Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
IDis
•
ติดตาม
18 พ.ค. 2022 เวลา 09:32 • ไลฟ์สไตล์
สิ่งทอแบบจุลกฐิน
สิ่งทอ จัดเป็นวัตถุดิบหลักของเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่เป็น หนึ่งในปัจจัยสี่ สำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ และ/หรือพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเรียกกันว่า ไตรจีวร ประกอบด้วย สบง (ผ้านุ่ง) จีวร (ผ้าห่ม) สังฆาฏิ (ผ้าซ้อนนอกหรือผ้าพาด)
ด้วยหน้าที่ในการบำรุงพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชน ชาวบ้านจึงได้จัดผ้าไตรจีวรนำมาถวายพระภิกษุ ในช่วงเวลาตั้งแต่ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือหนึ่งเดือนหลังจากกวันออกพรรษา ซึ่งเป็นพุทธบัญญัติให้ภิกษุแสวงหาผ้าและรับผ้ากฐินได้
ตามพระวินัยแล้ว ไม่ได้จำแนกการทอดกฐิน (การถวายผ้ากฐินแก่พระสงฆ์) ออกเป็นชนิดๆ ไว้แต่อย่างใด คงกล่าวแต่เพียงในส่วนการทำหรือรับผ้ามากรานกฐินของพระสงฆ์เท่านั้น แต่หากพิจารณาจากประเพณีที่นิยมในปัจจุบัน คงพอจำแนกชนิดของการทอดกฐินได้เป็นสองแบบคือ
มหากฐิน เป็นศัพท์ที่เรียกเพื่อบอกความหมายของการทอดกฐินที่มีบริวารกฐินมาก ไม่ต้องทำโดยเร่งรีบเหมือนจุลกฐิน อาจกล่าวได้ว่า มหากฐินคือกฐินที่ทอดถวายตามวัดต่างๆ ในประเทศไทยปัจจุบัน โดยจะมีการรวบรวมจตุปัจจัยไทยธรรมและสิ่งของต่างๆ เพื่อนำไปเป็นเครื่องประกอบในงานกฐินถวายแก่พระสงฆ์ เพื่อนำไปทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาต่อไป (มหากฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก)
จุลกฐิน คือคำเรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จภายในวันเดียว กล่าวคือ ต้องเริ่มตั้งแต่ เก็บฝ้าย ทอผ้า ตัดเย็บ ย้อมและถวายให้พระสงฆ์กรานกฐิน ให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง ดังนั้นโบราณจึงถือกันว่า การทำจุลกฐินมีอานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ความอุตสาหะพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ในระยะเวลาจำกัด
ประเพณีการทำจุลกฐินนี้พบเฉพาะในประเทศไทยและลาว ไม่ปรากฏประเพณีการทอดกฐินชนิดนี้ในประเทศพุทธเถรวาทประเทศอื่น สำหรับประเทศไทย มีหลักฐานว่ามีการทอดจุลกฐินมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หน้า 268 ว่า “ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โปรดให้ทำจุลกฐิน”
ปัจจุบันประเพณีการทำจุลกฐินนิยมทำกันเฉพาะชุมชนทางภาคเหนือและอีสานเท่านั้น โดยอีสานจะเรียกกฐินชนิดนี้ว่า “กฐินแล่น” (จุลกฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก)
จุลกฐินวัดทัพคล้าย
เริ่มต้นจัดพิธีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 มาจนปัจจุบัน จัดขึ้นหลังวันออกพรรษา มีพิธีการ 3 วัน มีแนวคิดในการจัดพิธี คือ ทำจุลกฐินที่ประกอบด้วยกระบวนการทอผ้า จนถึงการนำไปตัดเย็บเป็นจีวรเพื่อถวายพระ รายละเอียดงานพิธีมีดังนี้
วันแรก
พิธีกวนข้าวกระยาสารททิพย์ ที่ต้องใช้ ผู้ทำพิธีกวนที่บริสุทธิ์ เช่น สาวพรหมจารี ผู้ทรงศีลเท่านั้น และทีความเชื่อว่า จะเป็นสิริมงคลกับผู้ที่ได้รับประทาน
วันที่สอง
ขบวนแห่ดอกฝ้ายของหมู่บ้าน วัตถุดิบสำคัญในการผลิตผ้าไตรจีวร โดยชาวบ้านจะต้องเตรียมปลูกฝ้ายไว้สำหรับการนำมาใช้ และเริ่มต้นพิธีด้วยการเก็บดอกฝ้ายของสาวพรพมจรรย์ ตามด้วย
การ “อิ้ว”
คือการนำปุยฝ้ายมาแยกเมล็ดออกด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า อิ้ว ในกรณีที่ดอกฝ้ายมีความชื้น ก็จะต้องนำไปไล่ความชื้นออก ด้วยการอังไฟจากเตาถ่าน
การ “ดีด”
คือการนำฝ้ายที่อิ้วแล้วมาทำให้ฟู หรือทำให้เนื้อของฝ้ายขยายออกจากกัน เพื่อให้เกิดความนุ่มไม่แข็งกระด้าง ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า “กง” หรือ “คันธนู” พร้อมด้วยอุปกรณ์ที่ใช้ดีดสายกง
การ “ล้อ”
คือการนำฝ้ายที่ดีดแล้วมาม้วนให้เป็นแท่งกลม ขนาดเท่านิ้วมือ ยาวประมาณคืบเศษๆ ด้วยอุปกรณ์ไม้ไผ่เหลากลมขนาดเท่าตะเกียบปลายเรียวยาวประมาณ 2 คืบ พร้อมด้วยไม้กระดานแผ่นเรียบ
การ “เข็น”
หมายถึง การนำเอาฝ้ายที่ล้อไว้แล้วมาดึงให้เป็นเส้นด้าย พร้อมดึงด้ายกลับไปกรอม้วนไว้ที่เหล็กใน (เหล็กแหลม) ของเครื่องมือ ที่เรียกว่า “หลา”
การ “เปีย”
หมายถึง การนำด้ายที่เข็นแล้วมาดึงออก ม้วนไขว้ไว้ที่ “เปีย” (อุปกรณ์ทำด้วยไม้) เพื่อรวบรวมด้ายไว้เป็นไจ หรือเป็นหัวพร้อมที่จะนำไป “ฆ่าด้าย”
การ “ฆ่าด้าย”
คือการนำด้ายที่เปีย เป็นไจหรือเป็นหัว หรือด้ายที่ซื้อมาจากตลาด ก่อนที่จะนำไปทำตามกรรมวิธีต่อไปมาทำให้ด้ายเหนียวและแน่น
การ “ทอ”
คือการนำเส้นด้ายมาเข้าสู่กระบวนการ เตรียมทอ และทอ
การ “ตัดเย็บ” เป็นไตรจีวร
คือการนำผ้าที่ทอเสร็จแล้วมาตัดเย็บเป็นผ้าไตรจีวรที่ต้องการก่อนนำไปย้อม ด้วยกระบวนการย้อมสีธรรมชาติ
วันที่สาม
ตัดบาตรเทโวโรหณะ หลังจากการตระเตรียม ไตรจีวร พร้อมเพื่อการถวายกฐิน ในเช้าของพิธีวันที่สาม พุทธศาสนิกชนจะมาร่วมกันทำบุญ ตักบาตร โดยจะมีขบวนที่เริ่มต้นด้วยบรรดา นางฟ้า เทวดา แล้วจึงตามด้วย ขบวนพระภิกษุสงฆ์
อานิสงฆ์จุลกฐิน
การถวายผ้าจุลกฐินแด่ พระสงฆ์ เป็นการถวายสังฆทานทางพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง นับเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ อีกทั้งเป็นการสะสมเสบียงเดินทางอันกันดาร ในวัฏจักรสงสารไว้สำหรับตนเอง และผู้ที่ตนเคารพนับถือ
นอกจากนี้ยังเป็นเกราะ เป็นที่พึ่งอาศัยอันเกษม ในภายภาคหน้าจะได้เป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์ เพิ่มพูนทรัพย์ จะส่งผลต่อ บุตร ธิดา ภรรยา บ่าวไพร่ ให้เป็นคนว่านอนสอนง่าย ไม่มีโรคภัย ไม่มีอันตรายแก่โภคทรัพย์ ทุกคนจะได้รับบุญบารมี มีข้าทาสบริวาร มีเคหสถาน มีเสื้อผ้าอาภรณ์และมีทรัพย์สมบัติไม่ขัดสนในที่สุด
การอิ้วฝ้าย หนึ่งในกระบวนการเตรียมเส้นด้ายเพื่อทอผ้า
บรรณานุกรม
1. คำสอนหลวงพ่อฤาษีลิงดำ, ”ประวัติและอานิสงส์การทอดกฐิน”, 2555.
2. พระมหานรินทร์ นรินโท, “ผ้าจีวรของพระมาจากไหน”, 2546.
3. วัดทัพคล้าย
4. โครงการวิจัยกระบวนการการจัดงานเทศกาลประเพณีโดยชุมชนมีส่วนร่วม กรณีศึกษา ประเพณีจุลกฐิน บ้านทัพคล้าย อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี มหาวิทยาลัยเทคโลยีราขมงคลกรุงเทพ, “งานประเพณีจุลกฐิน”.
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย