19 พ.ค. 2022 เวลา 12:00 • ข่าว
หาดชะอำใต้กำลังจะตาย กับทางเลือกที่ถูกกลบฝัง
ช่วงสงกรานต์ปีนี้ (2565) ยังพอเห็นนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำที่หาดชะอำใต้ โดยเฉพาะในช่วงน้ำทะเลลง พื้นทะเลยังมีทรายให้เหยียบย่ำและวิ่งไปหาผืนน้ำ เพียงแต่ก่อนลงหาดต้องเดินลงบันไดและระมัดระวังเศษซากสิ่งก่อสร้างและแนวกองหินที่เป็นผลพวงจากการก่อสร้าง ขณะที่บางช่วงบางตอนริมหาดมีเสาปูนเรียงแถวโผล่เป็นอนุสาวรีย์ให้ชมด้วย
แต่ในช่วงฤดูมรสุมหรือหน้าลม บรรยากาศชะอำใต้เป็นไปด้วยความเงียบเหงาเพราะคลื่นที่ซัดกระแทกบันไดคอนกรีตนั้น น่ากลัวจนไม่กล้าลงเล่นน้ำ
ที่ผ่านมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดของกรมโยธาธิการดังกระหึ่ม เพราะทำลายนิเวศหาดทรายที่เคยเป็นเสน่ห์และภาพจำของหาดชะอำไปจนสิ้น ทั้งการหายไปของปริมาณทรายและการหดแคบของชายหาด รวมถึงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เช่น ปูลม ที่สร้างขุยทรายเป็นปะติมากรรมบนชายหาด ต้องจบสิ้นลง
แต่ไม่มีคำตอบหรือคำชี้แจงใดๆที่เป็นเรื่องเป็นราวจากผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันการปล่อยให้สถานการณ์การกัดเซาะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งคิดว่า “ถ้าไม่สร้างกำแพงกันคลื่นแล้วจะปล่อยให้ถนนเรียบชายหาดถูกกันเซาะจนขาดหรือ”
กำแพงไม้กันคลื่นหน้าโรงแรมรีเจ้นท์ที่กำลังฟื้นฟูจนทรายกลับคืนมา
เขื่อนกันคลื่นของกรมเจ้าท่าที่ใช้บิ๊กแบ๊คและหินแต่ไม่สามารถต้านทานความรุนแรงของคลื่นได้แถมยังสร้างปัญหาให้กับหาดทราย
ประกอบกับหาดชะอำไม่มีชุมชนหรือเครือข่ายภาคประชาชนคอยเป็นปากเป็นเสียงแทนธรรมชาติแหล่งนี้ เพราะบ้านเรือนหน้าหาดชะอำใต้ส่วนใหญ่เป็นบ้านพักในยุค “ชะอำฟองคลื่นศักดินา”และบ้านพักรองรับนักท่องเที่ยวที่เจ้าของมากจากหลากหลาย
“ชะอำฟองคลื่นศักดินา”เป็นหนังสือที่ “สรศัลย์ แพ่งสภา”เขียนขึ้นบอกเล่าเรื่องราวการบุกเบิกหาดชะอำเมื่อ พ.ศ.2464 โดยเจ้าขุนมูลนายกลุ่มหนึ่ง
อาทิ กรมพระนราธิปประพันธพงศ์ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระโสภณอักษรกิจ เป็นต้น เพราะเบื่อหน่ายทะเลหัวหินซึ่งเป็นแหล่งตากอากาศชื่อดังตั้งแต่ยุคนั้นที่เต็มไปด้วยเรือนรับรองและการจับจองที่ดินของชนชั้นเจ้านาย
ทุกวันนี้หาดชะอำจึงมีการวางผังเมืองไว้ดี ทั้งถนนเรียบชายหาดและถนนคู่ขนาน ตลอดจนพื้นที่ป่าท้องถิ่นที่กันไว้จนกลายเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าในปัจจุบัน
ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องตลกที่กลุ่มนักสร้างกำแพงกันคลื่นพยายามให้ข่าวตอบโต้ว่า คนที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างกำแพงกันคลื่นครั้งนี้เป็นคนภายนอกทั้งสิ้น เพราะถ้าเขาอ่านประวัติศาสตร์ก็จะรู้ว่าชะอำสร้างบ้านแปงเมืองโดยบุคคลภายนอกมาตั้งแต่ต้น จนทุกวันนี้หาดชะอำกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนทั้งประเทศ รวมถึงชาวต่างชาติ
จริงๆ แล้วยังมีทางเลือกที่ไม่ใช่กำแพงกันคลื่นแบบโครงสร้างแข็ง โดยมีตัวอย่างของความสำเร็จที่ชัดเจนบริเวณชายหาดหน้าโรงแรมเดอะรีเจ้นท์ ซึ่งอยู่ย่านหมู่บ้านบางควาย ที่ห่างจากหาดชะอำไปเพียง 7 กิโลเมตร
เดิมทีชายหาดย่านบางควายก็เป็นชายหาดสวยงามเช่นเดียวกับชายหาดที่ทอดตัวยาวตั้งแต่ชะอำไปถึงหัวหิน เพียงแต่การกัดเซาะบริเวณนี้มาเร็วกว่าหาดชะอำ
เมื่อพ้นจากหาดชะอำใต้แล้ว บริเวณชายทะเลไปจรดหัวหินส่วนใหญ่เป็นที่ดินเอกชนที่อยู่ติดชายหาด เมื่อเกิดการกัดเซาะจึงต่างคนต่างแก้ปัญหาซึ่งเดิมที่บริเวณหน้าโรงแรมเดอะรีเจ้นท์ใช้แนวกำแพงโครงสร้างแข็ง แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการหายไปของทรายได้ มิหนำซ้ำการกัดเซาะที่รุนแรงทำให้หาดทรายกำลังกลายเป็นทะเลโคลนเพราะเริ่มมีกลิ่นดินโคลนบ้างแล้ว
เมื่อ 2 ปีก่อนผู้บริหารโรงแรมแห่งนี้ได้เปลี่ยนแนวทางโดยสร้างกำแพงไม้สนปักริมทะเล โดยการแนะนำอาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัจจุบันมีสัญญาณในทางที่ดีเนื่องจากมีปริมาณทรายกลับคืนหาดมากขึ้น เพราะแนวกำแพงต้นสนสามารถลดความรุนแรงของคลื่นและช่วยดักทรายไม่ให้ถูกตีกลับลงทะเลตามกระแสไหลเชี่ยวของแรงคลื่น
“ช่วงนั้นเราได้กลิ่นโคลนแล้ว แต่วันนี้ทรายเริ่มกลับมา จุดที่ปักไว้เมื่อ 2 ปีก่อน วันนี้ทรายกลับมาจนเกือบมิดไม้สนสูง 3 เมตรที่ปักไว้ ชายหาดกลับมากว้างเหมือนเดิม เราคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว” ตู่-นพพร สุขอยู่ ฝ่ายช่างของโรงแรมรีเจ้นท์ซึ่งดูแลการฟื้นฟูชายหาดมาตั้งแต่ต้นชี้ให้ดูผลงาน
ขณะที่ชายหาดหน้าโรงแรมรีเจ้นท์มีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น แต่บริเวณด้านข้างทั้งสองด้านของชายหาดหน้าโรงแรม กรมเจ้าท่าใช้กระสอบทรายบิ๊กแบ็คและหินถมยื่นเข้าไปในทะเล โดยใช้ชื่อว่า “โครงการก่อสร้างบำรุงรักษาเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล” แต่บิ๊กแบ็คส่วนหนึ่งได้แตก และสร้างปัญหาให้ชายหาด
การแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งของหน่วยราชการที่ต่างคนต่างทำโดยมีเม็ดเงินงบประมาณเป็นตัวตั้ง ทำให้สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่โดยเฉพาะภายหลังจากที่รัฐบาลปล่อยผี โครงการไม่ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทำให้หน่วยงานราชการทั้งระดับกรมและส่วนท้องถิ่นต่างทำโครงการกันตามอำเภอใจ และกลายเป็นช่องทางทุจริตคอรัปชั่นครั้งใหญ่
โครงการสร้างกำแพงกันคลื่นบริเวณชายหาดชะอำใต้ สะท้อนภาพชัดถึงการมุ่งใช้งบประมาณมากกว่าความมุ่งหวังฟื้นฟูชายหาดเช่นเดียวกับชายหาดอีกมากมายทั่วชายฝั่งทะเลไทยที่กำลังเผชิญสถานการณ์เช่นเดียวกัน
ชายหาดชะอำอันเลื่องชื่อ วันนี้กำลังค่อยๆ สิ้นเสน่ห์ เพียงเพราะความเห็นแก่ตัวและเห็นแก้ได้ของคนบางกลุ่มเท่านั้น
ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วยังมีทางเลือกเพื่อแก้ปัญหา
แต่ทางเลือกอื่นกลับถูกกลบหมดเนื่องจากเม็ดเงินงบประมาณบดบังตา
โฆษณา