Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
wuglobal
•
ติดตาม
24 พ.ค. 2022 เวลา 07:29 • สุขภาพ
แชร์หัวอกแม่แทบขาดใจ อุ้มร่างลูกไปรพ.ไหน ใครก็ไม่รับ!
รพ.ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ รักษาเด็ก2ขวบติดโควิดขั้นวิกฤติ ปลอดภัย แม่เด็กโพสต์เฟชบุ๊ก ขอบคุณสุดหัวใจทีม รพ.
นพ.รัชพล มาลา หัวหน้าแผนกแพทย์เวชปฎิบัติทั่วไป รพ.ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์(มวล.) เปิดเผยถึงการให้การรักษาเคสของเด็กชาย 2 ขวบ 11 เดือน ซึ่งป่วยเป็นโควิด-19 ด้วยภาวะไวรัสครูป ขั้นวิกฤติในช่วงปลายเดือนเมษายน-ต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้เด็กปลอดภัย หายเป็นปกติกลับบ้านได้แล้วโดยช่วงดังกล่าวรพ.ศูนย์การแพทย์ม.วลัยลักษณ์ได้รับเคสเด็กชาย
ซึ่งติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้เกิดภาวะหลอดลมส่วนต้น เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงและบวม อาการที่พบคือเด็กมีอาการไข้สูง หายใจเหนื่อยหอบ ไอเสียงก้อง และบริเวณช่วงอกบุ๋มซึ่งเกิดจากเด็กต้องใช้กล้ามเนื้อออกแรงหายใจมากกว่าปกติ ทางการแพทย์เรียกโรคไวรัสครูป หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
นพ.รัชพล กล่าวว่า ไวรัสครูปพบบ่อยในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี เกิดจากติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ชนิดโอไมครอนกำลังระบาด ทำให้เด็กติดกันได้ง่าย แสดงอาการรวดเร็วมาก โดยไวรัสครูปที่พบในเด็กนี้ เป็นอาการที่อยู่ในระดับรุนแรงเข้าขั้นวิกฤต ที่สำคัญร่างกายของเด็กมีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะอักเสบของหลอดลม จำเป็นต้องให้ยาพ่นและให้ยาฟาวิพิราเวียร์ควบคู่กันไป
นพ.รัชพล กล่าวอีกว่า ในวันแรกที่เด็กเข้ารับการรักษาเป็นช่วงเดียวกับที่โรงพยาบาลกำลังขาดแคลนยาฟาวิพิราเวียร์ แต่แพทย์ที่เข้าเวรได้ตัดสินใจขอแบ่งยาฟาวิฯจากผู้ป่วยอีกคนเฉพาะหน้าไปก่อนที่ยาชุดต่อไปจะส่งมา ให้น้องได้รับยาในเบื้องต้นเพื่ออาการไม่แย่ไปกว่านี้ หากน้องได้รับยาไม่ทันอาจส่งผลให้อาการรุนแรงขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งต่อมาทางรพ.ศูนย์การแพทย์ฯได้เห็นถึงปัญหาปริมาณยาที่ไม่เพียงพอ จึงทำการสั่งยาฟาวิพิราเวียร์มาเพิ่มและมียาเพียงพอกับผู้ป่วยให้ทันกับสถานการณ์ของโรงพยาบาล
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันถึงแม้ยอดติดเชื้อจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะเด็ก หากติดเชื้อโควิดแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจจะอันตรายถึงชีวิตได้
ต้องชื่นชมการตัดสินใจของหมอที่เข้าเวรในคืนนั้นที่ตัดสินใจในสถานการณ์ตรงหน้าได้ดีเยี่ยม ที่สำคัญเคสนี้แม่ของเด็กประเมินอาการและตัดสินใจได้ดีเช่นกัน ในเสี้ยวนาทีของชีวิต หากได้ดูแลทันและเหมาะสมก็สามารถเปลี่ยนชีวิตเด็กได้เลย ขณะนี้เด็กปลอดภัย หายเป็นปกติกลับบ้านได้แล้ว เรามองว่าโรงพยาบาลของเราเป็นส่วนหนึ่งในระบบการรักษาผู้ป่วยสามารถดูแลผู้ป่วยได้ และรู้สึกดีใจกับผู้ปกครองของเด็กด้วย” นพ.รัชพล กล่าว
ด้านคุณกรนันท์ คันศร คุณแม่ของเด็ก 2 ขวบ เล่าว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 20 เมษายน 2565 น้องมีอาการไข้ต่ำ แต่น้องยังร่าเริง จึงให้ทานยาลดไข้ไป 2 ครั้งและอุณหภูมิร่างกายยังปกติ จากนั้นประมาณ 18.00 น. ไข้เริ่มสูงขึ้น มีอาการไอเสียงคล้ายสุนัขเห่า ประมาณ 3-4 ครั้ง เหนื่อยหอบ และเมื่อหายใจหน้าอกน้องบุ๋มลงไป จึงคิดว่าน่าจะไม่ปกติแล้ว
แม่จึงตัดสินใจพาน้องไปที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งหมอได้ซักประวัติและระบุว่าน้องน่าจะติดเชื้อที่หลอดลม แต่ไม่ได้แอดมิทเนื่องจากไม่สะดวกที่จะใช้สิทธิ์การรักษา จึงขอไปรพ.ที่สามารถใช้สิทธิการรักษาได้
ต่อมาประมาณ 19.20 น.ได้เดินทางไปโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งแพทย์สงสัยว่าน้องจะติดเชื้อโควิด จึงทำการตรวจATKเบื้องต้น ผลออกมาเป็น Positive แต่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ เนื่องจากภูมิลำเนาของน้องไม่ได้อยู่ในเขตรับผิดชอบ ต้องกลับไปดำเนินการตามขั้นตอนกับโรงพยาบาลตามภูมิลำเนา
อย่างไรก็ตามหลังจากกลับไปที่บ้านอาการไข้ของน้องยังไม่ลด แม่จึงเช็ดตัวแต่เมื่อหยุดเช็ดตัว ไข้ก็กลับสูงขึ้นมาอีก เป็นอยู่อย่างนั้นหลายครั้งและไม่มีท่าทีว่าอาการไข้จะลดลง ที่สำคัญน้องมีอาการไอเสียงก้องคล้ายๆเสียงหมาเห่าอย่างต่อเนื่อง จึงได้ประสานไปที่โรงพยาบาลภูมิลำเนาอีกครั้งเพื่อนำน้องไปรักษา แต่ได้รับคำตอบว่าให้มารักษาในวันถัดไป ซึ่งขณะนั้นแม่รู้สึกเครียดและกังวลเป็นอย่างมาก
ในเวลาตี 1 ของคืนนั้น จึงตัดสินใจเดินทางมายังรพ.ศูนย์การแพทย์ม.วลัยลักษณ์ ได้รับการตอบรับจากโรงพยาบาลแห่งนี้ให้เข้ารับการรักษาโดยทันที เนื่องจากน้องมีไข้สูง39-40 องศา ต้องเร่งเช็ดตัว ทานยาลดไข้ จนไข้เริ่มลด ให้ออกซิเจน น้ำเกลือและได้รับยาเพื่อลดการอักเสบของร่างกาย ซึ่งเมื่อได้เข้ารับการรักษาผ่านไปประมาณ 2 วันน้องมีอาการดีขึ้นตามลำดับ ถือว่าโชคดีมากที่รพ.แห่งนี้รับน้องเข้ารับการรักษา
เพิ่มเติม
https://bit.ly/3wOTmDD
พันทิป
โควิด
สุขภาพ
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย