22 พ.ค. 2022 เวลา 12:28 • ศิลปะ & ออกแบบ
การศึกษาผ้าจก
ผ้าจกเป็นการทอผ้าที่มีกระบวนการ การจกสลับกับการทอถือว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของคนไท เช่น ไทลื้อ ไทพวน ไทยวน ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน
คำว่า “จก” ภาษาไทยท้องถิ่นหมายถึง การควัก ล้วง ขุด คุ้ย จกเป็นวิธีการทอผ้าเพื่อให้เกิดลวดลายบนผืนผ้าคล้ายการปักเกิดจากการนำเอาเส้นด้ายเสริมสอดเรียงกับเส้นยืนแล้วใช้เทคนิคการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษบนผืนผ้าเรียบโดยใช้วัตถุปลายแหลม เช่น ไม้ ขนเม่น หรือนิ้วมือ ยกด้ายเส้นยืนขึ้นแล้วสอดด้ายเส้นพุ่งพิเศษผ่านด้ายเส้นยืนเข้าไปให้เกิดลวดลายเป็นช่วง ๆ สลับสีตามความต้องการ
ซึ่งโครงสร้างของผ้าจกจะประกอบด้วยเส้นด้าย 3 ชนิด คือ เส้นยืน (เส้นเครือ) เส้นเสริม (ด้ายสำหรับจกสอดเป็นลวดลาย) และเส้นพุ่ง (ด้ายสำหรับพุ่งสอดกับเส้นยืนให้เป็นลายขัด)
การทอจกเป็นเทคนิคที่ยากและใช้เวลานาน ผ้าที่ทอขึ้นเพื่อใช้นุ่งห่มหรือเพื่อใช้สอยในครัวเรือน เช่น ผ้าปูนอน หมอน ถุงย่าม
ปัจจุบันในประเทศไทยพบว่าแหล่งที่ยังมีการทอผ้าจกแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มวัฒนธรรมไทยวน ในจังหวัดเชียงใหม่ แพร่ อุตรดิตถ์ ราชบุรี และสระบุรีกลุ่มวัฒนธรรมไทพวน ในจังหวัดสุโขทัย กลุ่มวัฒนธรรมไทลื้อ ในจังหวัดเชียงราย น่าน กลุ่มวัฒนธรรมไทครั่ง ในจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี และกลุ่มวัฒนธรรมภูไท ในจังหวัดกาฬสินธุ์
ซึ่งการทอผ้าของแต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดลวดลายและสีสัน ตลอดจนถึงวัตถุประสงค์ในการใช้สอย
ลวดลายที่ใช้ในการทอจะแตกต่างไปตามกลุ่มวัฒนธรรม และการสืบเชื้อสาย ซึ่งในมุมมองของ นักออกแบบสิ่งทอ ผ้าจก สามารถนำเสนอ ได้อย่างสวยงาม บนความเรียบง่ายดังตัวอย่าง
งานทอ ตามรูป
เห็นได้ว่า งานจกผ้า เป็นอีกงานหนึ่งที่ นักออกแบบสิ่งทอ น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ ในการสร้างงานที่ แสดงความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจาก แรงบันดาลใจ และการรู้จักเลือก รูปร่าง-รูปทรง สีจังหวะ ฯลฯ เพื่อทำให้เกิด ผลงานกลุ่มใหม่ได้ไม่ยากเลย
โฆษณา