23 พ.ค. 2022 เวลา 01:54 • การศึกษา
ผู้นำในภาวะวิกฤต ของชัชชาติ / เขียนไว้ให้เธอ
1
“ I learned that courage was not the absence of fear, but the triumph over it. The brave man is not he who does not feel afraid, but he who conquers that fear”....Nelson Mandela
3
ผมได้มีโอกาสได้พบอาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ตั้งแต่ตอนที่อาจารย์สอนอยู่ที่จุฬาฯ หลังจากนั้นอาจารย์ก็เข้าสนามการเมือง กลายเป็นรัฐมนตรีที่มีคนชื่นชอบมากที่สุดคนหนึ่ง พอออกจากตำแหน่งการเมือง อาจารย์ก็มาเป็นซีอีโอของบริษัทคิวเฮาส์ ก่อนที่จะลาออกมาเตรียมรอเลือกตั้งผู้ว่า และได้เป็นว่าที่ผู้ว่าด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายเมื่อคืน
จุดเด่นของอาจารย์มีหลายด้าน แต่ด้านหนึ่งที่หลายคนยอมรับคือภาวะผู้นำและประสบการณ์ที่หลากหลายในฐานะผู้นำของทั้งภาคการเมืองและภาคเอกชน ซึ่งก็เป็นเหตุผลหลักเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนออกมาเลือกอาจารย์อย่างถล่มทลาย ทางหลักสูตร abc เคยเชิญอาจารย์มาบรรยายเรื่อง leadership ด้วยความคาดหวังว่าอาจารย์คงจะมาแชร์ประสบการณ์เรื่องการบริหารราชการหรือบริหารบริษัทขนาดใหญ่เมื่อหลายปีก่อน
1
แต่ก็ผิดคาดไปอย่างสิ้นเชิง เพราะสิ่งที่อาจารย์เล่าเรื่องภาวะผู้นำนั้นไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวใหญ่โตแบบนั้นเลย
…….....
อาจารย์ชัชชาติเริ่มด้วยการบอกว่า ภาวะผู้นำที่อาจารย์มีนั้น ไม่ได้เกิดจากการได้ทำงานใหญ่ๆและเรียนรู้การเป็นผู้นำจากงานแบบนั้น แต่เกิดจากประสบการณ์เปลี่ยนชีวิตที่ทำให้ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ อาจารย์เล่าเกริ่นกับเนลสัน แมนเดลา ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของโลก ว่าภาวะผู้นำของแมนเดล่าไม่ได้เกิดจากตอนที่เขาเป็นประธานาธิบดีปกครองคนจำนวนมากๆ แต่เกิดจากตอนที่เขาต้องต่อสู้กับตัวเองในคุกที่ยาวนานถึง 27 ปี
แล้วอาจารย์ก็เริ่มเล่าถึงการเรียนรู้ภาวะผู้นำจากลูกชายคนเดียวที่อาจารย์มี เมื่อตอนลูกชายอายุได้หนึ่งขวบ..
อาจารย์มีลูกชายชื่อแสนดี เมื่อตอนเล็กๆก็เป็นเด็กเหมือนเด็กทั่วไป พอโตมาหน่อยก็มีคนรอบข้างเริ่มทักว่าเรียกแล้วไม่หัน อาจารย์ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไร แต่ซักพักก็ทนเสียงรบเร้าไม่ไหวก็เลยพาลูกชายไปหาหมอ พอพยาบาลออกมาแจ้งผล อาจารย์ถึงรู้ว่าลูกหูหนวกสนิท..
เหมือนโลกทั้งโลกถล่มมาต่อหน้าต่อตา เพราะอาจารย์และภรรยาไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเอง และยิ่งหนักกว่าปัญหาหูหนวกเพราะคนหูหนวกก็จะพูดไม่ได้ไปโดยปริยายเพราะจะไม่ได้ยินเสียงจนไม่สามารถเรียนภาษาได้ อาจารย์จะไม่มีโอกาสคุยกับลูกได้อีก แล้วลูกจะอยู่ในสังคมได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ร้ายแรงและทารุณมากๆ
อาจารย์บอกว่า นี่คือบทเรียนแรกของภาวะผู้นำ สิ่งที่เลวร้ายและไม่ได้คาดคิดอาจจะเกิดขึ้นได้แบบไม่ทันตั้งตัวได้เสมอกับชีวิตเรา
…..lesson#1 Shit happens
หลังจากรู้ว่าลูกชายหูหนวก ด้วยความตกใจและสงสารลูก รวมถึงยังมีความหวังลมๆแล้งๆ อาจารย์และครอบครัวก็พยายามใช้ทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้ลูกได้ยิน ตั้งแต่ใส่หูฟังเปิดเพลงดังๆทั้งคืน เริ่มพาไปบนบานศาลกล่าว ไปวัดวาอารามต่างๆ ที่ได้ใกล้ไกลใครบอกว่าศักดิ์สิทธิ์ก็ดั้นด้นไปหมด ขออธิษฐานให้ลูกได้ยินเสียงให้ได้
แต่ผ่านไปหกเดือน ทุกอย่างก็เหมือนเดิม ลูกก็ยังหูหนวก ปาฏิหาริย์ก็ไม่เกิดขึ้น อาจารย์ถึงเริ่มรู้แล้วว่า ต้องทำอะไรซักอย่างที่เป็นระบบ ต้องมีสติมากกว่านี้ ต้องเป็นหลักนำครอบครัวให้หาทางออกที่มีหวังกว่านี้ เป็นบทเรียนที่สองของการเป็นผู้นำ
….lesson #2 stop praying. No one can really help you but yourself
พอตั้งสติได้ ด้วยความเป็นนักวิชาการ อาจารย์ก็เริ่มศึกษาเรื่องทางเลือกของเด็กหูหนวกว่ามีทางไหนบ้าง พยายามคิดให้เป็นระบบ จดทางเลือกออกมาวิเคราะห์ ในตอนนั้นเด็กหูหนวกมีทางเลือกพื้นฐานอยู่หลักๆคือการอ่านปากหรือเรียนภาษามือ ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยให้พูดได้แต่พอทำให้สื่อสารได้บ้าง
และมีทางเลือกที่เสี่ยงมากๆอยู่อีกทางคือการใส่ประสาทหูเทียม ซึ่งต้องทำลายของเดิมแล้วฝังประสาทเทียมเข้าไปแล้วใช้เครื่องกระตุ้นจากภายนอก
ในสมัยนั้นเคสที่ทำสำเร็จมีน้อยมาก อาจารย์ก็ค้นหาไปเรื่อยๆจนพบว่ามีแพทย์เฉพาะทางที่เก่งด้านนี้อยู่ที่ออสเตรเลีย อาจารย์ลองติดต่อไปแพทย์คนนั้นก็ปฏิเสธเพราะคนไข้ที่ต้องดูแลมีเยอะแล้ว
1
อาจารย์เล่าว่า ณ เวลานั้นคือจุดที่ต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ของชีวิตในฐานะผู้นำครอบครัว ว่าอะไรสำคัญที่สุด ในตอนนั้นหน้าที่การงานของอาจารย์ก็กำลังไปได้ดี
แต่อาจารย์ตัดสินใจแล้วที่จะลองเสี่ยงทั้งงานและเสี่ยงทั้งกระบวนการใหม่เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคืออยากให้ลูกชายพูดได้ อาจารย์ก็เลยตื๊อจนแพทย์คนนั้นยอมรับเคส แล้วสมัครทุนไปทำงานวิจัยที่ออสเตรเลีย ตัดสินใจครั้งสำคัญในการอพยพทั้งครอบครัวไปที่โน่นเพื่อลองรักษาดู
ในการตัดสินใจครั้งนั้นในฐานะผู้นำ อาจารย์ก็ได้เจอบทเรียนที่สาม
……Lesson#3. Understand problem and search for the best solution by yourself
ตอนไปอยู่ที่ออสเตรเลีย เป็นช่วงเวลาที่ทรหดและยาวนานมาก อาจารย์เล่าว่าตอนผ่าติดตั้งประสาทเทียมนั้นไม่ยาก แต่หลังจากติดตั้งแล้ว การฝึกลูกชายเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากๆ เพราะที่โน่นผู้ฝึกจะเน้นฝึกพ่อแม่ไม่กี่ชั่วโมงและให้พ่อแม่ไปฝึกต่ออีกทั้งวันทั้งคืนไม่มีวันหยุด เพราะเป็นระบบการส่งสัญญานและการผสมภาษาแบบใหม่หมด
เริ่มต้นอาจารย์และครอบครัวเริ่มมีความหวังเบาๆเพราะตอนที่เปิดเครื่องทดสอบ ลูกชายของอาจารย์เหมือนจะได้ยินเสียงและหันมา แต่หลังจากนั้นก็ได้ยินแต่เสียง แต่ไม่พูดอะไร ต้องใช้เวลานานมากๆ
มีช่วงที่อาจารย์เริ่มไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือเปล่า ลูกชายซึ่งเป็นเด็กสองขวบก็มีความดื้อ ความเบื่อง่ายของเด็ก
อาจารย์และภรรยาต้องอาศัยความอึด ความอดทนและความรักลูก ค่อยๆทำไปทีละชั่วโมง ทีละวัน ทีละสัปดาห์จนเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น ลูกชายเริ่มฟังและพูดเป็นคำได้ บทเรียนที่สี่ที่อาจารย์ได้จากกระบวนการที่แสนยาวนานช่วงนี้ก็คือ
……lesson#4 work hard and don’t give up
1
ในการทำซ้ำๆและเห็นผลได้ช้า หรือบางทีไม่เห็นความคืบหน้าอะไรเลยเป็นเดือนๆ อาจารย์เล่าว่าความท้อถอย ความไม่แน่ใจว่ามาถูกทางนั้นเข้ามากระแทกใจเป็นระยะ มีความคิดที่จะเลิก ไม่เอาแล้วและจะกลับเมืองไทยกันอยู่หลายครั้ง
แต่อาจารย์บอกว่าในที่สุด เราต้องหาแรงบันดาลใจ หากำลังใจเวลาที่เราท้อ ให้เราเห็นดาวเหนือของเรา เห็นจุดหมาย ว่าเรากำลังทำเพื่อใครและทำอะไรอยู่ อาจารย์มีบทความแปะผนังอยู่แผ่นหนึ่งที่ไว้นั่งดูเวลาท้อถอยถึงที่สุด เป็นบทกวีแห่งความหวังของพ่อกับลูกชาย อ่านแล้วก็จะมีแรงเดินหน้าต่อไป อาจารย์สรุปบทเรียนสุดท้ายไว้ว่า
1
….lesson#5 Find your true north. Find inspiration
หลังจากความพยายามอยู่หลายปี “แสนดี” ลูกชายอาจารย์ก็พูดได้ อาจารย์บอกว่าต้องเลือกภาษาเดียวเท่านั้นในการฝึก อาจารย์ก็เลยเลือกภาษาอังกฤษ แล้วอาจารย์ก็เปิดวีดีโอสั้นๆ เป็นคลิปที่แสนดีวัยรุ่นพูดจาเหมือนคนปกติ ดูเฮี้ยวๆเฮ้วๆซนๆ แต่มีความฉลาดเฉลียวสมวัย ผมแอบดูสายตาของอาจารย์ ในแววตามีความภูมิใจเต็มเปี่ยมอยู่ในนั้น
ปัจจุบันแสนดีเรียนอยู่ที่ university of washington ที่สหรัฐ เหมือนเด็กปกติทั่วไป อาจารย์เล่าแบบติดตลกว่า พอเถียงกันแล้วแสนดีรำคาญ แสนดีก็จะถอดหูฟังออกแล้วทำเป็นไม่ได้ยิน อาจารย์เล่าต่อพร้อมโชว์ภาพเด็กในวัยเดียวกับแสนดีอีกหลายคน ว่าหลังจากแสนดีทำได้ก็มีครอบครัวไทยอีกหลายครอบครัวเดินตามรอย จนปัจจุบันมีเด็กจำนวนมากที่เกิดมาหูหนวกแต่พูดได้หลังจากที่อาจารย์และครอบครัวไปบุกเบิกไว้
1
เหตุการณ์เล็กๆที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของอาจารย์ครั้งนั้น คือบททดสอบภาวะผู้นำ เป็นบทเรียนที่ล้ำค่าที่สุดที่อาจารย์ได้เรียนรู้ในฐานะผู้นำครอบครัว หลังจากนั้นเรื่องการเป็นผู้นำองค์กรต่างๆก็ไม่ใช่เป็นเรื่องใหญ่ หลังจากที่อาจารย์ผ่านการเคี่ยวกรำครั้งนั้นมาแล้ว ผมเองก็เชื่อว่าภาวะผู้นำของอาจารย์ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯให้ดีขึ้นได้เหมือนกับหลายๆคนที่เชื่อเช่นกัน
…..
อาจารย์ปิดท้ายด้วย บทกลอน invictus ของ william henry ที่เนลสัน แมนเดลา ใช้เป็นแรงบันดาลใจ เป็น true north ตอนถูกขังคุกอยู่ 27 ปี มีข้อความตอนหนึ่งว่า..
“I am the master of my fate I am the captain of my soul…..”
…..แด่ผู้นำองค์กร ผู้นำชุมชน และ คุณพ่อทุกคนครับ
โฆษณา