Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
IDis
•
ติดตาม
23 พ.ค. 2022 เวลา 12:27 • ศิลปะ & ออกแบบ
ผ้าม่อฮ่อม จังหวัดแพร่ (ตอนที่ ๑)
ผ้าม่อฮ่อมเป็นผ้าที่ทอด้วยเส้นด้ายฝ้ายแล้วใช้โครงสร้างผ้าเป็นลายขัด นำมาย้อมด้วยสีครามที่ได้จากต้นฮ่อม ต้นคราม และ ต้นฮ่อมเครือ (ต้นเบิก) จนได้ผ้าที่มีสีเดียวกันตลอดทั้งผืน ผ้าที่ได้ จะมีสีในช่วงของน้ำเงินเข้ม ไปจนถึงสีฟ้าคราม ซึ่งการย้อมจะต้องนำผ้าที่ต้องการย้อมแช่ลงใน ภาชนะลักษณะคล้ายหม้อที่ได้เตรียมน้ำย้อม ที่มีส่วนผสมสำคัญจากต้นฮ่อม ฯลฯ
ถิ่นกำเนิดผ้าม่อฮ่อม
ผ้าม่อฮ่อม เป็นผ้าที่มีการย้อมด้วยสีคราม และการย้อมผ้าด้วยสีครามได้แพร่หลายในทุกภูมิภาคของโลกนับพันปีมาแล้ว ซึ่งกรรมวิธีในการย้อมก็คล้ายคลึงกัน
เช่นเดียวกันกับ ผ้าม่อฮ่อม จังหวัดแพร่ที่มีการสืบทอดกันมานานกว่า ๑๐๐ ปี สันนิษฐานกันว่าการทำผ้าม่อฮ่อมได้ติดตัวมากับผู้คนที่เข้ามาเมืองแพร่ ด้วยเหตุของสงครามที่มีการอพยพกวาดต้อนผู้คนมาเพื่อเป็นแรงงาน หรือที่เรียกกันว่ายุค "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" รวมถึงการอพยพเข้ามาด้วยความสมัครใจ
การผลิตผ้าม่อฮ่อม ที่มีการผลิตครั้งแรก ที่บ้านทุ่งโฮ้ง เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๔๐ – ๒๓๕๐ จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า ๗๔ ปี (พ.ศ. ๒๕๓๔) ได้เล่าว่าชาวไทพวนบ้านทุ่งโฮ้ง ได้พากันอพยพมาจากเมืองพวน แขวงเชียงขวางประเทศลาว (ในอดีต) ในราวสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี
โดยเจ้าเมืองใจ๋เจ้าผู้ครองนครแพร่ก็ได้ผู้คนเชื้อสายไทลื้อมาจากเชียงแสนพามาสร้างถิ่นฐานไว้ที่แถบบ้านพระหลวง และช่วงสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์ที่สยามส่งกองทัพไปถึงสิบสองปันนาก็ได้ไทลื้อมาไว้ที่บ้านถิ่น
ต่อมากองทัพสยามไปลาวได้คนเชื้อสายลาวพวนมาไว้ที่ทางทิศเหนือของเมืองแพร่ คือ บริเวณวัดสวรรค์นิเวศน์ ซึ่งภายหลังได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านทุ่งโห้งและเพี้ยนมาเป็นทุ่งโฮ้งในปัจจุบัน
ชื่อเดิมของบ้านทุ่งโห้ง คือ "บ้านทั่งโห้ง" คำว่า "ทั่ง" หมายถึงทั่งที่รองรับการตีเหล็ก ส่วนคำว่า "โห้ง" เป็นภาษาไทพวน หมายถึง สถานที่เป็นแอ่งลึกลงไปเหมือนรูปก้นกระทะ เมื่อตีเหล็กบนทั่งเป็นประจำทุกวัน ทั่งมันก็เป็นแอ่งลึกลงไป ซึ่งคนพวนเรียกว่า มันโห้งลงไป
ทั้งนี้ ก็เนื่องจากชาวไทพวนสมัยก่อนนั้นยึดอาชีพตีเหล็กกันทุกหลังคาเรือน จึงเรียกชื่อหมู่บ้านของตนว่า บ้านทั่งโห้ง แล้วเพี้ยนมาเป็นบ้านทุ่งโฮ้งจนถึงทุกวันนี้
ชาวไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของตนเองคือ ภาษาพูด มีประเพณีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันและโดดเด่น คือประเพณีกำฟ้า และมีอาชีพที่นำรายได้และนำชื่อเสียงมาสู่ท้องถิ่นจังหวัดแพร่ คือ การผลิตผ้าม่อฮ่อม
ศิลปะและภูมิปัญญาผ้าม่อฮ่อม
การทำผ้าม่อฮ่อมสมัยโบราณ จะทำใช้ภายในครอบครัวเท่านั้น ขั้นต้นต้องถางป่าปลูกฝ้าย โดยใช้เวลาตั้งแต่วันเริ่มงอกถึงวันแตกสมอ ประมาณ ๑๒๐ วัน เก็บฝ้ายมาตากให้แห้ง จึงจะนำไปอีดเอาเม็ดออก เรียกว่า “อีดฝ้าย” แล้วนำไปยิงในอะลูนจนเป็นปุยเหมือนโรตีสายไหม
เสร็จแล้วนำมาล้อให้เป็นแท่งกลม ขนาดหัวแม่มือ ยาวประมาณ ๑ คืบ จึงจะไปปั่นเป็นเส้นด้ายกับ “หลา” เมื่อได้เส้นด้ายแล้ว เอาไปทอเป็นผ้าบนกี่ทอผ้า สุดท้ายจึงนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าด้วยมือ จะเห็นได้ว่า เป็นเพราะความมานะอดทนของบรรพบุรุษไทยพวนโดยแท้ จึงทำให้ลูกหลานไทยพวน บ้านทุ่งโฮ้งอยู่กันอย่างสุขสบายในปัจจุบัน
การนำฮ่อมมาใช้ในการย้อมเสื้อผ้าเริ่มแพร่หลายในจังหวัดแพร่ โดยเริ่มจากบริเวณแพะเมืองผี เป็นแห่งแรก หลังจากนั้นจึงได้มีการปลูกต้นฮ่อมในบริเวณใกล้เคียงและใช้ต้นฮ่อมย้อมผ้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ขบวนการย้อมม่อฮ่อมที่ภาคเหนือของประเทศไทยเริ่มจากการเอาต้นฮ่อมซึ่งเป็นพืชล้มลุก มาหมักน้ำ จนกว่าใบฮ่อมเน่ามีกลิ่นเหม็น จะได้น้ำสีเขียว เอาใบฮ่อมที่เน่าแล้วทิ้งไป เอาใบฮ่อมใหม่มาหมักในน้ำเดิมจนเน่าเหม็นเข้มข้นขึ้น จะได้น้ำฮ่อมสีฟ้า เอากากฮ่อมทิ้งไป กรองเหลือแต่น้ำฮ่อมไปหมักกับปูนแล้วกวนให้ขึ้นฟอง จะได้สีน้ำเงินแก่หรือสีครามตามที่ต้องการ
กรองเอาแต่น้ำสีใส่ในหม้อดินใบใหญ่ เรียกว่าม่อฮ่อม เมื่อจะย้อมจะใส่ขมิ้น ฝักส้มป่อยเผา น้ำด่างที่ได้จากการเกรอะขี้เถ้าและเหล้าป่าใส่ลงไป ผ้าหรือเส้นด้ายที่จะย้อมให้เป็นสีม่อฮ่อมงดงามนั้นต้องย้อมหลายๆ ครั้ง
โดยทั่วไปจะย้อมวันละสองครั้งเช้าเย็นเป็นจำนวนสามวัน บางแห่งพิถีพิถันมากจะย้อมวันละสองครั้งติดต่อกันห้าวัน ผ้าม่อฮ่อมเมื่อถูกใช้นานเข้าสีจะค่อยจางลงไป ในวิถีชีวิตดั้งเดิมนั้น เมื่อสีผ้าจางลงคนโบราณจะนำกลับมาย้อมใหม่ได้อีก จนกว่าเนื้อผ้าจะผุเปื่อย
การย้อมสีธรรมชาติ เป็นภูมิปัญญาไทยที่ได้สืบทอดกันมายาวนาน วิธีการย้อมสีเส้นใยหรือย้อมผ้าผืน เป็นพัฒนาการที่ได้ผ่านวันเวลาแห่งประสบการณ์การเรียนรู้จากธรรมชาติ ที่ในอดีตไม่มีสีย้อมวิทยาศาสตร์หรือสีสำเร็จรูป สีสันต่าง ๆ จึงมาจากธรรมชาติรอบ ๆ ตัว อาทิ ส่วนต่าง ๆ ของพืช สัตว์ และแร่ธาตุ ที่ช่างทอผ้าค้นคว้าทดลองต่อเนื่องกันมาจนเป็นมาตรฐานความรู้
น้ำฮ่อมและต้นคราม
ความสำคัญทางวัฒนธรรมพื้นถิ่นผ้าม่อฮ่อม
ผ้าม่อฮ่อมเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาวเมืองแพร่ ซึ่งจะเห็นได้จากชุดการแต่งกายพื้นเมืองของชาวแพร่ จะนิยมสวมใส่เสื้อผ้าม่อฮ่อม ที่ในอคีตจะเป็นการใส่เพื่อการประกอบอาชีพ เนื่องจากมีสีเข้ม โดยการแต่งกายของชายนั้นนิยมสวมเสื้อม่อฮ่อมคอกลม แขนสั้น ผ่าอก ติดกระดุมหรือใช้สายมัด ลักษณะคล้ายกุยเฮงของชาวจีน และกางเกงม่อฮ่อมขาก้วยใช้ผ้าขาวม้ามัดเอว
ส่วนการแต่งกายพื้นเมืองของผู้หญิง เป็นเสื้อผ้าม่อฮ่อมคอกลมแขนยาวทรงกระบอก ผ่าอกติดกระดุม และสวมผ้าถุงที่มีชื่อเรียกว่า “ซิ่นแหล้” ซึ่งเป็นพื้นสีดำมีแถบสีแดงคาดบริเวณใกล้เชิงผ้า (ยังมีต่อ)
การแต่งกายพื้นเมืองชาย-หญิง
ซิ่นแหล้
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย