Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ข่าวชายขอบ
•
ติดตาม
19 พ.ค. 2022 เวลา 11:59 • ไลฟ์สไตล์
พิธีไหว้พระจันทร์กับน้ำผึ้งเดือนห้าของกะเหรี่ยง “ป่าละอู”
เรื่อง/ภาพ-นิยม เที่ยวพราย
transbordernews.in.th
พิธีไหว้พระจันทร์กับน้ำผึ้งเดือนห้าของกะเหรี่ยง “ป่าละอู”
เรื่อง/ภาพ-นิยม เที่ยวพราย ในทุกๆ ป
ในทุกๆ ปี ของเดือนห้าไทยหรือช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน คนกะเหรี่ยงแถบผืนป่าตะวันตก เช่น จังหวัดประจวบฯ เพชรบุรี และราชบุรี มักเข้าป่าตีผึ้งเพื่อเอาน้ำผึ้งมากินและทำยาสมุนไพร ขณะที่ขี้ผึ้งทำเป็นเทียนเพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อ
น้ำผึ้งเดือนห้านั้นคนกะเหรี่ยง (รวมถึงคนหลายชาติพันธุ์) เชื่อว่ามีประโยชน์และสรรพคุณหลากหลายในการรักษาโรคต่างๆรวมทั้งบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ซึ่งมีคำกล่าวของคนกะเหรี่ยงที่พูดถึง “พญาพันดอก( ผึ้ง ) พญาพันราก( เม่น )และพญาพันใบ (ค่าง)”
การตอกทอยก่อนปีนต้นผึ้ง
ช่วงเดือนห้าของทุกปีทั่วผืนป่าจะเต็มไปด้วยดอกไม้หลากหลายชนิด ผึ้งจึงขึ้นรังเป็นจำนวนมาก ขณะที่ยอดไม้ใบหญ้ากำลังแตกยอดอ่อน ซึ่งเป็นอาหารชั้นยอดของค่างและสัตว์ทั่วไป ส่วนพืชประเภทก่อต้นจะแตกหน่ออ่อนและแตกราก จึงเป็นอาหารเลิศรสของเม่นและสัตว์ใต้ดิน
“ต้นผึ้งที่จะไปตีไกลแค่ไหนครับ” ผมถามเส้นทางกับลุงปราโมทย์ จันทร์อุปถัมภ์ ผู้อาวุโสชาวกะเหรี่ยง เพื่อติดตามไปดูการตีผึ้งของคนในย่านนี้
“เห็นเขาลูกนั้นมั้ย แค่นี้เอง เดินแค่ 1-2 ชั่วโมงก็ถึง” ลุงชี้มือไปยังภูเขาที่เห็นอยู่ด้านหน้า ผมเห็นแล้วก็อุ่นใจดูท่าจะไม่ไกลมาก คงเดินสบายๆ แต่ที่ไหนได้ หลังจากกินข้าวกินปลาเสร็จและออกเดินตั้งแต่ 7 โมงเช้า กว่าจะไปถึงก็ปาเข้าไปบ่ายโมง ใช้เวลาเดินเต็มๆ 6 ชั่วโมง
ลุงปราโมทย์ ผู้อาวุโสชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านป่าละอู อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ เล่าว่าคนในหมู่บ้านจะเข้าป่าในเดือนห้าเพื่อตีผึ้งตามต้นผึ้งที่คนรุ่นก่อนเคยตี แต่ละหมู่บ้านจะไม่ข้ามเขตกันและตีตามต้นผึ้งของใครของมัน ถ้าเจ้าของต้นผึ้งคนใดไปตีไม่ไหว หรือไม่ไปตี ก็จะมีลูกหลานหรือคนในชุมชนมาขออนุญาตไปตี ในแต่ละปีผึ้งจะขึ้นรังไม่เท่ากัน บางปีก็ขึ้นเยอะ บางปีก็ขึ้นน้อยขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในปีนั้นๆ ด้วย
“ต้นผึ้งบางต้น บางปี มีผึ้งมาทำรัง 50-100 รัง บางปีอากาศร้อน หรือมีไฟไหม้ป่า ผึ้งจะขึ้นรังแค่ 20 กว่ารังเท่านั้น เพราะฉะนั้น คนกะเหรี่ยงในพื้นที่ไม่ชอบให้ไฟไหม้ป่า” ผู้อาวุโสอธิบายสถานการณ์ของผึ้งพร้อมกับบอกว่าในการตีผึ้งทุกครั้งคนกะเหรี่ยงได้ขี้ผึ้งด้วย ซึ่งขี้ผึ้งนั้นเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างที่ต้องใช้เพื่อประกอบพิธีกรรมความเชื่อในชุมชน
ในหมู่บ้านของลุงปราโมทย์มีพิธีกรรมไหว้พระจันทร์ ในคืน 15 ค่ำ เดือน 5 และ คืน 15ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี การประกอบพิธีไหว้พระจันทร์นั้น ต้องใช้เทียนเป็นจำนวนมากเพราะต้องจุดเทียนเพื่อขอขมาต่อพระจันทร์ ตั้งแต่พระจันทร์ขึ้นจนถึงพระจันทร์ตก และมีข้าวปลาอาหารต่างๆ เลี้ยงพระจันทร์ตามความเชื่อ
ลูกหลานทุกคนจะต้องมาร่วมพิธีโดยนำสิ่งของมาร่วมพิธี ซึ่งพิธีไหว้พระจันทร์นั้น สอนให้ลูกหลานเคารพป่า เคารพคนเฒ่าคนแก่ สร้างความสามัคคีในชุมชน ที่สำคัญคือลูกหลานได้เรียนรู้เพื่อสืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น
ปีนต้นผึ้งเพื่อตีผึ้ง
นอกจากผมแล้ว ลุงปราโมทย์พาหลานชาย 3 คนร่วมเดินทางไปด้วยเพราะให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาการตีผึ้งซึ่งบรรพชนปกาเกอะญอสั่งสมไว้
“การจะเข้าไปตีผึ้งเดี๋ยวนี้ลำบาก กลัวว่าอุทยานจะจับ เขาอ้างกฎหมายเยอะไปหมด ถ้าไม่ได้ตีผึ้งหลายสิ่งหลายอย่างในชุมชนจะหายไป เพราะผึ้งเป็นที่มาของรายได้ประจำปีของชาวบ้าน วันนี้ลุงอายุ 70 กว่าแล้ว ขึ้นต้นผึ้งไม่ไหว
แต่ทุกครั้งที่เข้าไปตีผึ้ง มักพาลูกหลานไปด้วย อยากให้พวกเขาได้เรียนรู้การตีผึ้ง เรียนรู้การอยู่ในป่า เรียนรู้การใช้ยาสมุนไพรในป่า”ผู้เฒ่าอธิบายถึงความหวังของชีวิต แกอยากให้ทุกคนร่วมกันปกป้องรักษาผืนป่าเพื่อให้ถึงชั่วลูกชั่วหลาน
“คนกะเหรี่ยงมีความเชื่อว่าป่าคือบ้าน จึงไม่มีใครอยากให้ไฟไหม้บ้านตัวเอง ไม่มีใครอยากทำลายบ้านของตัวเอง”ผู้เฒ่ากะเหรี่ยงสะท้อนความจริงอันเจ็บปวดในวันที่ชาวกะเหรี่ยงถูกตีกรอบวิถีชีวิคด้วยเงื่อนไขของทางการ
“ทุกครั้งที่ได้ยินคนพูด หรือในข่าวเขียนว่ากะเหรี่ยงเผาป่า กะเหรี่ยงทำลายป่า กะเหรี่ยงทำไร่เลื่อนลอยทำให้น้ำท่วม ทำให้เกิด PM2.5 ลุงอยากบอกเขาว่า ถ้าพวกเราทำลายป่าจริงๆ ป่านนี้คงเตียนโล่งไปถึงชายแดนพม่าแล้ว
เมื่อ 2-3 ปีก่อน ไฟไหม้ป่าแถวหมู่บ้าน จนถึงชายแดนพม่า ไหม้อย่างหนัก จนทำให้ผึ้งในปีนั้นไม่ขึ้นเลยเพราะอากาศร้อน สัตว์ป่าตายมากมาย ต้นไม้ที่เป็นอาหารและยาสมุนไพรตายไปเยอะมาก ทุกวันนี้ต้องเดินป่าไปไกลถึงได้ยามารักษา” ลุงเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งระหว่างทางเดิน แกได้เก็บใบไม้ใบหญ้ามาอธิบายสรรพคุณให้ผมและหลานๆ ได้รับรู้
ทุกวันนี้ลูกหลานบ้านป่าละอูต้องไปเรียนหรือรับจ้างข้างนอกเพราะที่ทำกินที่มีอยู่ไม่พอทำกิน
เมื่อปี 2539 เจ้าหน้าที่อุทยานฯได้ยึดพื้นที่ไปปลูกป่า 731 ไร่ จึงไม่มีที่ทำไร่ขุ้าว ขณะที่การรับจ้างก็ได้เพียงวันละ 300 บาท หากซื้อกินเนื้อหมู 1 กิโลกรัมหมดไป170 บาทแล้ว แถมต้องเติมน้ำมันไป-กลับอีก เงินที่รับจ้างก็หมด
แต่ถ้ามีไร่ข้าวที่ปลูกแบบคนกะเหรี่ยงเมื่อก่อน แต่ละครอบครัวแทบไม่ต้องใช้เงินสักบาทในแต่ล่ะวัน เพราะในไร่ข้าวนั้นมีผักมากมายให้ได้กินอยู่และหากินได้ตลอดทั้งปี ยิ่งในยุคของโรคโควิด ลูกหลานที่ออกไปทำงาน ก็นำโรคเข้ามาในหมู่บ้านอีก จนติดกันไปหลายคน
เมื่อถึงที่พัก ลุงได้บอกให้หลานๆไปหาฟืนมาหุงข้าวและย่างลูกทอย ระหว่างทำกับข้าว ลุงได้เด็ดใบไม้มา 1 ใบพร้อมกับตักข้าวใส่ 1 ช้อนพร้อมแกงแล้ววางไว้ที่โคนต้นไม้
“เราต้องการให้เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา ได้กินพร้อมๆ กับเรา”ลุงสอนกฎของป่า พร้อมกับรินเหล้าที่ติดมาด้วยใส่แก้วเพื่อนำไปให้เจ้าที่ด้วย
วิธีการตีผึ้งที่ลุงปราโมทย์สอนพวกเรานั้น ต้องตอกลูกทอยให้แน่นจึงต้องใช้กำลังมากเพราะหากลูกทอยหักหรือหลุดนั่นหมายถึงชีวิต ดังนั้นหมอผึ้งต้องมีความชำนาญและรอบคอบ ที่สำคัญหมอผึ้งต้องทนต่อการถูกผึ้งต่อยให้ได้ ส่วนคบไฟที่ใช้ลมควันนั้น ทำจากเถาวัลย์ชนิดหนึ่ง
ครั้งนี้แม้มีผึ้งขึ้นรังไม่มาก แต่พวกเราก็ได้เรียนรู้ทักษะการตีผึ้งที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของปกาเกอะญอ
คนกะเหรี่ยง ป่า และผึ้ง มีความเกี่ยวโยงกันมาเนิ่นนาน เช่นเดียวกับวิถีการทำไร่หมุนเวียน ที่เป็นระบบเกษตรกรรมพอเพียงของแท้ ปกาเกอะญออยู่กันอย่างเกื้อกูลตามคำสอนบรรพบุรุษ แต่ทุกวันนี้ต้องลำบากเพราะ “คนมาทีหลัง” ไม่เข้าใจความสอดคล้องและสมดุลอย่างที่ควรเป็น
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย