20 พ.ค. 2022 เวลา 02:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุปวิกฤติลาว เงินกีบอ่อนค่า ขาดแคลนน้ำมัน
5
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าประเทศลาว เพื่อนบ้านของเรา
ในตอนนี้กำลังเผชิญกับปัญหาเงินสกุลกีบอ่อนค่าอย่างรุนแรง
4
โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เงินกีบ อ่อนค่าลง 27% เมื่อเทียบกับเงินบาท และอ่อนค่าลง 40% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
8
ในขณะเดียวกัน น้ำมันในประเทศลาว ก็เข้าขั้นขาดแคลน ผู้คนต่อแถวจนล้นออกมาจากปั๊มน้ำมัน และยังเผชิญกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 9.9%
8
เรียกได้ว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนลาวตอนนี้ลำบากถึงขั้นวิกฤติ
6
แล้วอะไรกันที่เป็นสาเหตุของวิกฤติในครั้งนี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
4
จริง ๆ แล้ว ประเทศลาว เป็นประเทศที่มีการนำเข้าสินค้ามากกว่าส่งออก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นประเทศที่ขาดดุลการค้าและบริการมาตลอด
โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ลาวขาดดุลการค้าและบริการ เป็นมูลค่ารวมกันกว่า 340,000 ล้านบาท
2
แต่ 2 ปีหลัง วิกฤติโควิด 19 ที่นำไปสู่การปิดประเทศ ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงไปอีก
ทั้งในแง่ของการท่องเที่ยว และการส่งออกแรงงานไปยังต่างประเทศ
1
เมื่อมีรายได้เข้าประเทศไม่เพียงพอ จึงทำให้รัฐบาลต้องก่อหนี้
5
จากข้อมูลล่าสุดของ World Bank หรือ ธนาคารโลก
ประเทศลาวมีหนี้สาธารณะ 460,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี สูงถึง 88%
และที่น่ากังวลก็คือ หนี้ส่วนใหญ่ของลาว เป็นหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ..
12
ในขณะที่หนี้ที่กู้ยืมมานั้น ก็เป็นเงินทุนสำหรับนำไปก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
5
โดยหลายโครงการก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
หรือ Belt and Road Initiative หรือเรียกสั้น ๆ ว่า BRI
6
BRI เป็นโครงการของรัฐบาลจีน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างประเทศจีนและประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชียและยุโรป
5
จากจำนวนหนี้สินทั้งหมด 460,000 ล้านบาท มีการประเมินว่า 38,000 ล้านบาท มีกำหนดชำระคืนในช่วงปี 2021 ถึงปี 2024
8
เมื่อลาวจ่ายหนี้คืนไม่ไหว ก็ต้องขายสินทรัพย์บางอย่างของประเทศให้แก่เจ้าหนี้ เช่น รัฐบาลลาวได้มอบอำนาจการควบคุมโครงข่ายไฟฟ้าส่วนใหญ่ของประเทศ ให้แก่รัฐวิสาหกิจจีน
37
นอกจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังกล่าวว่า รัฐบาลต้องการเงินเร่งด่วนอีก 62,000 ล้านบาท
เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณและชำระคืนหนี้ทั้งในและต่างประเทศภายในสิ้นปีนี้
4
ซึ่งการจ่ายคืนหนี้ต่างประเทศ ก็จำเป็นต้องใช้สกุลเงินต่างประเทศจากทุนสำรองของธนาคารกลางลาว
8
นอกจากปัญหาเรื้อรังด้านหนี้สินแล้ว ประเทศลาวยังมีอีกปัญหาใหญ่ก็คือการขาดแคลนน้ำมัน เนื่องจากลาวต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากไทยมากถึง 90% และการซื้อขายก็จะจ่ายกันเป็นเงินบาทหรือดอลลาร์สหรัฐ
7
โดยหากดูข้อมูลการค้าระหว่างลาวกับไทย 3 ปีย้อนหลัง จะพบว่า
3
ปี 2018 ลาวขาดดุลการค้า 55,000 ล้านบาท
ปี 2019 ลาวขาดดุลการค้า 46,000 ล้านบาท
ปี 2020 ลาวขาดดุลการค้า 15,000 ล้านบาท
5
การที่ลาวขาดดุลการค้ากับไทยมาโดยตลอด ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เงินบาทในทุนสำรองของธนาคารกลางลาวลดน้อยลงอย่างมาก ในขณะที่เงินสกุลอื่นก็ต้องเตรียมเอาไว้สำหรับชำระหนี้ต่างประเทศ
5
เมื่อเงินสำรองมีไม่เพียงพอ แต่ความต้องการสกุลเงินต่างประเทศสำหรับนำเข้าสินค้ายังมีเท่าเดิม
ทำให้เงินกีบของลาว อ่อนค่าลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
9
หากเทียบต่อการแลก 1 ดอลลาร์สหรัฐ
เดือนพฤษภาคม ปี 2021 ต้องใช้ 9,425 กีบ
เดือนพฤษภาคม ปี 2022 ต้องใช้ 13,225 กีบ
คิดเป็นการอ่อนค่าลง 40%
8
เทียบต่อการแลก 1 บาท
เดือนพฤษภาคม ปี 2021 ต้องใช้ 300 กีบ
เดือนพฤษภาคม ปี 2022 ต้องใช้ 382 กีบ
คิดเป็นการอ่อนค่าลง 27%
3
ในครั้งนี้ นับเป็นการอ่อนค่าของเงินกีบมากที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน และดูเหมือนว่าเงินกีบจะอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ
2
โดยรัฐบาลลาวได้แก้ปัญหาเรื่องนี้ ด้วยการออกมาตรการที่จำกัดการเข้าถึงสกุลเงินต่างประเทศ
เช่น ผู้ที่มีความประสงค์จะแลกเงินตราต่างประเทศ จะต้องเป็นนิติบุคคล ที่มีความจำเป็นต้องชำระเงินให้กับบริษัทต่างประเทศเท่านั้น
8
รวมถึงมีการจำกัดให้แลกได้เพียง 200,000 บาท หรือ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อบัญชีต่อวันเท่านั้น
3
ทำให้ประชาชนทั่วไปที่ต้องการแลกเงินเพื่อนำเข้าสินค้ามาดำเนินธุรกิจ แทบจะเป็นไปไม่ได้
4
ดังนั้นประชาชนจึงต้องยอมแลกกับร้านรับแลกเงินทั่วไป ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่แพงกว่าปกติ จนอาจสูงถึงเกือบ 500 กีบต่อ 1 บาทในบางแห่ง
11
เมื่อเงินอ่อนค่าทำให้การนำเข้าสินค้าจำนวนเท่าเดิมต้องใช้เงินกีบมากขึ้น
ราคาสินค้าในประเทศจึงแพงขึ้น และก่อให้เกิดเงินเฟ้อมากขึ้นอีก
12
จากทั้งหมดที่เล่ามานั้น สรุปได้ว่าปัญหาของลาวมีตั้งแต่
1
- ดุลการค้าและบริการที่ติดลบมานาน
- เศรษฐกิจชะลอตัวจากวิกฤติโควิด 19
- หนี้ในสกุลเงินต่างประเทศจำนวนมาก
- ทุนสำรองระหว่างประเทศเหลือน้อย
- ค่าเงินกีบอ่อนค่า
- รวมถึงราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น
13
ปัจจัยทั้งหมดนี้ มีส่วนทำให้ลาวมีปัญหาในการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป เพื่อมารองรับความต้องการในประเทศ
1
มีการประเมินว่าลาวต้องการน้ำมันประมาณ 120 ล้านลิตรต่อเดือน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน แต่ปัจจุบันผู้นำเข้าสามารถซื้อได้เพียงแค่ 20 ล้านลิตรต่อเดือน คิดเป็นเพียง 1 ใน 6 ของความต้องการ เท่านั้น
2
นั่นจึงเป็นที่มาของภาพที่เราเห็นว่ามีประชาชนจำนวนมากต่อแถวรอเติมน้ำมันกันยาวเหยียด
แม้ว่าราคาน้ำมันเบนซินในวันที่ 9 พฤษภาคม จะสูงถึง 56.97 บาทต่อลิตรก็ตาม
2
เมื่อน้ำมันซึ่งเป็นตัวตั้งต้นสำหรับทุกอุตสาหกรรมมีราคาสูงขึ้น บวกกับค่าเงินกีบก็อ่อนลงอย่างมาก ทำให้ต้นทุนในการนำเข้าสินค้าทุกชนิดแพงขึ้น
4
ในขณะที่รัฐบาลก็ไม่มีเงินเพียงพอที่จะเข้ามาช่วยพยุงราคาสินค้า ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายนที่ผ่านมา สูงถึง 9.9%
1
โดย YouTuber ชาวลาวบางคนได้เล่าถึงค่าครองชีพบางส่วน ดังนี้
- บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ห่อละ 10 บาท
- เครื่องดื่มชูกำลัง ขวดละ 15 บาท
- ไข่ไก่ ฟองละ 20 บาท
- นม 250 มิลลิลิตร กล่องละ 55 บาท
- น้ำมันพืช ลิตรละ 100 บาท
ในขณะที่ค่าแรงเดือนละ 3,200 บาท และน้ำมันเบนซินแบ่งขายนอกปั๊มน้ำมัน ลิตรละ 80 บาท
30
ภาพระยะสั้น การกู้ยืมเพิ่มเติม รวมถึงนักท่องเที่ยวและเศรษฐกิจที่อาจฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ ก็อาจจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้บ้าง
3
แต่ในขณะเดียวกัน หากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาฟื้นตัว และเริ่มประกาศขึ้นดอกเบี้ย ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มภาระหนี้ที่อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้นไปอีกเช่นกัน
1
ขณะที่ภาพระยะยาวนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าส่งออก และพยายามลดการนำเข้า
2
รวมถึงการรักษาค่าเงินกีบให้มีเสถียรภาพ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศลาว ก็เป็นสิ่งที่ธนาคารกลางลาวต้องทำ
2
และสิ่งสำคัญที่สุด เราคงต้องรอดูว่าโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ลาวกำลังลงทุนเป็นมูลค่ามหาศาลนั้น จะช่วยหารายได้เข้าประเทศได้ คุ้มค่ากับหนี้สินที่รัฐบาลกู้มาหรือไม่..
6
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
1
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู สั่งซื้อเลยที่
โฆษณา