20 พ.ค. 2022 เวลา 12:29 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว_นวัตกรรมของเหลือจากการเกษตร
เส้นไหมไทยที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ได้แก่ เส้นไหมพันธ์ุไทยสีเหลืองสาวด้วยมือ ที่เกษตรกรในภาคอีสานได้สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมนี้มานานกว่าพันปี พันธุ์ไหมนี้เป็นพันธุ์ไทยแท้ หนอนไหมบริโภคใบหม่อน และผลิตไข่ไหมหลายครั้งในหนึ่งปี ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ เชื้อโรคและความชื้นในประเทศไทยได้อย่างดี ซึ่งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี
ความจริงในอีกมุมมองหนึ่งยังพบว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากการเลี้ยงไหมไม่ได้มีเพียงการนำเส้นใยมาถักทอให้เกิดเป็นผืนผ้าเท่านั้น แต่ได้พบอีกว่าโปรตีนกาวไหมที่ประกอบด้วย เซริซิน (sericin) และไฟโบรอิน (fibroin) มีประโยชน์สำคัญ ดังนี้
เซริซินจะมีสารสำคัญบางชนิดที่ช่วยป้องกันผิวแห้ง ลดการเจริญเติบโตของไวรัส มีสารต้านไวรัสอีกทั้งยังมี กรดอะมิโน ที่สำคัญต่อร่างกาย เช่น เซริซิน ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการทำลายเซลล์โดย oxygen free radicals ซึ่งเชื่อกันว่าการที่เซลล์ถูกทำลายนี้ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง ความแก่
นอกจากนั้นยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง และช่วยรักษาแผลให้หายเร็วขึ้น กำจัดสิ่งสกปรก และยืดอายุเซลล์
ปัจจุบันมีการนำผงไหมเซริซิน มาใช้ในการผลิตสบู่และโลชั่นบำรุงผิวพรรณ ที่ช่วยให้ความนุ่มนวลกับผิว ทำให้ผิวหน้าแลดูอ่อนกว่าวัย ขจัดเซลล์ผิวหนังที่เสื่อมสภาพให้หลุดออกไป ลดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า ขจัดฝ้า จุดด่างดำบนใบหน้า และช่วยรักษาหรือลดการอักเสบของผิวหนังได้
ล่าสุด รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร. พรอนงค์ อร่ามวิทย์ ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คิดค้นและประดิษฐ์ “แผ่นเนื้อเยื่อปิดแผลจากโปรตีนกาวไหมที่กระตุ้นการหายของบาดแผล”
โดยบาดแผลที่ได้รับการรักษาด้วยโปรตีนกาวไหมสามารถหายสนิทได้ภายใน 14 วัน นอกจากนี้ยังกล่าวได้อีกว่า โปรตีนกาวไหม ที่เคยเป็นของเหลือจากเกษตรกรและถูกเททิ้งหลังจากการสาวเส้นไหม ที่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนได้สูงและก่อให้เกิดการแพ้ต่ำมาก คือ รังไหมสีขาว สายพันธุ์ จุด 1/1
ของเหลือจากการเกษตรอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีจำนวนมาก จากเหตุที่มะพร้าวเป็นพืชที่มีมากในประเทศไทย น้ำมะพร้าวแก่ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตกะทิ แต่ถูกนำไปทิ้ง ภาครัฐกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้ร่วมมือกันทำงานวิจัยเพื่อหาทางนำน้ำมะพร้าวแก่มาใช้ประโยชน์และสร้างเป็นอาชีพให้กับชาวสวน
โดยทำการทดลองหาวิธีใช้ประโยชน์จาก “แบคทีเรียในน้ำมะพร้าว” ที่เมื่อกินโปรตีนเข้าไปแล้วก็จะปล่อยเส้นใยออกมา ทำให้เกิด “วุ้นมะพร้าว” ที่สามารถนำมารับประทานได้
ในทำนองเดียวกันการมองหาประโยชน์ของน้ำมะพร้าวในหลายๆด้าน ทำให้พบว่านอกจากการนำไปรับประทานแล้วยังมีความสามารถในการช่วยให้ผิวพรรณสดใส เพราะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่
รวมทั้งยังมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสร้างคอลลาเจนและอิลาสติน ซึ่งทำให้ผิวมีความกระชับ ยืดหยุ่น ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัยได้เป็นอย่างดี
วุ้นมะพร้าวจึงได้เดินทางมาถึงจุดที่จะถูกต่อยอดและเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าเดิม โดยบริษัท PIP International ผู้ผลิตสินค้าดูแลผิว (ที่มีห้องทดลองอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และอเมริกา) ได้ตั้งโจทย์ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ภายใต้ “กระแสสีเขียว” จึงต้องมองหา “วัสดุธรรมชาติ” ที่จะนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวได้
คุณภาคภูมิ เพิ่มมงคล ตัวแทนของประเทศไทยจึงได้เสาะแสวงหาวัสดุธรรมชาติต่างๆ ภายใต้ความคิดว่า หากเขาเลือกวัสดุทางการเกษตรมาใช้ อันดับแรกก็ต้องคำนึงถึงเรื่องต้นทุนซึ่งจะผันผวนตามความต้องการของตลาด ทำให้ไม่สามารถควบคุมต้นทุนให้นิ่งได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าว คุณภาคภูมิจึงมองไปที่ “วัสดุเหลือทิ้ง” แทน (เพราะของเหลือทิ้งไม่เป็นที่ต้องการ ย่อมสามารถคุมต้นทุนให้ต่ำได้) จนในที่สุดเขาก็มาพบกับงานวิจัยเกี่ยวกับ “ไบโอเซลลูโลส” (bio cellulose) หรือ “เส้นใยชีวภาพ” ซึ่งเกิดได้ตามธรรมชาติและค้นคว้าต่อไปว่า
ไบโอเซลลูโลสนี้เกิดจากวัตถุดิบอะไรได้บ้าง จนได้มาพบกับน้ำมะพร้าวแก่ซึ่งเป็นของเหลือทิ้งมากมายจากสวนเกษตรที่อัมพวา จนเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จึงมุ่งวิจัยเส้นใยชีวภาพจากน้ำมะพร้าวแก่นี้โดยเฉพาะ
ผลการวิจัยของคุณภาคภูมิพบว่า ไบโอเซลลูโลสจากน้ำมะพร้าวแก่นี้ มีลักษณะเป็น เส้นใย 3 มิติ ซึ่งมีความละเอียดและหนาแน่นกว่าเส้นใยกระดาษหรือผ้าถึง 500 เท่า ข้อมูลนี้จึงนำไปสู่การพัฒนาไบโอเซลลูโลสขึ้นมาเป็นมาส์ก (mask)
แน่นอนประโยชน์ใช้สอยของมาส์กจะต้อง ทำให้หน้าขาวใส กระชับ อย่างเป็นธรรมชาติ คณะวิจัยจึงได้ทำการพัฒนารวม 2 สูตรที่สำคัญไว้ด้วยกัน คือ
1. Anti-Aging ลบเลือนริ้วรอยอย่างเห็นได้ชัด และ 2. Skin Lightening เพื่อผิวสว่างใสอย่างเป็นธรรมชาติ และนี่คือเหตุผลของการคิดค้นซีรั่มบำรุงผิวหน้าเพื่อนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ มาส์กจากวุ้นมะพร้าว
โดยซีรั่มนี้มีที่มาจากแนวคิดของงานวิจัย เรื่อง “แผ่นเนื้อเยื่อปิดแผลจากโปรตีนกาวไหมที่กระตุ้นการหายของบาดแผล” ของรองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร. พรอนงค์ อร่ามวิทย์ ที่เนื่องมาจากแนวคิดการใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้งจากการเกษตร ที่มีสมบัติเหมาะสมกับการดูแลผิว โดยเฉพาะในเรื่องของการทำให้ผิวหน้าดูอ่อนกว่าวัย ดังกล่าวไว้ข้างต้น
และนี่คือที่มาของมาส์กวุ้นมะพร้าว ที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่น จากสำนักวัตกรรมแห่งชาติ ปี 2010 และยังคว้ารางวัลสุดยอดผลงานนวัตกรรมที่เกาหลีใต้ สู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ ส่งเป็นสินค้าออกจากฝีมือของคนไทย ในชื่อสำหรับส่งออกว่า Bino nano cellulose และ Second skin mask ซึ่งได้กลายเป็นสินค้าขายดีในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศเกาหลีใต้
บรรณานุกรม
PIP International Co.,Ltd. Assoc. “Coconut Jelly Mask มาส์กน้ำมะพร้าว,” ThaiSpa. (October-November 2010), pp. 40-41.
โฆษณา