23 พ.ค. 2022 เวลา 12:04 • ข่าวรอบโลก
ขีดเส้นแบ่งภูมิรัฐศาสตร์โลกได้กี่แบบ
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
3
โลกได้กลับมาสู่ยุคของการต่อสู้เชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) อย่างเต็มตัว การเมืองโลกกลายเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ขีดเส้นแบ่งแผนที่ ใครเป็นพวกใคร ใครรวมกลุ่มปิดล้อมใคร ใครมีทางออกสู่ทะเล ใครเข้าถึงพื้นที่พลังงานและทรัพยากรได้มากกว่ากัน
กุนซือโบราณของจีนต้องมีแผนที่กางไว้ในห้องวางแผนฉันใด นักกลยุทธ์ของตะวันตกก็สอนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและการทหารด้วยแผนที่เช่นกัน แผนที่ชวนให้เราออกจากกะลาเลิกปิดตัวเอง มุ่งไปแสวงโอกาสจากโลกภายนอกและตักตวงประโยชน์จากยุคภูมิรัฐศาสตร์ผันผวน
นักกลยุทธ์ปัจจุบันมองภูมิรัฐศาสตร์โลกแตกต่างกันเป็นสามแบบ ได้แก่ แบบสมดุลสองขั้ว แบบขั้วสหรัฐฯ ได้เปรียบ กับแบบขั้วจีนได้เปรียบ
1
แบบสมดุลสองขั้ว หลายท่านคงเคยได้ยินว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคโลกสองขั้ว ในปัจจุบัน ขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อยู่ที่ร้อยละ 21 ของขนาดเศรษฐกิจทั้งหมดของโลก ส่วนจีนอยู่ที่ร้อยละ 18 แต่ในอีกไม่กี่ปี ทั้งสองขั้วต่างจะอยู่ที่ร้อยละ 20 ใกล้เคียงกัน
1
นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ชนิดพลิกฟ้าพลิกดิน เพราะเมื่อปี ค.ศ. 2001 ขนาดเศรษฐกิจจีนยังน้อยกว่าร้อยละ 2 ของขนาดเศรษฐกิจโลกอยู่เลย เรียกได้ว่าตอนนั้นสหรัฐฯ เป็นผู้นำเดี่ยวของโลกอย่างไม่มีใครเทียบ แต่วันนี้จีนได้ขึ้นมาเทียบรัศมีสหรัฐฯ เรียบร้อยแล้ว
1
แต่นักยุทธศาสตร์ในสหรัฐฯ บอกว่า ขีดเส้นแบ่งแบบนี้อาจดูเหมือนสหรัฐฯ กำลังอ่อนกำลังลง และจีนกำลังทะยานขึ้นมา แต่แท้จริงแล้ว สงครามยูเครนในครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นชัดว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรยังคงเป็นผู้นำเดี่ยวของโลกชนิดไร้คนเทียบเช่นเดิม
เพราะเมื่อนับสหรัฐฯ รวมกับพันธมิตร (เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ฯลฯ) ที่ร่วมกันคว่ำบาตรรัสเซีย จะพบว่ารวมกันมีขนาดเศรษฐกิจมากกว่าร้อยละ 50 ของขนาดเศรษฐกิจโลก ยิ่งหากนับประเทศที่ร่วมประณามรัสเซียตามการลงมติของสหประชาชาติแล้ว อาจขึ้นไปถึงร้อยละ 70 ของขนาดเศรษฐกิจโลกเลยทีเดียว
1
ภาพจึงเป็นการโดดเดี่ยวจีนและรัสเซีย ขนาดเศรษฐกิจรัสเซียนั้นคิดเป็นเพียงร้อยละ 2 ของขนาดเศรษฐกิจโลก คือมีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่ารัสเท็กซัสของสหรัฐฯ เสียอีก ดังนั้น เมื่อเอาขั้วจีนกับรัสเซียรวมกันก็คิดเป็นเพียงร้อยละ 20 ของเศรษฐกิจโลกเท่านั้น
1
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ตลอดช่วงสองสามปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ พูดติดปากตลอดว่า "สหรัฐฯ และพันธมิตร” เพราะสหรัฐฯ เข้าใจดีว่า สหรัฐฯ ตัวคนเดียวอาจไม่มีบารมีเหลือล้นเช่นในอดีต แต่หากนับ “สหรัฐฯ และพันธมิตร” ก็ยังรวมกันคุมโลกในวันนี้ได้อยู่
4
หากสหรัฐฯ รวมกับสหภาพยุโรปก็น่าจะถึงร้อยละ 40 ของขนาดเศรษฐกิจโลก เมื่อขั้วสหรัฐฯ และยุโรปสามัคคีเป็นปึกแผ่น ก็จะใหญ่กว่าจีนเท่าตัว นี่ยังไม่รวมมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างญี่ปุ่นที่อยู่ข้างสหรัฐฯ อย่างแน่นอนในเอเชีย
1
สตีเฟน คอคคิน นักวิชาการด้านภูมิรัฐศาสตร์ชื่อดังของสหรัฐฯ กล่าวว่าขั้วตะวันตกแข็งแกร่งกว่าที่ตะวันตกคิดเสียอีก ดอลล่าร์สหรัฐฯ ยังเป็นเงินสกุลหลักของโลก ระบบการเงินโลกก็ยังคุมโดยขั้วตะวันตกอย่างเด็ดขาด แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ คอคคินมองว่า “ตะวันตก” ไม่ใช่แนวคิดเชิงแผนที่ แต่เป็นแนวคิดเชิงค่านิยม
2
ประเทศที่มีค่านิยมทางการเมืองเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยและมีสถาบันการเมืองแบบตะวันตกล้วนต้องอยู่ในค่ายตะวันตกโดยอัตโนมัติ ดังนั้น “ตะวันตก” จึงรวมญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไปโดยปริยาย เพราะไม่มีทางที่พื้นที่เหล่านี้จะเลือกข้างจีนได้เลย และไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ คนและพื้นที่ส่วนใหญ่ในโลกล้วนสมาทานค่านิยมและวัฒนธรรม “ตะวันตก” ไปเรียบร้อยแล้ว
2
แต่แนวคิดแบบนี้ของสหรัฐฯ ก็อาจมองโลกเข้าข้างตัวเองเกินไป อย่างน้อยด้วย 3 เหตุผลด้วยกัน
1
หนึ่ง หากคิดในแง่ทรัพยากร รัสเซียถือว่าเป็นมหาอำนาจด้านทรัพยากรและพลังงาน ถึงแม้จะมีขนาดเศรษฐกิจที่เล็ก แต่รัสเซียมีอำนาจต่อรองที่สำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานของยุโรป
1
ในรัสเซียและจีน เกิดแนวคิดการขีดเส้นแบ่งแผนที่ใหม่ ให้เกิดภูมิภาค “ยูเรเซีย” (Eurasia) มีนักคิดชื่อดังของรัสเซียเคยวาดวิสัยทัศน์ว่า หากรัสเซียกับจีนผนึกกัน กล่าวคือรัสเซียเปลี่ยนจากหันหน้าเข้าตะวันตก เปลี่ยนทางมาหันหน้าเข้าเอเชีย จะทำให้เกิดการเขย่าภูมิรัฐศาสตร์โลก เพราะยูเรเซียจะได้เปรียบทั้งในแง่ขนาดพื้นที่ ทรัพยากร และประชากร
2
โดยเฉพาะจีนและรัสเซียมีทรัพยากรและเทคโนโลยีที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน จีนมีอุตสาหกรรมการผลิตและประชากรมหาศาล แต่ขาดอุตสาหกรรมทหารและทรัพยากรพลังงาน
2
ในขณะที่รัสเซียมีเทคโนโลยีการทหารและมีพลังงาน พื้นที่กว้างขวาง แต่ขาดอุตสาหกรรมการผลิต ขาดสินค้าอุปโภคบริโภค และขาดปริมาณประชากรที่เป็นแรงงานและตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ดังนั้น ในเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งสองประเทศจึงมีศักยภาพที่จะเสริมทัพซึ่งกันและกัน และขีดเส้นแบ่งขั้วการเมืองโลกใหม่
5
สอง หลายประเทศที่สหรัฐฯ คิดว่าอยู่ในขั้วของตน อาจไม่ได้อยู่ในขั้วสหรัฐฯ เด็ดขาดเช่นนั้น คู่ค้าอันดับ 1 ของยุโรปก็คือจีน คู่ค้าอันดับ 1 ของญี่ปุ่นก็คือจีนเช่นเดียวกัน อินเดียเองถึงจะไม่ชอบจีน แต่ก็สนิทกับรัสเซีย และนับวันการเมืองอินเดียก็ดูจะทวนกระแสเสรีนิยมและมีลักษณะเป็นชาตินิยมและเชื้อชาตินิยมมากขึ้น
2
ภาพภูมิรัฐศาสตร์เช่นนี้แตกต่างมากจากสงครามเย็นรอบที่แล้ว ที่คนที่ขีดตัวเองอยู่ในค่ายสหรัฐฯ แทบไม่มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับค่ายสหภาพโซเวียตเลย
1
สุดท้ายคือในแง่ประชากร ในจีนมีการพูดเข้าข้างตัวเองว่า หากนับในแง่ประชากรแล้ว ประเทศที่เลือกไม่ประณามรัสเซียต่างหากที่เป็นเสียงข้างมากของโลก เพราะมีจีน (1.4 พันล้าน) อินเดีย (1.3 พันล้าน) รัสเซีย (140 ล้าน) และอีก 30 กว่าประเทศ
1
นำมาสู่แนวคิดการแบ่งภูมิรัฐศาสตร์แบบจีนได้เปรียบ นั่นคือ การแบ่งโลกระหว่างขั้วประเทศกำลังพัฒนากับขั้วประเทศรายได้สูง (ซึ่งส่วนใหญ่คือค่ายตะวันตก) และวางโพสิชันให้จีนเป็นผู้นำของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย (รวมแอฟริกา ลาตินอเมริกา เอเชียกลาง อาเซียน) ซึ่งจะมีประชากรรวมกันเป็นเสียงข้างมากของโลก (เพราะประชากรประเทศรายได้สูงรวมกันมีเพียง 1.2 พันล้านคน เท่านั้น)
3
พลังทางเศรษฐกิจนั้น อยู่ที่การเอาเทคโนโลยีเข้าจับกับทรัพยากรแรงงาน (ประชากร) ดังนั้น เมื่อเทคโนโลยีขยายขอบเขตไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา เราจึงเห็นการทะยานขึ้นของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก หากย้อนดูประวัติศาสตร์ อังกฤษเป็นเจ้าอุตสาหกรรมประเทศแรก แต่เมื่ออุตสาหกรรมเคลื่อนจากเกาะเล็กๆ อย่างอังกฤษไปสู่สหรัฐฯ ที่มีประชากร 350 ล้านคน สหรัฐฯ ก็กลายเป็นเจ้าโลกแทนอังกฤษ
4
มาวันนี้อุตสาหกรรมได้ขยายไปที่จีนที่มีประชากร 1.4 พันล้านคน เราจึงเห็นการทะยานขึ้นของจีน หากมองในแง่ประชากรที่โลกตะวันตกมีแต่จะประชากรหดและเป็นสังคมผู้สูงวัย ขณะที่โลกประเทศกำลังพัฒนายังคงได้เปรียบเรื่องจำนวนประชากร ก็จะทำให้เข้าใจตรรกะของจีนว่า เวลาอยู่ข้างจีนและประเทศกำลังพัฒนา
4
แต่หากเชื่อในมุมมองนี้ ขั้วจีนต้องรอเวลา ทั้งในแง่ของการขยายเทคโนโลยีมาจับกับประชากร แรงงาน และพื้นที่ที่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี รวมทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำทรัพยากรจากรัสเซียเบนเข็มมาสู่จีน เพราะในวันนี้ท่อก๊าซธรรมชาติของรัสเซียล้วนสร้างไปสู่ยุโรป จึงไม่ใช่ว่ากดปุ่มเดียวจะส่งก๊าซมาจีนแทนยุโรปได้
3
จึงนำไปสู่ข้อสรุปที่เห็นตรงกันในบรรดานักยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ว่า เวลาที่ดีที่สุดของการทุบจีนคือ 20 ปีก่อน (ซึ่งสหรัฐฯ พลาดไป เพราะมัวติดพันกับสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน) เวลาที่ดีรองลงมาคือวันนี้ เพราะหากหยุดจีนวันนี้ไม่ได้ และปล่อยเวลาผ่านไปอีก 20 ปี ก็อาจจะถูกจีนขีดเส้นแบ่งภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ ซึ่งสหรัฐฯ จะยอมไม่ได้
3
บัดนี้จึงกลายเป็นการเดิมพันเกมรุกสกัดและปิดล้อมจีนรอบสุดท้ายก่อนจะสายเกินไปของสหรัฐฯ
โฆษณา