23 พ.ค. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
การใช้กลิ่นตัดสินโรค | วรากรณ์ สามโกเศศ
“สิ่งใดที่ไม่เคยเห็น มิได้หมายความว่าไม่มีหาก แต่ว่ายังมิได้ปรากฏเท่านั้น และปรากฏการณ์บางอย่างที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ก็สามารถเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสอันเหมาะที่จะเกิดเท่านั้น” ข้อสังเกตนี้รู้จักกันในนามของ “หงส์ดำ” หรือ Black Swan
2
การใช้กลิ่นตัดสินโรค | วรากรณ์ สามโกเศศ
วันนี้คอลัมน์ “อาหารสมอง” จะนำเสนออาหารจานหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องจริงที่กำลังเกิดขึ้น แต่ฟังดูแล้วราวกับเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ อีกทั้งเป็น “หงส์ดำ” อีกด้วย โลกรู้จักหงส์ขาวมาตั้งแต่สมัยโรมันเมื่อกว่า 2,000 ปีมาแล้ว ถึงแม้จะมีบทกวีที่กล่าวถึงหงส์ดำแต่ก็เชื่อกันว่าไม่มีอยู่จริงในโลก
กระทั่งในปี ค.ศ. 1697 Willem de Vlamingh ผู้บุกเบิกทวีปออสเตรเลียชาวดัชน์ได้พบหงส์ดำที่ Swan River ในบริเวณที่เป็นรัฐออสเตรเลียตะวันตกในปัจจุบัน การพบหงส์ดำเป็นครั้งแรกโดยชาวยุโรปสร้างความประหลาดใจแก่ชาวโลกเป็นอย่างมาก นักคณิตศาสตร์ชื่อ Nassim Taleb ได้เขียนหนังสือเมื่อปี 2007 และเรียกปรากฏการณ์ที่ยากจะเกิดขึ้นได้โดยไม่สามารถพยากรณ์และคำนวณหาได้โดยมีผลกระทบกว้างไกลว่า Black Swan
2
Black Swan มีทั้งด้านลบและบวก เช่น เหตุการณ์ 9-11 / การเกิดขึ้นของ internet / Covid-19 ฯลฯ การใช้กลิ่นวินิจฉัยโรคถือได้ว่าเป็น Black Swan ด้านบวกครั้งใหม่ที่กำลังปรากฏตัวให้เห็นในโลก การไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนมิได้หมายความว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยในบางกรณี
1
Joy Milne เป็นหญิงชาวอังกฤษชอบพอกับ Les Milne ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น สิ่งที่ทำให้เธอรักเขาส่วนหนึ่งก็มาจากกลิ่นเฉพาะตัวของเขา หลังแต่งงาน Les เรียนจบหมอส่วนเธอจบพยาบาล ทั้งสองอยู่กันอย่างมีความสุข มีลูก 3 คน
3
หลังจากแต่งงานได้ 10 ปีตอน Les อายุได้ 31 ปี เธอก็รู้สึกว่ากลิ่นตัวของเขาเริ่มเปลี่ยนไปกลายเป็นกลิ่นคล้ายยีสต์
ตอนแรกเธอผู้มีความสามารถเป็นพิเศษในการรับกลิ่น (ทางการแพทย์เรียกว่า Hyperosmia) มิได้คิดอะไรมาก แต่เมื่อนานวันเข้าบุคคลิกของ Les ก็เปลี่ยนไปด้วย เขากลายเป็นคนเจ้าอารมณ์
1
เมื่อ Les มีอายุ 40 กว่า ๆ เธอก็เห็นว่าเขาเปลี่ยนไปเป็นคนละคน บางครั้งเขาทุบตีเธอ ตัวสั่นและตะโกนเสียงดัง นอนไม่หลับ เธอคิดว่า Les มีเนื้องอกในสมอง แต่เมื่อไปตรวจละเอียดก็พบว่าเขาเป็นโรค Parkinson’s Disease ตอนอายุ 45 ปี
ในเวลา 20 ปีต่อจากนั้น อาการก็เริ่มเลวร้ายลงเป็นลำดับ เขาเคลื่อนไหวร่างกายได้น้อยลง ตัวสั่นตลอดจนทำงานได้ลำบาก เธอได้ไปเข้ากลุ่มคนเป็นโรคนี้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้กำลังใจกัน
2
สิ่งสำคัญที่เธอสังเกตได้ทันทีก็คือ กลิ่นที่ออกมาจากร่างกายคนที่เป็นโรคนี้และอบอวลอยู่ในห้อง มันเป็นกลิ่นเดียวกับกลิ่นของ Les ตอนอายุ 31ปี ตอนเริ่มเป็น Parkinson’s Disease
เธอจึงสงสัยว่าการเป็นโรคนี้ทำให้เกิดกลิ่นเฉพาะขึ้นมาหรือไม่ เธอหารือกับ Les ซึ่งเป็นหมอจึงเข้าใจว่าเธอได้ค้นพบสิ่งสำคัญเพราะถ้ารู้จากกลิ่นแต่แรก ๆ ว่าเริ่มเป็น ก็มีหนทางดูแลรักษาได้เร็ว โอกาสจะเลวร้ายลงก็มีน้อย หรือมีอัตราเลวร้ายช้าลงก็เป็นได้
1
เธอไปบอกหมอหลายคนก็ไม่มีใครสนใจว่า โรคจะมีกลิ่นเฉพาะจนกระทั่งมีข่าวว่ามีงานวิจัยที่สุนัขสามารถดมกลิ่นมะเร็งและช่วยวินิจฉัยโรคได้
1
แพทย์ที่ University of Edinburgh ชื่อ Tito Kunath จึงเชิญเธอมาทดลองโดยมอบเสื้อยืดของคนที่เป็น Parkinson’s Disease กับคนที่ไม่เป็นให้ดม ปรากฏว่าเธอบอกได้ถูกต้องทั้งหมดผิดเพียงรายเดียว (ต่อมารายนี้ก็เป็น Parkinson’s Diseaseจริง ๆ)
1
Kunath และเพื่อนตีพิมพ์ผลการวิจัยในวารสาร ACS Central Science ในเดือนมีนาคม 2019 หลังจากนั้นก็เกิดความสนใจกันทั่วโลก จนมีการทดลองเรื่องกลิ่นกับโรคมะเร็ง เบาหวาน วัณโรค Alzheimer’s Disease ฯลฯ อยู่ในขณะนี้เนื่องจากการสันนิษฐานโรคโดยใช้กลิ่นมีราคาถูก สะดวก และในบางกรณี เช่น Parkinson’s Disease สามารถบอกได้แต่เนิ่น ๆ ในขณะที่ยังไม่มีเครื่องมือตรวจวินิจฉัยได้แต่แรกขนาดนั้น
2
กลิ่นที่สังเกตได้เฉพาะโรคมิได้เป็นกลิ่นของตัวเชื้อโรค หากเป็นกลิ่นที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีของการทำงานของเชื้อโรคกับกลไกของร่างกาย
Parkinson’s Disease เป็นโรคที่เกี่ยวพันกับการเสื่อมของประสาท ยังไม่มียาหรือวิธีการรักษาให้หายขาด มีแต่ชะลอความเสื่อมของประสาท ปัจจุบันมียาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นลำดับในการรักษาอาการ เช่น จากการสั่นของร่างกาย
1
นักวิจัยพบว่าคนที่เป็นโรค Parkinson’s Disease บนผิวหนังที่มีน้ำมันเคลือบอยู่นั้นมีสารเฉพาะบางอย่างที่หลั่งออกมาจากร่างกายของคนป่วยมากกว่าคนปกติ และสารเหล่านี้รวมกันแล้วมีกลิ่นเฉพาะจนสามารถสังเกตได้ตั้งแต่มีอาการเริ่มแรก
2
การใช้กลิ่นช่วยวินิจฉัยโรคโดยแท้จริงมีมานานเป็นร้อยปีแล้ว ไม่ว่ากลิ่นของแผลติดเชื้อ หรือกลิ่นเฉพาะของโรคจากลมหายใจ(โรคติดสุราเรื้อรังนั้นบอกได้ง่ายมาก) แต่เมื่อมีเครื่องมือตรวจโรคที่ทำงานได้แม่นยำและมีประสิทธิภาพกว่าจึงเลิกราไป ปัจจุบันกำลังกลับมาอีกครั้งด้วยเทคโนโลยีที่สูงกว่า
ล่าสุดมีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร ACS Omega โดย Chen Xing และ Liu Jun ที่ Zhejiang University ในจีน กล่าวถึงประดิษฐกรรมใหม่สำหรับวินิจฉัย Parkinson’s Disease ก่อนที่จะมีอาการโดยใช้ AI (Artificial Intelligence) ที่เป็นจมูกอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมีขนาดใหญ่กว่าเครื่องปิ้งขนมปังไม่มากนัก วิธีการคือทำให้ไขมันจากผิวระเหยเป็นไอและจับคลื่นความถี่เพราะโมเลกุลของสารแต่ละตัวมีคลื่นแตกต่างกัน
2
AI สามารถเรียนรู้แบบแผนของคลื่นจากสารเหล่านี้และเอาไปเปรียบเทียบกับคลื่นที่ออกมาจากไขมันบนผิวของคนเป็น Parkinson’s Disease ก็จะตอบได้ว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ อย่างไรก็ดีเครื่องมือนี้มีความแม่นยำในระดับ 70% ซึ่งยังไม่สามารถสู้กับจมูกของ Joy Milne ได้ในขณะนี้
3
ขอจบลงด้วยข้อมูลสำหรับผู้อยากรู้ว่าตนเองมีโอกาสเป็นโรคนี้มากน้อยเพียงใด สถิติของคนอังกฤษคือมีโอกาส 1 ใน 100 สำหรับคนอายุเกิน 60 ปี สถิติทางตะวันตกคืออาการจะเริ่มปรากฏประมาณอายุเฉลี่ย 60 ปี เพียง 5-10% ที่เป็นโรคนี้ก่อนอายุ 40 ปี เชื่อว่าเป็นโรคทางพันธุกรรม ผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิง 1.5 เท่า ทั้งโลกมีคนเป็นอยู่ประมาณ 10 ล้านคน
1
และสุดท้ายสำหรับคนโรแมนติก Les เสียชีวิตเมื่อไม่นานมานี้ตอนอายุ 65 ปี หลังจากมีชีวิตสมรสที่มีความสุขกับ Joy ซึ่งปัจจุบันเป็นคนดังระดับโลกไปแล้ว
2
กว่า 40 ปี เธออยู่ที่เมือง Perth ในสก็อตแลนด์ เมืองที่มีชื่อเดียวกับเมืองหลวงของรัฐออสเตรเลียตะวันตก รัฐอันเป็นจุดกำเนิดของ ‘หงส์ดำ’
1
บทความโดย: ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ | คอลัมน์ #อาหารสมอง
*หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 29 มี.ค. 2565
3
โฆษณา