลงทุน” อย่างน้อยสามตัวอย่าง เช่น
การแห่ลงทุนใน “ดอก Tulips” ของชาวยุโรป ในช่วงปี ค.ศ. 1600s ที่ดอกทิวลิปเพิ่งถูกนำเข้าจากต่างประเทศ จนทำให้ดอกไม้ชนิดนี้ในสายพันธุ์หนึ่งเพียงดอกเดียวมี ราคาเทียบเท่าบ้านดีๆหนึ่งหลัง! แต่ในที่สุด ฟองสบู่ดอกทิวลิป ก็แตกในเวลาต่อมา
หากมีใครสนใจ ผมหาบทความที่เกี่ยวข้องไว้ให้แล้วครับ
2.2) ทฤษฎีแห่งคุณค่า
ในคลิปนี้ ท่านอาจารย์ สมเกียรติ ได้หยิบยกตัวอย่างของการ “ลงทุน” ใน อสังหาริมทรัพย์และทองคำโดยเปรียบเทียบกับ การลงทุนใน crypto ซึ่งคล้ายๆกับที่ผมยกตัวอย่างเรื่อง ธุรกิจขายหมูปิ้งข้างต้น
นั่นคือ ถ้าอสังหาริมทรัพย์และทองคำมี “อรรถประโยชน์” ในตัวของมัน คือถ้าเราซื้อบ้าน เราสามารถปล่อยเช่าได้ ก่อนที่จะตัดสินใจขายเมื่อได้ราคาที่เราพอใจ หรือทองคำสามารถใช้เป็นเครื่องประดับก่อนที่จะถูกขายเมื่อราคาสูงกว่าราคาต้นทุน นั่นคือ สิ่งเหล่านี้มี “กิจกรรมแห่งการมอบคุณค่า” แก่ผู้ถือครองในระบบเศรษฐกิจ ไม่มากก็น้อย
3) ดังนั้นหากมองย้อนกลับมาดู “คุณค่า” ของ crypto ในห่วงโซ่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คำถามข้อใหญ่คือ ผู้ที่ “จ่าย” เพื่อมันไปแล้ว พวกเขาและเธอได้อะไรตอบแทนกลับมา? ก่อนที่จะขายมันไปในราคาที่ “คาดหวัง” ว่าจะสูงกว่า “ราคาที่ซื้อมา” ?
“The Oracle of Omaha” คือ ฉายาที่คุณลุง Warren Buffett ได้มาจากการเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจนท่านได้เป็น “ตำนาน” และจะตำไปอีกนานในวงการการลงทุน
ระดับโลก
ท่านได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับ crypto ไว้ ตามคลิปนี้ครับ
4) ในฐานะที่ผมเป็นคนนอกวงการ ผมมักบอกกับตัวเองว่า
“หากผมต้องการ คาดหวังให้ราคา crypto ที่ผมซื้อมา พุ่งขึ้นอย่างพลุ่งพล่านในอนาคต โดยที่ผมไม่เห็นว่า crypto ที่ผมลงทุนถืออยู่จะสร้างประโยชน์และคุณค่าใดๆให้กับตัวผมเองและสังคม นอกจากจะทำให้ผมได้ลุ้นราคาที่คาดเดาเอาเองว่าจะสูงขึ้น
ผมขอเดินไปแผงลอตเตอรี่ใกล้บ้าน, จ่ายไป 80 บาท แล้วถือแผ่นกระดาษใบเล็กๆนั้นกลับมานั่งฝันว่าเลขที่ผม “ลงทุน 80 บาท” ไปนั้นจะกลายเป็นรางวัลมูลค่า “หกล้าน” เสียยังจะดีกว่า!”
บทเรียนหรือครับ?
สำหรับผม “จงใช้ความรู้ นำความโลภ”
โฆษณา