20 พ.ค. 2022 เวลา 09:30 • สุขภาพ
Lifestyle Medicine เวชศาสตร์วิถีชีวิต คืออะไร
Lifestyle Medicine เวชศาสตร์วิถีชีวิต เป็นการแพทย์ที่เน้นการจัดการที่ต้นเหตุของโรคที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต โดยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไข้ ด้วยแนวทางที่อยู่บนพื้นฐานของหลักฐานทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ เพื่อป้องกันและรักษาโรค
โรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือด ส่วนใหญ่มีความเกี่ยวพันกับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนไข้ที่ไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี
Lifestyle Medicine หรือ เวชศาสตร์วิถีชีวิต ไม่ได้มุ่งแค่รักษาโรคหรือควบคุมโรคที่เรื้อรังเท่านั้น ในบางกรณีอาจทำให้โรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตย้อนกลับไปสู่ภาวะปกติได้ (disease reversal) ซึ่งหมายความว่า ตัวชี้วัดทางห้องปฏิบัติการของโรคดังกล่าวอาจกลับไปอยู่ในห้วงปกติ โดยผู้ป่วยไม่ต้องพึ่งการใช้ยาและไม่มีอาการหรือสัญญาณแสดงของโรค
แพทย์ด้าน Lifestyle Medicine มีหน้าที่ในสองด้าน คือ ทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ และเป็นโค้ชให้คำแนะนำในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของคนไข้
การรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน (conventional medicine) คนไข้มักมีลักษณะเป็นผู้รับการรักษา อาจไม่ได้มีบทบาทในการกำหนดแนวทางการรักษามากนัก คุณหมอมักเป็นผู้กำหนดว่าคนไข้ควรปฏิบัติตัวอย่างไร รับประทานยาอะไรและสั่งยาให้ เน้นการรักษาโรคซึ่งมักเป็นเรื่องปลายทาง โดยอาจไม่ได้คาดหวังให้คนไข้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรในชีวิตมากมายนัก แพทย์รับผิดชอบการรักษาและผลลัพธ์ที่จะตามมา
ในขณะที่ Lifestyle Medicine คนไข้มีส่วนร่วมในการรักษาเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งยังร่วมรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นด้วย คุณหมอมีหน้าที่ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ และเป็นโค้ช เพื่อพาคนไข้ไปในทิศทางที่สามารถแก้ปัญหาสุขภาพได้
การปรับเปลี่ยน Lifestyle คือการรักษาที่อยู่ในลำดับแรกและเป็นการรักษาที่สำคัญที่สุดสำหรับโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิต ส่วนการใช้ยาตามแนวทางการแพทย์แผนปัจจุบันหรือแนวทางการรักษาอื่น ๆ ตามหลักฐานทางการแพทย์จะถูกนำมาใช้เพื่อเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดำเนินชีวิต
Lifestyle Medicine หรือเวชศาสตร์วิถีชีวิต มีเครื่องมือที่ใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาสุขภาพดังนี้
1. อาหาร เน้นเรื่องการรับประทานอาหารที่มาจากธรรมชาติ (Whole Food Plant-Based Diet ) ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เป็นอาหารที่ปราศจากการปรุงแต่ง หรือปรุงแต่งน้อยมาก เป็นอาหารที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ ไม่ใช่อาหารแปรรูป ไม่มีการขัดสี หรือขัดสีน้อยที่สุด
2. กิจกรรมทางกาย (physical activity) ไม่แต่เฉพาะการออกกำลังกาย แต่หมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายในทุกช่วงเวลาที่มีโอกาส เช่น ระหว่างทำงานต้องเดินขึ้นตึกไปโน่นมานี่ตลอดเวลา อย่างนี้ก็ถือว่าเป็น physical activity ที่มีความสำคัญต่อสุขภาพได้เช่นกัน
3. การบริหารจัดการความเครียด ทำอย่างไรให้มีภาวะที่ดีทางอารมณ์ ซึ่งต้องคุยกับคนไข้ว่ามีความเครียดอะไรบ้างในชีวิตประจำวัน
ความเครียดมีทั้งความเครียดด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งมีหลายรูปแบบ ถ้าสามารถหาสาเหตุได้ว่าเกิดจากอะไร ก็จะช่วยให้เราหาวิธีแก้ไขได้ เช่น การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลบางคน แล้วทำให้เราเครียด คุยกับเขาแล้วเหมือนเราถูกขโมยพลังงานไป เสมือนหนึ่ง เขาคือ Energy Robber ที่แย่งพลังงานจากเรา ก็ต้องบริหารจัดการด้วยการหลีกเลี่ยงการคุยกับคนกลุ่มนี้ หรือคุยให้น้อยลง แล้วไปพูดคุยสนทนากับคนที่คุยแล้วให้พลังบวกกลับมา
Energy Robber ยังรวมไปถึงบรรยากาศในบางกรณี เช่น การประชุมบางเรื่องอาจก่อให้เกิดความเครียดสูง หรืออาจใช้ระยะเวลาการประชุมที่ยาวนาน หรือประธานในที่ประชุมคุมเกมส์ได้ไม่ดี เป็นต้น หรือสถานที่บางแห่งอาจดูดกินพลังงานจากเราไป เพราะเป็นห้องที่อุดอู้ ขาดการระบายของอากาศ มีเสียงรบกวนมาก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ เราคงต้องหาทางแก้ไข ปรับเปลี่ยน หรือหลีกเลี่ยง
ความเครียดทางร่างกาย เช่น ตื่นกลางดึกจากภาวะกรดไหลย้อนเนื่องจากทานอาหารใกล้เวลานอนเกินไป การได้รับฝุ่น PM 2.5 มากเกินไป การออกกำลังกายหักโหมมากเกินไป การปวดฟันเรื้อรัง เป็นต้น เมื่อรู้สาเหตุที่แท้จริงก็สามารถหาวิธีแก้ไขได้ถูกต้อง
4. การนอนหลับ การนอนหลับที่มีคุณภาพ ควรเลี่ยงออกกำลังกายใกล้เวลานอน อาจออกกำลังกายช่วงบ่ายแก่ๆเพื่อรับแดดอ่อนๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผิวหนังสังเคราะห์วิตามิน D และส่งเสริมให้มีการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินมากขึ้นในช่วงกลางคืน อาจลดความสว่างของแสงไฟหนึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน ลดกิจกรรมที่กระตุ้นไม่ให้หลับ เช่น การเล่นเกมส์บนมือถือ การดูโทรทัศน์
ทั้งนี้ ควรมีบรรยากาศภายในห้องนอนที่เหมาะสม อุณหภูมิไม่ร้อนไม่หนาวเกินไป ไม่มีแสงสว่างรบกวนจากอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เป็นต้น
5. เลิกบุหรี่และหลีกเลี่ยงสารเสพติดต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นโทษต่อร่างกาย
6. การมีมุมมองทางจิตวิทยาเชิงบวก และความเชื่อมโยงทางสังคม หมายถึงการมองโลกและเหตุการณ์ต่างๆที่เข้ามาในชีวิตในเชิงบวก โดยมองหาโอกาสท่ามกลางความลำบากที่เกิดขึ้น มองเป็นโอกาสในการเรียนรู้ โอกาสในการพัฒนางานใหม่ๆ เป็นต้น อีกทั้งควรให้ความสำคัญกับการมีสังคม มีความสัมพันธ์ที่ดีกับญาติพี่น้องมิตรสหาย สามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันได้
การรักษาแบบ Lifestyle Medicine
คุณหมอจะซักถามถึงกิจวัตรประจำวัน และช่วยร่วมกันมองว่าปัญหาเกิดจากอะไร โดยคนไข้สามารถช่วยคุณหมอด้วยการจดบันทึกประจำวัน ว่าแต่ละวันรับประทานอาหารอะไร ทำกิจกรรมอะไร เจอความเครียดอะไรบ้าง เกิดขึ้นกี่หน ก่อให้เกิดความเครียดในระดับความรุนแรงแค่ไหน ระหว่างระดับ 1-10 ถ้ามีข้อมูลเหล่านี้ครบถ้วนจะช่วยให้คุณหมอวิเคราะห์อาการของคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น
การรักษาจะหยิบยกปัญหาที่ผู้ป่วยต้องการปรึกษาแพทย์มาดำเนินการแก้ไขก่อน และบรรลุข้อตกลงร่วมกันกับผู้ป่วยว่า จะมีเป้าหมายอย่างไรและจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ประเด็นปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่อาจหยิบยกมาแก้ไขร่วมด้วยในการพบแพทย์ครั้งแรก ก็อาจเลือกตามความเร่งด่วนโดยประเด็นที่มีความเร่งด่วนในลำดับรองลงมาจะหาแนวทางแก้ไขร่วมกันในการมาพบแพทย์ครั้งต่อๆ ไป
เมื่อความสัมพันธ์ ความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้ป่วยที่มีต่อแพทย์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
เป้าหมายที่กำหนด ควรมีความเฉพาะเจาะจง หรือตีกรอบให้ชัดเพียงพอที่จะบรรลุความสำเร็จได้ สามารถติดตามผลเพื่อวัดระดับความสำเร็จ โดยควรเป็นเป้าหมายที่สามารถบรรลุความสำเร็จภายในห้วงเวลาหนึ่ง เป็นเป้าหมายที่สามารถเป็นจริงได้เมื่อพิจารณาถึงขีดความสามารถของผู้ป่วยในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ชัดเจน
(ข้อมูลบางส่วน – อ้างอิงจาก Foundations of Lifestyle Medicine-Board Review Manual; Definition of Lifestyle Medicine – American College of Lifestyle Medicine)
โฆษณา