19 พ.ค. 2022 เวลา 12:02 • ข่าว
ครบรอบ 8 ปี “บิลลี่” ถูกอุ้มหาย-คดียังช้า “มึนอ” จี้เร่งสะสาง-สุดเศร้าชาวบางกลอยยังลำบาก “สุรพงษ์” เผยอัยการสูงสุดไม่เชื่อหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ของดีเอสไอ “สุนี” ชี้ชาวบ้านยังมีหวังได้คืนถิ่นป่าใหญ่ “อนุชา” รับปากหารือ ทส.
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2565 น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ “มึนอ” อดีตภรรยาของนายบิลลี่ รักจงเจริญ ชาวบ้านบางกลอยที่ถูกบังคับอุ้มสูญหาย หลังจากออกมาเรียกร้องสิทธิให้ชาวบ้านบางกลอยที่ถูกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเผาบ้านเรือนและยุ้งข้าวเพื่อกดดันให้ชาวบ้านอพยพจากป่าใหญ่ใจแผ่นดินมาอยู่โป่งลึก อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
โดยมีผู้พบเห็นนายบิลลี่เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของคดีว่า ปีนี้เป็นปีที่ 8 ที่บิลลี่หายไป แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ โดยล่าสุดตนได้เดินทางไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เพื่อให้กำลังใจในการทำหน้าที่ และได้รับแจ้งว่าได้ส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดแล้ว
มึนอ กล่าวว่า ดีเอสไอบอกว่า หมดหน้าที่ของดีเอสไอแล้ว ต่อไปขึ้นอยู่กับสำนักงานอัยการสูงสุดว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งจนถึงบัดนี้ตนก็ยังไม่ทราบความคืบหน้าใดๆ ทั้งๆ ที่อยากรู้มาก และได้ยื่นหนังสือถามสำนักงานอัยการสูงสุดแล้วไปแล้ว
“ 8 ปีถือว่านานมาก แต่เรายังไม่รู้อะไรเลย เราไม่รู้ว่าอัยการสูงสุดเชื่อในหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์หรือไม่ แต่เรารู้สึกว่าอะไรกันนักกันหนา หลักฐานที่ดีเอสไอมากมายขนาดนี้ ทำไม่ถึงจะไม่เชื่อ ถ้ายังไม่เชื่อหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์แล้ว จะเชื่ออะไรได้อีก
ญาติพี่น้องของพี่บิลลี่ต่างก็เห็นเช่นเดียวกันกัน เพราะทุกคนต่างก็รู้อยู่ว่า พี่บิลลี่อยู่กับใครเป็นคนสุดท้าย แต่กลับไม่สามารถทำอะไรได้เลยหรือ ถ้าเป็นคนจนๆ อย่างพวกเราก็คงถูกลงโทษไปนาน” น.ส.พิณนภา กล่าว และว่าฝากให้อัยการสูงสุด ทำคดีให้กระจ่างโดยไว
มึนอ กล่าวว่า เมื่อถึงวันที่ 17 เมษายนของทุกปี ลูกๆและญาติพี่น้องของบิลลี่ต่างก็คิดถึงเขา เราจึงหวังว่าจะได้รับความยุติธรรม เช่นเดียวกับเรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้านบางกลอย ทุกวันนี้ยังไม่มีการแก้ปัญหาให้คืบหน้าเท่าที่ควร
ปัญหาทั้งหมดจะแก้ไขได้ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฎิบัติตามที่ชาวบ้านต้องการเพราะชาวบ้านมีสิทธิเนื่องจากอยู่มาก่อน แต่ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังขัดขวางและไม่ยอมให้ชาวบ้านได้ทำกินในที่ดิน ปัญหาก็จะลุกลามออกไปเรื่อยๆ
“เรารู้สึกแย่มากๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวของ ย้ายเอาชาวบ้านลงมาอยู่ข้างล่าง รับปากว่าจะดูแลพวกเขา แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ดูแลตามที่รับปากไว้เลย จนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนมาจนถึงทุกวันนี้” มึนอ กล่าว
ขณะที่นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่าเป็นความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม โดย 5 ปีแรกการทำงานอยู่ในตำรวจและดีเอสไอ เมื่อต้องดำเนินคดีคนหาย
การหาหลักฐานยากลำบากเพราะสถานที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ที่หน่วยงานรัฐควบคุมอยู่ และหน่วยงานรัฐนั้นยังพัวพันกับการถูกดำเนินคดีในฐานะเป็นเจ้าของพื้นที่ซึ่งช่วงแรกยังไม่เจอชิ้นส่วนใดๆ ของบิลลี่ทำให้ตำรวจไม่กล้าสรุปว่าเป็นการฆาตกรรม ประกอบกับประเทศไทยไม่มีกฎหมายออกมาแก้ไขเรื่องนี้ชัดเจน โดยเฉพาะการถูกฆาตกรรมโดยไม่พบศพ ทำให้ตำรวจไม่กล้าสรุปสำนวนเพื่อฟ้องศาล
นายสุรพงษ์กล่าวว่า สุดท้ายดีเอสไอใช้นิติวิทยาศาสตร์ หาชิ้นส่วนบิลลี่จนพบและนำไปสู่สรุปสำนวนส่งอัยกายเพื่อให้สั่งฟ้องแต่เรื่องมาติดที่อัยการเพราะยังไม่ฟันธงว่าเป็นการฆาตกรรม เนื่องจากไม่เชื่อข้อมูลของดีเอสไอว่าเป็นการฆาตรกรรมและส่งเรื่องกลับไปที่ดีเอสไอ แต่สุดท้ายดีเอสไอได้ยืนยันกลับอีก ดังนั้นตอนนี้คดีจึงอยู่ในชั้นอัยการสูงสุด
ผู้สื่อข่าวถามว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมทนายความของรัฐและหน่วยงานของรัฐจึงไม่เชื่อถือกันเอง นายสุรพงษ์กล่าวว่า อาจเป็นเพราะเป็นการใช้เทคโนโลยีใหม่ซึ่งอัยการยังไม่คุ้นเคยและอาจไม่เชื่อถือ ประกอบกับการที่เรายังไม่มีกฎหมายซ้อมทรมานหรือการบังคับสูญหาย ทำให้เป็นช่องว่างจนคนที่ทำผิดสามารถหลุดรอดไปได้
“เราหวังว่าอัยการสูงสุดจะรีบเร่งสั่งฟ้องโดยเร็ว เพราะกระบวนการตอนนี้อยู่ที่อัยการสูงสุด โดยเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มึนอได้เดินทางไปทวงถาม แต่จนบัดนี้เรื่องก็ยังอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่”นายสุรพงษ์ กล่าว
นางสุนี ไชยรส กรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า น่าเศร้าใจที่บิลลี่หายไปนานแต่คดีไม่คืบหน้า และความฝันของเขาที่ต้องการให้พี่น้องชาวบางกลอยได้กลับไปอยู่ในถิ่นฐานดั้งเดิมแต่ถูกต่อต้านพอสมควร
อย่างไรก็ตามยังพอมีความหวังอยู่บ้างที่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ที่มีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีตัวแทนหน่วยงานราชการที่เป็นคู่ขัดแย้งเป็นกรรมการน้อยลงแต่ก็เปิดโอกาสให้สื่อสารกันได้ เพื่อให้การประชุมเดินหน้าต่อไปไปได้โดยไม่ต้องถกเถียงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนายอนุชาก็ได้มีความพยายามลงพื้นที่
นางสุนีกล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นภาพชัดร่วมกันว่าชาวบ้านบางกลอยอยู่มาก่อนการประกาศอุทยานฯ เมื่อประกอบกับหลักฐานอื่นๆ ที่มีอยู่จำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องตัดสินใจว่าเริ่มต้นกระบวนการให้ชาวบ้านที่ต้องการกลับไปอยู่บ้านบางกลอยบนได้เดินทางกลับ ส่วนใครที่ไม่ประสงค์กลับก็หาทางจำแนกกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อที่จะได้ให้ความช่วยเหลือ โดยทั้งหมดต้องอยู่บนพื้นฐานการหารือกับชาวบ้าน
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอว่า มีกลุ่มไหนบ้างจำเป็นต้องกลับและคนที่ไม่ได้กลับต้องมีมาตรการดูแลที่เหมาะสม โดยควรมีกระบวนการลงมือทำ เก็บข้อมูลเข็มงวด ว่าไร่หมุนเวียนของกะเหรี่ยงได้เกิดความเสียหายเหมือนที่บางคนกังวลหรือไม่
“เมื่อยอมรับว่าเขาอยู่มาก่อน ก็ต้องยอมรับสิทธิของเขา จึงต้องหารือกันอย่างจริงจังบนพื้นฐานหารือกัน และควรลงมือปฎิบัติการจริง โดยเฉพาะเรื่องการเก็บข้อมูล เช่น ไร่หมุนเวียนของกะเหรี่ยงได้ก่อให้เกิดความเสียหายเหมือนที่บางคนกังวลใจหรือไม่ ตอนนี้ขึ้นอยู่กับประธานและรัฐบาลว่าจะทำให้เรื่องเดินได้อย่างไร เพราะคณะกรรมก
ารฯจะนำเสนอข้อเท็จจริงต่างๆ แม้ยังไม่ได้มีมติเดินหน้าชัดเจนว่าเมื่อไร แต่สรุปว่าจะทำให้เร็วที่สุด ตอนนี้เป็นจังหวะที่ต้องเตรียมกระบวนการ และนายอนุชารับปากว่าจะไปหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ” ตนางสุนี กล่าว
โฆษณา