24 พ.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
หรือว่า “วิกฤตฟองสบู่ดอทคอม” จะหวนคืนมาอีกครั้งในปี 2022?
คนที่อยู่ในยุคมิลเลนเนียลน่าจะยังคงจำเหตุการณ์ที่ฟองสบู่ดอทคอมแตกในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ได้เป็นอย่างดี ความคาดหวังที่สูงเกินไปอย่างไร้เหตุผลของนักลงทุนต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ส่งผลให้ฟองสบู่เริ่มก่อตัวจนแตกในที่สุด
วันเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี เหตุการณ์หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในช่วงที่ผ่านมานี้อาจทำให้หลายคนรู้สึกเหมือนเดจาวูอีกครั้ง
ในบทความนี้ Bnomics จึงอยากจะพาทุกคนไปทบทวนความทรงจำช่วงฟองสบู่ดอทคอมดู ว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้งหรือไม่
📌 ย้อนเหตุการณ์ฟองสบู่ดอทคอม
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 วิกฤตการเงินในเอเชียและรัสเซียทำให้กองทุนเฮดฟันด์ใหญ่อย่าง Long Term Capital Management พังลง ซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพของตลาดการเงินโลก และส่งผลให้ตลาดทุนตกต่ำ อย่างไรก็ตาม
2
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ภายใต้การนำของคุณ Alan Greenspan จึงได้เข้าไปอุ้มกองทุนเฮดฟันด์นี้ และยังลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง รวมถึงส่งสัญญาณว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจว่าเขาจะไม่ยอมปล่อยให้ตลาดพัง
2
ทางอีกด้าน นักลงทุนในยุคนั้นก็แห่เอาเงินไปลงทุนในสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ด้วยหวังว่ามันจะทำกำไรให้อย่างมหาศาลในวันหนึ่ง เมื่อตลาดทุนลงเทเงินลงไปที่ภาคส่วนเทคโนโลยี
กลุ่มเทคสตาร์ทอัพเหล่านี้ก็เริ่มแข่งขันกันเพื่อให้เติบโตขึ้นได้เร็วที่สุด ด้วยการทำการตลาดเพื่อสร้างแบรนด์ของตัวเองให้แตกต่างจากคู่แข่ง ถึงขนาดที่ว่าสตาร์ทอัพบางราย ใช้เงินกว่า 90% ของงบประมาณไปกับการโฆษณา ทั้งที่แทบจะไม่มีแผนธุรกิจหรือสินค้าอะไรออกมาเป็นรูปเป็นร่างเลยด้วยซ้ำ
3
ถ้าถามว่าทำไมนักลงทุนและกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีถึงกล้าทำเช่นนั้น ก็เพราะนักลงทุนด้านเทคโนโลยีหลายคนคาดการณ์ว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็จะเข้าไปอุ้มพวกเขาอยู่ดีถ้าเกิดฟองสบู่ขึ้นในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
1
ช่วงเวลานั้นมูลค่าของหุ้นในตลาดจึงเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะดัชนี Nasdaq ซึ่งเป็นดัชนีของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเป็นหลัก ก็พุ่งขึ้นจากในระดับต่ำกว่า 1000 จุด ไปถึง 5000 จุด ในระหว่างปี 1995 ถึงปี 2000
2
แต่แล้วฟองสบู่ในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะในหุ้นที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตใหม่ๆ เริ่มค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ในช่วงปลายปี 1996 จนกระทั่งวันที่ 10 มีนาคม ปี 2000 ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 5048.62 จุด
2
บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในขณะนั้นอย่าง Dell และ Cisco จึงได้เทขายหุ้นที่ถืออยู่ในปริมาณมาก ทีนี้นักลงทุนก็เลยขายตามด้วยความตื่นตระหนก หรือที่เรียกว่า Panic sell ภายในสัปดาห์เดียวเท่านั้น มูลค่าตลาดหุ้นหายไปกว่า 10%
ในสิ้นปี 2001 มูลค่าหุ้นบลูชิพในกลุ่มเทคโนโลยีอย่าง Cisco, Intel และ Oracle ก็หายไปถึง 80% จนในเดือนตุลาคม ปี 2002 ดัชนี Nasdaq ตกลงไปกว่า 76.81% เหลืออยู่แค่เพียงหลักพันกว่าจุด และต้องใช้เวลานานนับ 15 ปี กว่าที่ดัชนี Nasdaq จะกลับไปจุดสูงสุดอีกครั้ง
1
📌 แบบนี้แล้วประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่?
กลับมาที่สถานการณ์ในปัจจุบันกันบ้าง ดัชนี S&P 500 ตกลงไปกว่า 19% นับตั้งแต่ต้นปี ส่วนดัชนี Nasdaq นั้นซ้ำร้ายยิ่งกว่า เพราะตกลงไปกว่า 28% แล้ว ในขณะที่ทางด้านของตลาดคริปโตเคอร์เรนซีก็ยับเยินไม่แพ้กัน
1
เพราะสูญเสียมูลค่าไปราวๆ กว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว เหตุการณ์เหล่านี้ จึงทำให้นักลงทุนหลายคน เริ่มกังวลว่าประวัติศาสตร์ฟองสบู่ดอทคอมจะซ้ำรอยเดิมเนื่องจากดูเหมือนว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมเลย
เพราะสิ่งที่นักลงทุนเมื่อ 20 ปีก่อน กับตอนนี้มีเหมือนกัน ก็คือการที่พร้อมจะจ่ายเงินให้กับอะไรก็ตามที่เขามองว่ามันน่าจะมีศักยภาพในการทำเงินได้ในอนาคต แม้ว่าแผนธุรกิจของบริษัทนั้นยังพิสูจน์ไม่ได้ด้วยซ้ำว่ามันจะสามารถทำกำไรได้จริงหรือไม่
2
และแน่นอนว่าสิ่งที่จะตามมาหากเกิดฟองสบู่คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession
1
📌 ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังจะตามมา
ในตอนนี้ นักลงทุนจึงต่างเริ่มกังวลว่าสถานการณ์ฟองสบู่นี้อาจก่อให้เกิดผลร้ายต่อเศรษฐกิจ และดูเหมือนว่าสิ่งที่น่ากังวลกว่านั้นคือ สถานการณ์ตอนนี้จะเลวร้ายกว่าในปี 2000 สักเล็กน้อยตรงที่ว่า ฟองสบู่ในตอนนั้นเกิดในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นหลัก ส่วนตลาดพันธบัตรก็มีผลตอบแทนดีมาก
4
ราคาบ้านและสินค้าโภคภัณฑ์นั้นก็อยู่ในระดับที่ดี ถ้าเทียบกับตอนนี้ที่ต้องเผชิญแรงกดดันจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ราคาพลังงาน ราคาเหล็ก ราคาอาหารก็สูงขึ้น
1
ส่วนตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ส่งสัญญาณซบเซา อีกทั้งธนาคารกลางยังเริ่มใช้ “ยาแรง” โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับที่ต่ำเกือบถึง 0 เพื่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 4 ทศวรรษ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัญหาร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ และเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะพาเศรษฐกิจ “Soft landing” ได้ยากขึ้น
3
ดังนั้นสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่า อาจเป็นการที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ หรือที่เรียกกันว่า Stagflation (Stagnation + Inflation) นั่นเอง
1
Bnomics ก็เลยอยากปิดท้ายบทความนี้ด้วยประโยคคลาสสิคของ Mark Twain ที่ว่า
“History doesn’t repeat itself, but it often rhymes.”
(ประวัติศาสตร์มันไม่เคยซ้ำรอยเดิมหรอก
แต่มันมักเกิดขึ้นในลักษณะที่คล้ายๆ เดิม)
Mark Twain
11
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
1
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา