25 พ.ค. 2022 เวลา 13:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ
จะเกิดอะไรขึ้นหาก Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงสุด
1
ในเบื้องต้นเราอาจจะได้เห็นผลกระทบมาแล้วจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งมีผลทำให้ทั้งตลาดหุ้น ตลาดคริปโตฯ และตลาดอื่นๆ ก็สั่นคลอนกันถ้วนหน้า ยิ่งตลาดหุ้นสหรัฐนั้น ทิ้งดิ่งต่อเนื่อง 7 สัปดาห์ ทุบสถิติใหม่นานสุดในรอบ 21 ปี กันเลยทีเดียวค่ะ
โดยก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม หลัง Fed ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% ในขั้นต้นนั้น ตลาดทุนตอบรับด้วยดีเพราะคาดหวังว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราราวๆ นี้ และยังทำให้นักลงทุนโล่งใจเพราะบางคนเชื่อว่าเฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยสูงกกว่านี้ คือ 0.75%
แต่พอวันถัดมาตลาดก็เอาคืนทั้งหมด จากที่ตลาดปรับตัวบวกขึ้นไป ก็ถูกเทขายลงมาหมดไม่เหลือสภาพความดีงามเอาไว้เลย แถมลงลึกกว่าอีก เพราะแท้จริงแล้วนักลงทุนไม่เชื่อว่า Fed จะสามารถจัดการกับเงินเฟ้อได้
ในอนาคต คาดว่าอาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่แรงกกว่านี้อีก เพราะ Fed ต้องต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อให้ได้ ซึ่งเครื่องมือเดียวที่ Fed มีก็คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนั่นเอง ซึ่งพาวเวลล์ได้กล่าวไว้ว่าผู้กำหนดนโยบายคือคณะกรรมการของ Fed พร้อมที่จะอนุมัติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในขนาดใกล้เคียงกันในการประชุมนโยบายที่จะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมที่จะถึงนี้ด้วย
ด้านตลาดคริปโตฯ หลังการขึ้นดอกเบี้ย ดัชนี Fear & Greed Index ที่ใช้จับตา Bitcoin นั้นปรับมาอยู่ที่ระดับใกล้กับ Extreme fear มากขึ้น การปรับลงมาในแดน fear อาจเป็นสัญญาณว่านักลงทุนวิตกกังวลเกินไป ซึ่งนั่นก็อาจเป็นโอกาสในการซื้อ
ดัชนี Fear & Greed Index
ส่วนตลาดทองคำ หลังจากที่พาวเวลล์กล่าวออกมาพร้อมกับให้เหตุผลเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยว่าเพื่อปราบเงินเฟ้อ ทำให้ราคาทองคำขึ้นมา เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ใช้เก็งกำไรในช่วงที่เงินเฟ้อรุนแรง
ด้านธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐ ซึ่งรวมถึง JPMorgan Chase & Co, Wells Fargo Bank และ Citibank ก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพิเศษเป็น 4% มีผลตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคมเป็นต้นไป โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พื้นฐานเพิ่มขึ้น 50 จุด ตามเกณฑ์ธนาคารกลางกล่าวในแถลงการณ์
และหลังการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะต้องจับตาสิ่งที่แพงขึ้นคือ ดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งหลาย เช่น ดอกเบี้ยบ้าน ดอกเบี้ยบัตรเครดิต ซึ่งชาวอเมริกันใช้กันอย่างกว้างขวาง แม้แต่การขึ้น 1% ก็อาจทำให้ค่าใช้จ่ายของชาวอเมริกันเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องดูว่ามันจะเป็นภาระซ้ำซ้อนกับเงินเฟ้อหรือไม่ (แหล่งข่าว CNBC)
⛳ ผลกระทบต่อคนไทย ต้องรับมืออย่างไรบ้าง
สำหรับคนที่มีหนี้ แน่นอนว่าดอกเบี้ยขาขึ้นย่อมส่งผลให้ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนคนที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มสำรวจหรือจัดการตัวเองอย่างไรดี เรามีมาแนะนำ 3 ข้อนี้ค่ะ
1. จำแนกหนี้ โดยวิธีที่ง่ายสุดเลยคือ แบ่งหนี้สินที่มีออกเป็น 2 ประเภทให้ชัดเจน คือ
>> หนี้สินที่มีดอกเบี้ยลอยตัว สังเกตจากคำว่า MLR MRR หรือ MOR ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนี้บ้าน
>> หนี้สินที่มีดอกเบี้ยคงที่ กลุ่มหลังเกิดจากการเช่าซื้อหรือผ่อนสินค้าต่างๆ เช่น สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล
2. เลือกจัดการหนี้ประเภทดอกเบี้ยลอยตัวก่อน เช่น หนี้บ้าน หากครบ 3 ปี อาจพิจารณาการรีไฟแนนซ์ เพราะหลายธนาคารมักจัดโปรโมชั่นสินเชื่อบ้านเงินกู้ 3 ปี ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยลอยตัวได้
3. จัดการหนี้ดอกเบี้ยคงที่ต่อ โดยก้อนแรกๆ ที่ควรจัดการ คือหนี้จำพวกสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต เพราะถึงดอกเบี้ยจะคงที่ตามนโยบายของแบงก์ แต่เป็นดอกเบี้ยที่คิดแบบลดต้นลดดอก ถ้าเงินต้นยังค้างอยู่ ดอกเบี้ยก็จะถูกคิดออกมาเรื่อยๆ
ภาพจาก Pinterest
ดูจากสถานการณ์แล้ว ยังไม่มีทีท่าว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงเลย มีแต่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก อย่างไรเสียทางเพจก็ขอเป็นกำลังใจในการใช้ชีวิตให้ผ่านช่วงมรสุมนี้ไปได้ด้วยดีนะคะ
Cr. cnnbusiness, posttoday
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา