3 มิ.ย. 2022 เวลา 00:51 • การศึกษา
ไทยพูดดี เบงกาลีพูดได้ ตอนที่ ๒๑ สาธารณรัฐ
ชื่อทางการของบังกลาเทศคือสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ หรือ Gonoprojatontri Bangladesh (คณประชาตนตริบังกลาเทศ) โดย projatontri คือ สาธารณรัฐ มาจาก proja (ส่วนรวมหรือ public) + tontra (ระบบ) รวมเป็นระบบของสาธารณชน ส่วนคำว่าประชาธิปไตยใช้คำว่า gonotontra มาจาก gono (คณะ) + tontra รวมเป็นระบบของกลุ่มคน ซึ่งจะตีความว่าส่วนรวมก็คงได้
มหาวิทยาลัยในบังกลาเทศมีหอพักประเภทหนึ่งเรียกว่า gono room ซึ่งเป็นโรงนอนรวมในห้องใหญ่ ไม่ได้แยกเป็นสัดส่วน เพราะพื้นที่มีจำกัด ตอนที่รัฐบาลจะอนุญาตให้มหาวิทยาลัยเปิดสอนตามปกติหลังหยุดไปช่วงโควิด ทางการเสนอให้มหาวิทยาลัยทั้งหลายยกเลิก gono room เพราะเกรงจะเป็นแหล่งกระจายเชื้ออีกรอบ
คำว่า gono ในภาษาเบงกาลีกับ “คณะ” ในภาษาไทยจึงมีขอบเขตที่ต่างกันมาก เพราะไทยใช้ “คณะ” กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ส่วนรวมทั้งหมด เช่น ในคำว่าคณาธิปไตย (oligarchy) หมายถึงระบอบที่ปกครองโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ใช่ตัวแทนของคนส่วนใหญ่
ซึ่งภาษาเบงกาลีใช้ abhijatatontra หรืออภิชาต คนบังกลาเทศอธิบายว่าคำว่า “abhijata” มีทั้งความหมายเชิงบวกและเชิงลบ แบบแรกคล้ายกับที่ใช้ในภาษาไทยคือ การที่ลูกหลานประพฤติตนเพื่อประโยชน์ของวงศ์ตระกูล และโดยนัยนี้จึงถูกใช้ในเชิงลบไปด้วยว่าเป็นการรักษาประโยชน์ให้เฉพาะพวกพ้องของตนเอง คำว่า abhijata เลยกลายเป็นคำที่ใช้เรียก ชนชั้นสูง (elite) แบบเสียดสีหน่อย ๆ
สังคมนิยมใช้คำว่า samajatontrik เพราะ samaja (สมัชชา) แปลว่าชุมชนหรือสังคม เช่น ชุมชน Baridhara (Baridhara Society) ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา ภาษาเบงกาลีสามารถใช้คำว่า samaja ในขณะที่สมัชชาของไทยหมายถึง การประชุมเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สมัชชาสหประชาชาติ
คำว่า rashtra (ราษฏระ) ในภาษาบาลีสันสกฤตและเบงกาลีหมายถึงรัฐ ประเทศสหรัฐอเมริกาในภาษาเบงกาลีคือ Yuktarastra (ยุกตราษฏระ) มาจาก yukta (ยุกต์แปลว่าถูกต้อง ชอบ หรือประกอบด้วย) + rashtra รวมเป็นประเทศที่ประกอบด้วยหลายรัฐ สหราชอาณาจักรเป็น Yuktarajya (ยุกตราชย์) หมายถึงประเทศที่ประกอบด้วยหลายอาณาจักร
ภาษาเบงกาลีเรียกสหรัฐอเมริกาว่า Yuktarastra (ยุกตราษฏระ) แปลตามศัพท์ว่า United States เมืองหลวงของสหรัฐฯ คือกรุงวอชิงตัน ซึ่งจัดเทศกาล Cherry Blossom ทุกฤดูใบไม้ผลิบริเวณริมสระ Tidal Basin ภาพโดย จุลีพจน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน
เจ้าสัวยม พิศลยบุตร ผู้ขุดคลองสาทรได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากรัชกาลที่ ๕ เป็นหลวงสาทรราชายุกต์ เคยอ่านเจอเมื่อหลายปีก่อนว่าหมายถึงผู้สนับสนุนหรือประกอบส่วนกับพระราชาในการเอื้อเฟื้อแก่ประชาชน (สาทรแปลว่าความเอื้อเฟื้อ) แต่บัดนี้ก็ค้นไม่พบแหล่งข้อมูลนั้นแล้ว บ้านของท่านเคยเป็นสถานทูตรัสเซียตั้งแต่ครั้งยังเป็นสหภาพโซเวียตก่อนจะย้ายไปถนนทรัพย์ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม W
ส่วนคำว่าประชาชนนั้น เบงกาลีใช้ lok (โลก) สุภาพบุรุษเรียกภัทรโลก ภาษาฮินดีของอินเดียใช้คำเดียวกัน เพราะสภาผู้แทนราษฎรอินเดียเรียกว่าโลกสภา ในขณะที่บังกลาเทศใช้ระบบสภาเดียว ไม่มีวุฒิสภา
ประธานาธิบดีบังกลาเทศเรียกว่า ราษฏระบดี คือผู้เป็นใหญ่ในรัฐ นายกรัฐมนตรีคือประธานมนตรี และรัฐมนตรีคือมนตรี ทำเนียบประธานาธิบดีบังกลาเทศเรียกว่า Bangabhaban แปลว่าบ้านแห่งเบงกอล แต่เดิมเป็นบ้านพักของผู้ว่าราชการรัฐเบงกอลสมัยที่ยังเป็นอาณานิคมอังกฤษ มีพื้นที่กว้างขวางถึง ๑๒๕ ไร่ เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่กลางกรุงธากา
ทำเนียบประธานาธิบดีอินเดียเรียกคล้ายกันคือ Rashtrapati Bhavan แต่ภาษาฮินดีออกเสียง bhavan ด้วยเสียง ว
ทำเนียบประธานาธิบดีอินเดียมีชื่อว่า Rashtrapati Bhavan แต่เดิมเป็นทำเนียบอุปราชอังกฤษประจำอินเดีย ออกแบบโดยนาย Edwin Landseer Lutyens สถาปนิกชาวอังกฤษ ภาพโดย รัชนี เอื้อไพโรจน์กิจ อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
Bhaban แปลว่าอาคาร ใช้เรียกอาคารที่มีพื้นที่กว้างขวางสักหน่อย และคงไม่เอามาเรียกบ้านคนทั่วไป หรืออพาร์ทเมนท์ขนาดกะทัดรัดที่เปิดประตูเข้าไปปุ๊บก็เดินชนขอบเตียง ถ้าโอ่โถงแบบบ้านทรายทองอาจจะใช้ได้ เป็น “บ้านทรายทองภาวัน” หรือถ้าเป็นตึกสูง ๆ (building) เช่น ตึกสำนักงาน ตึกอพาร์ทเมนท์ แบบนี้เบงกาลีเรียก bhaban ได้
รัฐสภาบังกลาเทศเรียกว่า Jatiya Sangsad แต่มักเรียกสั้น ๆ ว่า Sangsad อาคารรัฐสภาเรียกว่า Sangsad Bhaban
นายพนม ทองประยูร
อัครราชทูตที่ปรึกษา
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา
โฆษณา