21 พ.ค. 2022 เวลา 05:06 • การศึกษา
การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)
การจัดการเรียนรู้ด้วย Active Learning เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติจริงและเรียนรู้ด้วยตนเองโดยมีครูทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะกระตุ้นหรืออำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการนำเสนอข้อมูลส่งผลให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อุปกรณ์จำลองระบบไอพ่นอากาศยาน
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในปัจจุบันต้องเน้นให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับการเรียนการสอน กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดขั้นสูง ด้วยการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่าไม่เพียงแต่ฟัง ผู้เรียนต้องอ่าน เขียน ถามคำถาม อภิปรายร่วมกันและลงมือปฏิบัติจริง โดยคำนึงถึงความรู้เดิมและความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ผู้เรียนจะถูกเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับความรู้ ไปสู่การมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้
Active Learning คือกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำและได้ใช้กระบวนการคิด เกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้กระทำลงไป (Bonwell, 1991) เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ๒ ประการ คือ ๑) การเรียนรู้เป็นความพยายามโดยธรรมชาติของมนุษย์, และ ๒) แต่ละบุคคลมีแนวทางในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน (Meyers and Jones, 1993)
โดยผู้เรียนจะถูกเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับความรู้(Receive) ไปสู่การมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้(Co-creators) (Fedler and Brent, ๑๙๙๖)
Active Learning เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอนโดยเน้น ๒ องค์ประกอบที่สำคัญคือ การกระทำ (Doing หมายถึงผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน) และการสะท้อนประสบการณ์ (Reflecting หมายถึงผู้เรียนสะท้อนได้ว่าตนกำลังเรียนรู้อะไร) การมีส่วนร่วมของผู้เรียนนั้นรวมไปถึงการอ่าน (Reading) การเขียน (Writing) การอภิปราย(Discussing) และการแก้ปัญหา (ProblemSolving)
Active Learning เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการสร้างสรรค์ทางปัญญา (Constructivism) ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าเนื้อหาวิชา เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ หรือสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในตนเอง ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงผ่านสื่อหรือกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีครูผู้สอนเป็นผู้แนะนำ กระตุ้น หรืออำนวยความสะดวก ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ขึ้น
โดยกระบวนการคิดขั้นสูง ผู้เรียนมีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และการประเมินค่าจากสิ่งที่ได้รับจากกิจกรรมการเรียนรู้ ทำให้การเรียนรู้ เป็นไปอย่างมีความหมายและนำไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ (สถาพร พฤฑฒิกุล, ๒๕๕๘)
Morable ให้ความเห็นว่าแนวคิดของ Active Learning มาจากทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ จากข้อสมมติฐาน ๔ ข้อ คือ (Morable, ๒๐๐๐ อ้างถึงใน นนทลีพร ธาดาวิทย์, ๒๕๕๙: ๒๕-๒๖)
  • 1.
    นัยสำคัญของการเรียนรู้ คือ เนื้อหาที่ผู้เรียนจะเข้าใจและยอมรับต้องมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายของผู้เรียน
  • 2.
    สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการเรียนรู้คือ ต้องเรียนผ่านการกระทำ
  • 3.
    การเรียนรู้คือ การอำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียนโดยผู้เรียนมีส่วนร่วมและตอบสนองต่อกระบวนการเรียนรู้
  • 4.
    การเรียนรู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตนเอง และเกี่ยวโยงไปสู่ผู้เรียนคนอื่น ๆ ทั้งด้านความรู้สึก อารมณ์ และสติปัญญา
ผู้ใหญ่เรียนรู้ได้ดีที่สุด คือ การได้มีส่วนร่วมในกระบวนการทำกิจกรรมการเรียนรู้ ดังนั้น Active Learning คือ ผู้สอนเป็นผู้นำ ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน กลยุทธ์การเรียนรู้โดยการปฏิบัติ การทำกิจกรรมด้วยตนเอง ที่เป็นจุดเด่น และสร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน
สรูปได้ว่าการเรียนการสอนเชิงรุก (Active Learning) เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ ผ่านการปฏิบัติที่หลากหลายรูปแบบ
1
ลักษณะของการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ดังนี้ (ไชยยศ เรืองสุวรรณ, ๒๕๕๓)
  • 1.
    เป็นการเรียนการสอนที่พัฒนาศักยภาพทางสมอง ได้แก่ การคิด การแก้ปัญหา และการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
  • 2.
    สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการเรียนรู้คือ ต้องเรียนผ่านการกระทำเป็นการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้สูงสุด
  • 3.
    ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้และจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง
4. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนทั้งในด้านการสร้างองค์ความรู้ การสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ร่วมมือกันมากกว่าการแข่งขัน
5. ผู้เรียนเรียนรู้ความรับผิดชอบร่วมกัน การมีวินัยในการทำงาน และการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
6. เป็นกระบวนการสร้างสถานการณ์ให้ผู้เรียนอ่าน พูด ฟัง คิดอย่างลุ่มลึก ผู้เรียนจะเป็นผู้จัดระบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง
7. เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นทักษะการคิดขั้นสูง
8. เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนบูรณาการข้อมูลข่าวสาร หรือสารสนเทศ และหลักการความคิดรวบยอด
9. ผู้สอนจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติด้วยตนเอง
10. ความรู้เกิดจากประสบการณ์ การสร้างองค์ความรู้ และการสรุปทบทวนของผู้เรียน
References:
กรมวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, วารสารวิชาการ ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๖ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มาเว็บ :
ปิยาพัชญ์ นิธิศอัครานนท์ และอภิญญา สุขช่วย Ubon Ratchathani Journal of Research and Evaluation ๙,๑ (January–June ๒๐๒๐)
ปราวีณยา สุวรรณณัฐโชติ. (๒๕๕๑). การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า ๒
นนทลี พรธาดาวิทย์. (๒๕๕๙). การจัดการเรียนรู้แบบ Active learning (พิมพ์ครั้งที่ ๒) . กรุงเทพฯ: ทริปเพิ้ล
เอ็ดดูเคชั่น.
กฤษณะ สุวรรณภูมิ.(๒๕๕๗).ActiveLearning.ข่าวคณะแพทย์คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๒๓๐ประจำเดือนมิถุนายน๒๕๕๗
ไชยยศ เรืองสุวรรณ.ActiveLearning.ข่าวสารวิชาการคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.ประจำเดือน พฤศจิกายน ๒๕๕๓.
ณัชนันแก้ว ชัยเจริญกิจ.(๒๕๕๐).ภาวะผู้นำและนวัตกรรมทางการศึกษา:บทบาทของครูกับActiveLearning. สืบค้นจากhttp://www.pochanukul.com ข้อมูล ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙
ณัชนัน แก้วชัยเจริญกิจ. บทบาทของครูผู้สอนในการจัดกิจกรรมและวิธีการปฏิบัติตามแนวทางของ Active learning, ๒๕๕๐ สืบค้นจาก http://edu.yru.ac.th/knowledge/files/Ex_CoP1.pdf
ปัณฑิตา อินทรักษา, การจัดการเรียนรู้ด้วย Active Learning เพื่อการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ คณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร วารสารคุรุศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ มกราคม–มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒ หน้า ๓๗-๓๘
โฆษณา