Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
บ้านและสวน
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
24 พ.ค. 2022 เวลา 02:00 • การเกษตร
เปิดแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่บ้านแบบต้นทุนต่ำงบไม่เกิน 30,000 บาท
สร้างรายได้เสริมจากงานประจำ
1
ไม้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือ Tissue Culture เป็นเทคนิคการขยายพันธุ์พืชวิธีหนึ่งโดยนำชิ้นส่วนของพืชได้แก่ ลำต้น ยอด ตาข้าง ดอก ใบ มาเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนต้นพันธุ์ได้ทีละมากๆในระยะเวลาไม่นาน
จากเดิมการเปิดแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อดูจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมีรายละเอียดมากมาย แต่ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งมีอาหารสำเร็จรูปให้เลือกใช้ ทำให้ใครๆก็สามารถเปิดแล็บได้ง่าย ๆที่บ้าน นับเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่สนใจธุรกิจผลิตกล้าไม้เพื่อสร้างรายได้หลักหรือรายได้เสริมจากงานประจำ ดังเช่นแล็บแห่งนี้ที่เริ่มต้นใช้เงินลงทุนไม่ถึง 30,000 บาท มาแบ่งปันความรู้ให้นำไปปรับใช้กัน
คุณดารุณี ธัญวรรัตนกุล แห่ง DR Lab เปิดแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสร้างรายได้เสริมในช่วงวันหยุด จากประสบการณ์ที่เคยทำงานด้านเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมากว่า 10 ปีและมีใจรักเป็นทุนเดิม จึงเริ่มเปิดแล็บเองที่บ้านง่าย ๆ ใช้เงินลงทุนไม่มาก และเริ่มสะสมต้นไม้แปลกๆที่เป็นที่ต้องการของตลาดมาขยายต่อทั้งกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ กล้วย และพรรณไม้อื่นๆตามแต่ลูกค้าสั่งผลิต จำหน่ายทั้งช่องทางออนไลน์และหน้าสวน
“ถ้าเป็นสมัยก่อนการทำเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อค่อนข้างยุ่งยาก ต้องมีหม้อนึ่งแรงดันไอน้ำ (Autoclave) ราคาร่วม 20,000 บาท ต้องมีห้องติดเครื่องปรับอากาศ เครื่องวัด pH ราคาหลักหมื่น รวมแล้วต้องใช้เงินลงทุนหลักแสน
"แต่พอเรามาศึกษาเองและดูยูทูบก็พบว่าการทำแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม่ได้ยุ่งยากขนาดนั้น สามารถประยุกต์ใช้อุปกรณ์และเทคนิคให้ง่ายขึ้น เราเองดัดแปลงใช้ห้องที่บ้านทำเป็นแล็บง่าย ๆ แต่มีข้อที่ต้องระวังคือเรื่องความสะอาด สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มอาจจะเริ่มทำจากน้อย ๆ ไม่ต้องลงทุนเยอะ ยังไม่ต้องติดเครื่องปรับอากาศก็ได้ แต่ถ้าทำจริงจังในระยะยาวติดเครื่องปรับอากาศจะดีกว่า"
1
ชั้นวางเนื้อเยื่อเริ่มแรกขนาดไม่ต้องใหญ่ แต่ควรติดตั้งหลอดไฟระยะห่างจากหลอดไฟถึงพืชประมาณ 1 ฟุต ถ้ามีชั้นวางก็ให้ติดหลอดไฟ 1 หลอดทุกระยะ 2 เมตร เพราะปกติเนื้อเยื่อควรได้รับแสงประมาณ 16 ชั่วโมง หรือระยะเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงตก อาจจะเปิดไฟตั้งแต่ 7.00-8.00 น. และปิดไฟเวลา 16.00-17.00 น. หากมีพืชมากไฟเป็นสิ่งสำคัญเพราะหากได้รับแสงไม่พอเนื้อเยื่อจะยืดและเมื่อนำไปอนุบาลจะไม่แข็งแรง
การทำอาหารวุ้นแบบเดิมต้องเตรียมสูตรอาหารเอง ซึ่งมีวัสดุและสารเคมีหลายชนิด ทั้งธาตุอาหารหลักไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และธาตุอาหารรอง แคลเซียม รวมทั้งวิตามิน และกรดอะมิโน แต่ปัจจุบันมีอาหารสำเร็จขาย เอามาใส่วุ้น น้ำตาล ปรับค่า pH เหมือนทำขนมวุ้นก็สามารถใช้ได้เลย
ห้องที่ใช้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแนะนำว่าให้มีพื้นที่ 2 ส่วน คือ ห้องเตรียมอาหาร และ พื้นที่ตัดเนื้อเยื่อ
สมัยก่อนการทำแลปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้องมีหม้อนึ่งแรงดันไอน้ำซึ่งราคาสูง แต่ปัจจุบันมีเทคนิคและงานวิจัยว่าใช้การฆ่าเชื้อด้วยคลอรอกซ์หรือไฮเตอร์มาทดแทนได้ โดยหยดไฮเตอร์ลงในอาหารวุ้นได้เลย ข้อดีคือช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก และผลที่ได้สามารถทดแทนการใช้หม้อนึ่งแรงดันไอน้ำได้เกือบ 100 %
ห้องเตรียมอาหาร ใช้เก็บอุปกรณ์ต่าง ๆเช่น บีกเกอร์ กระบอกตวง เครื่องชั่ง (สามารถใช้เครื่องชั่งเบเกอรี่ที่มีทศนิยม 2 ตำแหน่งได้ แต่หากใช้เครื่องที่มีทศนิยม 3-4 ตำแหน่งได้ยิ่งดีเพราะจะมีความคลาดเคลื่อนน้อยกว่า) เครื่องวัดค่า pH หม้อต้ม สารเคมี เป็นต้น
พื้นที่ตัดเนื้อเยื่อต้องเป็นพื้นที่สะอาดมาก อาจจะทำห้องแยกหรือใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งในบ้าน อุปกรณ์ในพื้นที่ส่วนนี้คือ ตู้และอุปกรณ์ตัดเนื้อเยื่อ ชั้นหรือโต๊ะวางเนื้อเยื่อ
การทำแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องความสะอาด และต้องระวังคือการติดเชื้อเพราะหากมีการปนเปื้อนเชื้ออาจจะเกิดการลุกลามทำให้พืชเสียหายได้
ถ้าเราไปสถานที่สุ่มเสี่ยงอาจจะมีเชื้อติดตัวเรามาโดยที่มองไม่เห็นเช่น ถ้าเข้าสวนแล้วมีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มามาห้ามเข้าแล็บเลย หรือหากเข้าสวนมาก่อนเข้าแล็บควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เรียบร้อย และล้างมือให้สะอาดฉีดพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ให้เรียบร้อยก่อนเริ่มทำงาน
การทำเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสมัยก่อนจะนิยมใช้ขวดแก้วเป็นภาชนะ แต่ปัจจุบันมีการใช้ถุงพลาสติกและถ้วยพลาสติกซึ่งหาได้ทั่วไปมาปรับใช้เพิ่มเติม กระปุกพลาสติกและถุงพลาสติกมีน้ำหนักเบา ใช้พื้นที่จัดเก็บน้อย ขนส่งสะดวกไม่แตกเสียหาย และไม่ต้องใช้แรงงานล้างทำความสะอาด
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในถุงพลาสติกช่วยให้ขนส่งสะดวกและใช้พื้นที่น้อยในการจัดเก็บ
ถุงและถ้วยพลาสติก
ข้อดี
- ต้นทุนต่ำสามารถหาซื้อได้ทั่วไป
- เวลาย้ายกล้าเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากถุงลงดินสามารถทิ้งถุงได้ จึงไม่เปลืองแรงงานล้างขวด
- ขนส่งง่าย น้ำหนักเบา ไม่แตกเสียหาย
- วางต้นที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้จำนวนมากต่อพื้นที่
ข้อจำกัด
- ถุงพลาสติกรูปทรงไม่คงที่การเทอาหารวุ้นลงถุงจึงต้องระวังไม่ให้เลอะปากถุงซึ่งอาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนได้ง่าย
ขวดแก้ว
ข้อดี
- ใช้ซ้ำได้ ทำความสะอาดง่าย
- เตรียมอาหารลงภาชนะง่าย
ข้อจำกัด
- ต้นทุนสูงและต้องหาซื้อจากแหล่งขายโดยเฉพาะ
- ต้องใช้แรงงานในการล้างเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
- มีน้ำหนักมากและต้องระวังแตกทำให้มีข้อจำกัด
ไม้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อบางชนิดออกรากง่าย บางชนิดออกรากยาก อาจจะใช้เวลาตั้งแต่ 2 สัปดาห์- 1 เดือน ขั้นตอน การทำเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีข้อคิด 3 ข้อคือ 1. ขยายเพิ่มปริมาณได้ 2. ออกรากได้ 3.อนุบาลแล้วรอด
เวลาเพาะเลี้ยงลงอาหารจะปัก 1-4 ต้น/ถุง ถ้าลงขวด 1-2 ต้น/ ขวด พอมีรากสมบูรณ์ ทรงต้นแข็งแรงจึงนำไปอนุบาลอีก 1-2 เดือน
วิธีนำไม้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อออกมาอนุบาล
1. นำต้นพืชออกมาล้างวุ้นออกให้สะอาด
2. นำต้นพืชแช่น้ำสารป้องกันเชื้อรา ชื่อสามัญเมทาแลกซิล (Metalaxyl) เพื่อป้องกันโรค รากเน่าโคนเน่า
3. ย้ายต้นพืชลงวัสดุปลูกควรใช้วัสดุปลูกที่เหมาะกับไม้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ มีลักษณะร่วนซุย เช่น พีทมอส พีทมอสผสมเพอร์ไลท์ พีทมอสผสมขุยมะพร้าวและแกลบ หรือขุยมะพร้าวผสมแกลบ
4. นำต้นกล้าที่ย้ายปลูกแล้วใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงเพื่อควบคุมความชื้น หากพืชต้นเล็กสามารถใส่แก้วกาแฟและครอบฝาพลาสติก แต่หากมีจำนวนมากให้ทำกระโจมพลาสติกคลุม
5. อนุบาลต้นกล้าประมาณ 3-4 สัปดาห์ จึงย้ายลงกระถางที่ต้องการปลูกต่อไป แนะนำให้รดสารป้องกันเชื้อราในดินปลูกอีกครั้ง
ทางแล็บแห่งนี้มีการผลิตพืชกลุ่มไม้ประดับที่นิยม ได้แก่ ฟิโลเดนดรอนพิ้งค์พริ้นเซส ฟิโลเดนดรอนไวท์ไนท์ ฟิโลเดนดรอนแบล็กคาร์ดินัล ฟิโลเดนดรอนกลอริโอซัม ฟิโลก้านส้ม ซิงโกเนียมไหลขาว ออมชมพู อโลเคเซีย กล้วยแดงอินโด กุหลาบ กล้วยน้ำว้า
โดยมีลูกค้ามาซื้อหน้าสวนและลูกค้าออนไลน์ รวมทั้งพ่อค้าและแม่ค้ามาสั่งผลิตไปขาย นอกจากผลิตต้นไม้แล้ว DR Lab ยังรับสอนทำแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อด้วย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 08-9910-6894
Facebook : DR Lab พันธุ์พืช
ที่อยู่ : DR Lab 761 ม.6 ต.หนองใหญ่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี
ไม้ใบสกุล Syngonium สีสันสวยงามที่ร้านต้นไม้นิยมมารับไปจำหน่าย
ไม้สกุล Philodendron ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
กล้วยแดงอินโดที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
คุณดารุณี ธัญวรรัตนกุล แห่ง DR Lab นอกจากผลิตกล้าไม้จำหน่ายแล้วยังเปิดคอร์สรับสอนทำแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อด้วย
เรื่อง : วรัปศร
ภาพและข้อมูล : คุณดารุณี ธัญวรรัตนกุล DR Lab จ.ชลบุรี
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่
www.baanlaesuan.com
การเพาะเนื้อเยื่อพืช
แล็บพืช
22 บันทึก
9
3
17
22
9
3
17
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย