25 พ.ค. 2022 เวลา 14:00 • อาหาร
เลิกทนกันคนเย็นชา แล้วมารู้จัก “หม่าล่า” ที่เป็นความชาแบบอร่อยๆ กันเถอะ!
2
ปิ้งย่างเกาหลี ชาบูแบบญี่ปุ่น กำลังโดนเบียดความนิยมจากคนไทยด้วยหม้อไฟหม่าล่าสไตล์จีน ที่ฮิตขึ้นทันตาเห็นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นับจากแฟรนไชส์ร้านดังไฮตี๋เหลา หรือพื้นที่ครองใจวัยรุ่นไทย ‘สยามสแควร์’ มีร้านหม่าล่าหม้อไฟมาเปิดเยอะขึ้น รวมถึงกระแสรีวิวหม่าล่าผ่านโซเชียลมีเดียแบบล้นหลาม
รู้จัก “หม่าล่า” ที่เป็นความชาแบบอร่อยๆ
คำว่า 麻 หม่า แปลว่า อาการชา คำว่า 辣 ล่า แปลว่า เผ็ด ความโดดเด่นของหม่าล่าจึงเป็นความเผ็ดและความชา ที่ถือเป็นรสสัมผัสใหม่ที่แตกต่างจากอาหารไทย
หม่าล่า เป็นเครื่องปรุงลักษณะเด่นของอาหารทางภาคใต้ของจีน สไตล์เสฉวน โดยเฉพาะเมืองฉงชิ่ง
ซึ่งเป็นผงเครื่องเทศหลายอย่างรวมกัน พริกป่น เกลือ ผงชูรส โป๊ยกั๊ก ยี่หร่า ขิงผง กานพลู โดยเครื่องเทศสำคัญ คือ พริกไทยเสฉวน (ฮวาเจียว) คล้ายเครื่องเทศตระกูลเดียวกับ มะแขว่น ทางภาคเหนือของไทย ให้ความรู้สึกชา
หม่าล่าทั่ง คือ อาหารประเภทต้มที่มีหม่าล่าเป็นส่วนประกอบ
หม่าล่าซาวเข่า : ปิ้งย่างเสียบไม้โรยผงหม่าล่า
มีข้อสันนิษฐานว่า คนไทยเริ่มรู้จักหม่าล่าจากปิ้งย่างยูนนาน ในอำเภอแม่สาย และได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันที่มีแฟรนไชส์ปิ้งย่างหม่าล่าขายหลายแบรนด์
ข้อมูลการคลังที่ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2558 ประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีมูลค่าการนำเข้าเครื่องเทศจากจีนมากเป็นอันดับหนึ่ง โดยนำเข้าเครื่องเทศจีนมากถึง 1,490,526,795,289 บาท จากมูลค่าการนำเข้าเครื่องเทศรวม 6,904,724,991,900 บาท จากหลายสิบประเทศ
นอกจากนี้ หม่าล่าหม้อไฟยังขยับความนิยมตามมาติดๆ จากการที่แฟรนไชส์ดังจากแดนมังกร ไฮตี๋เหลา (Hai Di Lao) เข้ามาเปิดในไทยในปี 2562 จนมีปรากฏการณ์คนไทยต่อคิวเข้าร้านมากกว่า 300 คิว จนปัจจุบันนักชิมทั้งหลายก็มีการรีวิวหม่าล่าหม้อไฟต่างๆ มากขึ้น ส่งผลให้ร้านหม่าล่าก็เปิดใหม่เยอะขึ้นตามความนิยม
และเมื่อสำรวจการนำเข้าเครื่องเทศจากจีนล่าสุด ของกรมศุลกากร พบว่า ปี 2563 นำเข้าประมาณ 2,500 ล้านบาท และปี 2564 ประมาณ 2,100 ล้านบาท หม่าล่าในไทยกำลังเพิ่มขีดความนิยมขึ้นเรื่อยๆ
โฆษณา