Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
BrandCase
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
21 พ.ค. 2022 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
ทำไม หลายแบรนด์ถึงเลือกทำ Pop-Up Store
ถ้าหากพูดถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ช่วยในการขายสินค้า การทำ Pop-Up Store คงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่หลายแบรนด์ได้หยิบยกขึ้นมาใช้
เพราะไม่ว่าจะเป็นแบรนด์หน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ หรือแบรนด์หรูที่ก่อตั้งมานานหลายปี ต่างก็มี Pop-Up Store ให้เราเห็นอยู่เป็นประจำ
แล้วร้านแบบ Pop-Up Store น่าสนใจอย่างไร ในมุมมองของแบรนด์เหล่านี้ ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง..
1. สร้างการรับรู้และขยายฐานลูกค้า
การเปิดร้านแบบ Pop-Up Store ช่วยให้แบรนด์สามารถขยายการรับรู้ไปถึงลูกค้าได้ในหลายพื้นที่
และเป็นช่องทางในการหาลูกค้าใหม่ ๆ ให้กับแบรนด์ด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น แบรนด์ Karun ชาไทยพรีเมียม ที่ได้เริ่มต้นธุรกิจด้วยการขายออนไลน์ เมื่อมีฐานลูกค้าในระดับหนึ่ง ทางแบรนด์ก็ได้เลือกตั้งร้านแบบ Pop-Up Store เพื่อสร้างการรับรู้ถึงการมีอยู่ของแบรนด์
และสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่เดินผ่านไปผ่านมาได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การเลือกเปิดร้านแบบ Pop-Up Store เพื่อทำการโปรโมตหรือโฆษณา
รวมถึงการสร้างกระแสให้กับแบรนด์ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ
ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับแบรนด์ใหญ่อีกด้วย
เช่น แบรนด์ Hermès แบรนด์หรูจากฝรั่งเศส ที่ใช้ Pop-Up Store เพื่อทำการโปรโมตสินค้าอย่าง ผ้าพันคอ
ด้วยการเปิด Hermesmatic Pop-Up ที่ให้ลูกค้านำผ้าพันคอเก่าที่เคยซื้อไป กลับมาให้แบรนด์
1
โดยแบรนด์จะนำมาซักและย้อมสีใหม่ ทำให้ลูกค้าที่เคยซื้อผ้าพันคอกับทาง Hermès ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ จากสินค้าชิ้นเดิม
ด้วยรูปแบบของสัญญาเช่าที่เป็นช่วงระยะสั้น ๆ จึงง่ายต่อการนำไปใช้ในการโปรโมตแบรนด์
พอหมดระยะเวลาของการโปรโมตก็ปิดหน้าร้านได้ง่าย
แถมยังสามารถเลือกพื้นที่ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายตามที่แบรนด์ต้องการได้อีกด้วย
2. ยืดหยุ่นเรื่องต้นทุน กว่าการเปิดหน้าร้านถาวร
เนื่องจาก Pop-Up Store จะใช้พื้นที่ที่มีขนาดเล็ก ทำให้มีค่าเช่าที่ถูกลง
ประกอบกับสัญญาเช่า บางโลเคชันก็เป็นเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น จึงทำให้ร้านแบบ Pop-Up Store เล็ก ๆ นั้น ใช้เงินลงทุนที่น้อยกว่าร้านแบบถาวรนั่นเอง
ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่แบรนด์เล็กหรือแบรนด์น้องใหม่เท่านั้น ที่เลือกทำ Pop-Up Store
เพราะแบรนด์ดัง ๆ ที่อยู่ตามห้างหรูใจกลางเมือง ก็สนใจโมเดลนี้ไม่แพ้แบรนด์เล็กเลย
ไม่ว่าจะเป็น แบรนด์ Eric Kayser เบเกอรีเจ้าดังจากฝรั่งเศส ที่ได้เปิดสาขาแรกที่ทองหล่อ
ปัจจุบันก็ได้ขยายสาขาออกไปยังห้างอื่นรอบ ๆ ตัวเมืองมากขึ้น เช่น มี Pop-Up Store อยู่ที่ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์
แบรนด์ PAÑPURI เครื่องหอมแบรนด์ไทย ที่เปิดสาขาแรกที่ห้างเกษรวิลเลจ ห้างหรูย่านราชประสงค์
ที่ตอนนี้มีสาขาตามจังหวัดท่องเที่ยวในไทย แต่ก็ยังมีการตั้ง Pop-Up Store ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว
และนอกจากประโยชน์ในเรื่องของเงินลงทุนแล้ว ยังช่วยให้แบรนด์มีสาขาครอบคลุมพื้นที่บริการมากขึ้น
จากปกติลูกค้าต้องไปซื้อสินค้าที่ห้างใหญ่เท่านั้น แต่เมื่อมีร้านแบบ Pop-Up Store กระจายอยู่ตามห้างเล็กใกล้ ๆ บ้าน ก็สร้างความสะดวกให้ลูกค้าด้วยเช่นกัน
เพราะการตั้งร้านเพียงแค่ในห้างหรู หรือแค่ในตัวเมืองเพียงอย่างเดียว
อาจทำให้ลูกค้าบางส่วน ยากที่จะเข้าถึงสินค้า และแบรนด์เองก็สูญเสียโอกาสในการขายเช่นกัน
3. แบรนด์ได้ศึกษาทำเล และทดสอบสถานที่ ก่อนตั้งร้านใหญ่ในอนาคต
บ่อยครั้งที่หลายธุรกิจต้องปิดสาขาลง เพราะทำเลไม่เหมาะสม ดังนั้นการเลือกเปิดร้านแบบ Pop-Up Store ก่อนก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย มากกว่าการเลือกเปิดหน้าร้าน ลงเสาเข็มกันไปแบบถาวร
การลองเปิดร้านแบบ Pop-Up Store ในทำเลที่น่าสนใจ จะช่วยให้แบรนด์ได้สำรวจพฤติกรรมของผู้คนในย่านนั้น ๆ และจำนวนลูกค้าที่เข้ามาซื้อของ
หลังจากนั้นก็ค่อยมาประเมินผลลัพธ์ แล้วจึงตัดสินใจทำหน้าร้านแบบถาวร
เช่น แบรนด์ Karun ก็เลือกการเปิดร้านแบบ Pop-Up Store ที่ห้างสรรพสินค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ ก่อน เพื่อดูฟีดแบ็ก หลังจากนั้นถึงเปลี่ยนเป็นหน้าร้านแบบถาวร
เพราะบางครั้งการตัดสินใจเลือกเปิดหน้าร้านแบบถาวรผิดที่ อาจทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เราตั้งไว้ ส่งผลให้ขาดทุน จนอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการแบบถาวรไปเลยก็ได้
สรุปง่าย ๆ ก็คือ สาเหตุที่หลายแบรนด์เลือกใช้กลยุทธ์ Pop-Up Store ก็เพื่อช่วยสร้างการรับรู้และขยายฐานลูกค้าให้กับแบรนด์ได้ โดยใช้ต้นทุนที่น้อยในการเช่าร้าน
และหากทำเลนั้นดี ในอนาคตอาจพิจารณาตั้งร้านแบบถาวรในพื้นที่นั้นหรือละแวกนั้นได้
แต่อย่างไรก็ตาม การเปิดร้านแบบ Pop-Up Store นั้นก็มีข้อจำกัด อย่างในเรื่องขนาดของพื้นที่ที่จำกัด ก็จะทำให้ร้านสต็อกสินค้าได้น้อยลง
หรือในบางแบรนด์อาจสูญเสียกลิ่นอายความหรูหราระดับพรีเมียมไปบ้าง
และอาจทำให้ไม่สามารถให้บริการ หรือรองรับลูกค้าได้อย่างเต็มที่ เหมือนหน้าร้านเต็มรูปแบบ ของแบรนด์นั้น
References:
-
https://www.investopedia.com/terms/p/pop-up-retail.asp
-
https://www.bigcommerce.com/blog/pop-up-shops/#why-have-a-pop-up-shop
-
https://wwd.com/fashion-news/fashion-scoops/hermes-opens-final-hermesmatic-pop-up-at-westfield-century-city-11048056/
-
https://www.quora.com/What-are-the-pros-and-cons-of-a-pop-up-store
ธุรกิจ
10 บันทึก
4
2
10
4
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย