26 พ.ค. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
จีนหวั่นราคาปุ๋ยเคมีทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น กระทบต้นทุนการผลิตอาหาร!!!
บริษัท CF Industries Holdings Inc. บริษัทผู้ผลิตปุ๋ยไนโตรเจนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เปิดเผยผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกของปี ค.ศ. 2022 พบว่ารายได้สุทธิของผู้ถือหุ้นสามัญเท่ากับ 883 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 485 ในขณะที่ราคาเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ของบริษัท CF Industries Holdings Inc. จำหน่ายอยู่ที่ 620 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 170
เมื่อเทียบกับราคาของปีที่ผ่านมาซึ่งมีราคาอยู่ที่ 230 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยราคาเฉลี่ยที่สูงขึ้น มีสาเหตุเนื่องจากความต้องการที่มากขึ้นจากทั่วโลก รวมถึงต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งราคาในตลาดปุ๋ยเคมีโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา จากปัจจัยด้านราคาวัตถุดิบอย่างก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้น และการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
นอกจากนี้ Bloomberg News ยังได้รายงานว่าราคาสารอาหารที่จำเป็นต่อการเพิ่มปริมาณผลธัญพืชให้สูงขึ้น ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำปุ๋ยเคมีในตลาดอินเดีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ปรับตัวสูงขึ้นถึง 2 – 3 เท่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 เป็นต้นมา
เช่นเดียวกับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียและมาตรการต่อต้านการคว่ำบาตรของรัสเซียก็ส่งผลให้ราคาปุ๋ยเคมีระหว่างประเทศมีความผันผวนด้วยเช่นกัน
ขณะที่ตัวแทนขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่าในปี ค.ศ. 2021 รัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกปุ๋ยไนโตรเจนที่ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นประเทศผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยโพแทชเซียมที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และเป็นประเทศผู้ส่งออกปุ๋ยฟอสเฟตที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก
ดังนั้น นับตั้งแต่เกิดวิกฤตรัสเซีย – ยูเครนเป็นต้นมา ส่งผลให้ราคาปุ๋ยไนโตรเจนทั่วโลก พุ่งสูงขึ้นร้อยละ 40 – 50 ส่วนราคาปุ๋ยฟอสเฟตและปุ๋ยโพแทชเซียมปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 30
เมื่อพิจารณาผลกระทบของราคาปุ๋ยเคมีที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ส่งผลให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีน้อยลงและ อาจส่งผลต่อการผลิตและผลผลิตสินค้าเกษตรของโลกที่มีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย โดยสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (International Rice Research Institute) ได้คาดการณ์ว่า ปริมาณผลผลิตข้าวของโลกจะลดลงร้อยละ 10 ในฤดูกาลหน้า
นั่นหมายความว่ามีแนวโน้มที่โลกจะสูญเสียข้าวซึ่งเป็นผลผลิตเกษตรสำคัญ ของโลกและอาหารของโลกลดลงประมาณ 36 ล้านตัน ซึ่งจะสามารถหล่อเลี้ยงประชากรโลกได้กว่า 500 ล้านคน นอกจากนี้ หากวิกฤตรัสเซีย – ยูเครนยังคงยืดเยื้อต่อไปอีก ก็อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อความปลอดภัยด้านอาหารของโลกมากขึ้นในระยะยาว
เมื่อพิจารณาราคาปุ๋ยภายในประเทศจีนจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนพบว่า ราคาของปุ๋ยยูเรีย ในประเทศในช่วงปลายเดือนเมษายน 2021 มีราคาอยู่ที่ 2,210.9 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 11,717.77 บาท ต่อตัน ได้ถูกปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็น 2,934.30 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 15,551.79 บาทต่อตัน ในปลายเดือนเมษายน 2022
โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.7 (YoY) สำหรับราคาปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (Complex Fertilizer) ในปลายเดือนเมษายน 2021 มีราคาอยู่ที่ 2,487.5 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 13,183.75 บาทต่อตัน ก็ถูกปรับขึ้นเป็น 3,861.4 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 20,465.42 บาทต่อตัน ในปลายเดือนเมษายน 2022 เช่นกัน โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.2 (YoY) (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5.3 บาท)
จากราคาปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนในการปลูกธัญพืชของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่เกษตรกรชาวจีนในมณฑลเหอหนานได้เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา ราคาปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (Complex Fertilizer) ยังมีราคาอยู่ที่ 130 หยวนต่อถุง หรือประมาณ 689 บาทต่อถุง
ขณะที่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงเพิ่มขึ้นเป็น 170 หยวนต่อถุง หรือประมาณ 901 บาทต่อถุง และราคาสูงต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ นอกจากนี้ ปุ๋ยยูเรียก็ยังปรับราคาสูงขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดด้วย ซึ่งสอดคล้องกับราคาปุ๋ยในมณฑลจี๋หลิน ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ราคาปุ๋ยเคมีที่เพิ่มสูงขึ้นมากทำให้เกษตรกรในประเทศจีนต้องแบกรับภาระหนักและมีความกังวลต่อการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งการเผชิญหน้ากับราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนได้ร่วมมือกันแก้ปัญหา เช่น การขอความร่วมมือและแจ้งเตือนผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีรายใหญ่ไม่ให้สะสมและสำรองปุ๋ยโพแทชเซียมด้วยการประมูลราคาต่ำ
การรับประกันราคาปุ๋ยเคมีจากรัฐบาล การให้เงินอุดหนุนกว่า 20,000 ล้านหยวน หรือ 106,000 ล้านบาทให้แก่เกษตรกร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรยังคงต้องเพาะปลูกเพื่อ ผลิตสินค้าเกษตรสำหรับบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งสามารถส่งออกได้หากมีปริมาณผลผลิตที่เพียงพอ เป็นต้น
ราคาปุ๋ยเคมีที่พุ่งสูงขึ้นในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อการผลิตด้านการเกษตรทั่วโลกเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเคมีเป็นหลัก จึงได้รับผลกระทบในวงกว้าง
แต่อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยสามารถนำแนวทางการแก้ไขปัญหา ของรัฐบาลจีนโดยเฉพาะการใช้มาตรการขอความร่วมมือและห้ามผู้ประกอบการรายสำคัญกระทำการที่อาจส่งผลต่อความผันผวนของราคาปุ๋ยในตลาดภายในประเทศ และสามารถพิจารณาสนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีในระยะสั้น
ตลอดจนแสวงหาแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงคุณสมบัติของปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ภายในประเทศให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการหาคู่ค้าปุ๋ยเคมีรายใหม่อยู่เสมอ รวมทั้ง นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาช่วยในการวางแผนการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวให้สามารถคาดการณ์อุปสงค์และอุปทานได้อย่างแม่นยำ
เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาด ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรไทยสามารถเพาะปลูกได้อย่างต่อเนื่อง มีปริมาณผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพ และมีสินค้าเกษตรเพียงพอต่อการบริโภคและยังสามารถส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าได้อย่างสม่ำเสมอ
ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น และสามารถทดแทนต้นทุนการผลิตที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้น ในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมโลกยังคงผันผวนเช่นในปัจจุบัน
โฆษณา