Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Visith PPTVHD36
•
ติดตาม
25 พ.ค. 2022 เวลา 05:41 • การศึกษา
เปิดเทอมนักเรียนกลับเข้าโรงเรียน หลังสถานการณ์โควิดมีแนวโน้มคลี่คลาย เตรียมเข้าสู่โรคประจำถิ่น เลยขอนำบทความเก่าเมื่อปี 2562 มาเล่าใหม่เพื่อส่งถึงเจ้ากระทรวงศึกษาธิการ และว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่
อะไรกันแน่ที่อยู่ใน “กระเป๋านักเรียนหนักๆ”
“กระเป๋านักเรียนหนัก” กลับมาเป็นกระแสในสังคมอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่พูดคุยถกเถียงเรื่องนี้กันมานานหลายปีแล้วเห็นจะได้
ที่แน่นอน คือ เด็กประถมแบกกระเป๋าหนักเกินไปไม่ดีต่อสุขภาพร่างกาย และส่งผลกระทบทางลบต่อการเรียนหนังสือของเด็ก ๆ เรื่องนี้การศึกษาวิจัยทั่วโลกยืนยันตรงกัน
ที่ไม่แน่ไม่นอน คือ การแก้ปัญหานี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
ทีมข่าวพีพีทีวีเอาตาชั่งไปสำรวจกระเป๋านักเรียนของเด็ก ๆ ที่หน้าโรงเรียน 2 แห่งก็ยังพบเด็ก ๆ ชั้นประถมหลายคนยังแบกกระเป๋านักเรียนที่มีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็นคือ ประมาณ 10-15% ของน้ำหนักตัว (ยกเว้นเด็กที่มีน้ำหนักตัวมาก)
เมื่อเรารู้ทั้งรู้ แต่ทำไมถึงยังแก้กันไม่ได้เสียที
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิด “กระเป๋านักเรียน” รื้อค้นปัญหาการศึกษาที่ซุกอยู่ในนั้นมาสะท้อนให้ฟัง
เรื่องกระเป๋านักเรียนสะท้อนปัญหาสำคัญคือ การออกแบบการศึกษายังไม่คิดถึงนักเรียนเป็นตัวตั้ง
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล
อาจารย์อรรถพล อธิบายว่า การออกแบบการศึกษาที่ว่ายังไม่นึกถึงชีวิตเด็ก คือเรื่อง “หลักสูตร” ซึ่งเป็นตัวกำหนด “วิชา” และแต่ละวิชาก็จะมีหนังสือ หรือเอกสารประกอบจึงทำให้เกิดภาพสะท้อนอย่างหนึ่งผ่านกระเป๋านักเรียน
หากมองผ่านแว่นตาคนชั้นกลางมีรถรับส่งนักเรียนลงจากรถแบกกระเป๋าเดินเข้าโรงเรียน แต่ถ้าเป็นเด็กทั่วไปปั่นจักรยาน ขึ้นรถเมล์ แบกกระเป๋านักเรียนไปกลับโรงเรียน คงทำให้เห็นภาพ
ขณะที่ครู และโรงเรียนแต่ละแห่งก็มีความเอาจริงเอาจังกับแก้ปัญหาเรื่องนี้แตกต่างกันไป
อาจารย์อรรถพลยกตัวอย่างเรื่องการจัด “ตารางสอน” ซึ่งโรงเรียนหลายแห่งได้แก้ปัญหาไปแล้ว เช่น เปลี่ยนตารางสอนจากวันละ 7-8 วิชา ลดลงเหลือ 4 วิชา แต่ละวิชาจะใช้เวลานานขึ้น โดยมีการทำกิจกรรม และทำการบ้านให้เสร็จ แต่โรงเรียนบางแห่งก็ยังจัดตารางสอนแบบเดิม ๆ ทั้งที่ยืดหยุ่นได้
ใน “กระเป๋านักเรียน” มีปัญหาเชิงระบบการศึกษาอะไรซุกอยู่ในนั้นบ้าง อาจารย์อรรถพลเห็นว่ามีด้วยกัน 4 เรื่องหลัก ๆ ซึ่งนี่จะเป็นโอกาสให้เราทบทวนแก้ไข
1.จำนวนหนังสือเรียนและความหนาของหนังสือในแต่ละวิชา เช่น อยากทำหนังสือสวย ๆ จึงต้องใช้กระดาษดี ๆ ก็ยิ่งทำให้หนังสือหนาขึ้น
2.การบ้านแต่ละวันควรสอดคล้องกับชีวิตเด็ก เช่น เด็กเล็กบางคนไม่มีพ่อแม่ช่วยสอนการบ้าน
3.การจัดตารางสอน แบบใหม่ ๆ
4.การเดินเรียน เพราะมีห้องเรียนจำนวนไม่น้อยถูกใช้ไปเพื่อการอื่นด้าน
ด้าน ศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งเน้นไปที่ “หลักสูตร 8 กลุ่มสาระ” ว่าเป็นต้นตอปัญหา
หลักสูตร 8 กลุ่มสาระเยอะมาก 20 วิชาเมื่อแตกออกเป็นสาระรายวิชา สิ่งที่ตามมาคือจำนวนหนังสือมาก แบบฝึกหัดก็มากตาม สะท้อนปัญหากระเป๋าหนักจนหลังแอ่น ปัญหานี้มีมานานแล้ว พูดกันมา 2-3 ครั้ง วูบวาบครั้งนี้ก็ขออย่าให้เป็นไฟไหม้ฟาง
ศ.สมพงษ์ จิตระดับ
อาจารย์สมพงษ์ เสนอว่า ควรลดลงเหลือสัก 4 กลุ่มสาระแล้วไปเพิ่มเรื่องทักษะ สมรรถนะ และกระบวนการเรียนรู้
รับฟังมุมมองจากอาจารย์ทั้งสองคนที่มีต่อ “การศึกษาไทย” ผ่านปรากฏการณ์ “กระเป๋านักเรียนหนัก” แล้ว ขอฝากไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ และผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ ช่วยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการศึกษาไทยให้ออกจากวังวนเดิม ๆ เสียที.
การศึกษา
ยกระดับการศึกษา
เลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพ
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย