25 พ.ค. 2022 เวลา 07:03 • ศิลปะ & ออกแบบ
เครื่องทองลงหิน หรือทองม้าฬ่อ
“เครื่องทองลงหิน (BRONZE WARE )” หรือทองม้าฬ่อ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน และนำเข้ามาในประเทศไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยการนำเข้ามาในลักษณะของการนำ “ทองม้าฬ่อ” มาใช้เป็นวัตถุดิบ
ทองม้าฬ่อ เป็นชื่อเรียกของ วัตถุ (ทอง) ที่หลอมมาจาก “โล่โก๊ะ” (ลักษณะคล้ายฆ้อง ที่ใช้สำหรับตีในการออกศึก) เป็นส่วนผสมของดีบุกและทองแดง
ในยุคแรกช่างฝีมือไทยยังคงผลิตเฉพาะขันทองลงหินตามแบบโบราณ จนกระทั่งเริ่มทำเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เช่น ช้อน ส้อม มีด ทัพพี ด้วยเครื่องทองลงหิน เมื่ออารยะธรรมตะวันตกเข้ามาในประเทศ
และด้วยฝีมือของช่างไทยที่ดีเยี่ยม ไม่ว่าจะมีผู้ทำเลียนแบบขายในราคาถูกกว่า แต่เครื่องทองลงหิน โดยเฉพาะอย่าง “ขันลงหิน” ที่จัดเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจาก รุ่นสู่รุ่น เป็นหัตถกรรมอันประณีตที่รวบรวมงานช่างจากหลายแขนงมารังสรรค์จนเป็น ขันลงหิน ที่มีรูปแบบอันวิจิตร งดงาม สะท้อนถึงภูมิปัญญาการผลิตภาชนะของคนโบราณสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ขันลงหิน - บ้านบุ
กว่าจะเป็นเครื่องทองลงหิน
ขั้นตอนการผลิต เครื่องทองลงหิน ส่วนใหญ่เป็นการผสมระหว่างเครื่องจักรและฝีมือแรงงานของช่าง ที่มีความชำนาญ ซึ่งแบ่งตามการทำงานของช่างเป็น 6 ขั้นตอน ดังนี้
1. ช่างตี ถือเป็นหัวใจ ต้องใช้ความเชี่ยวชาญความแม่นยำ และประณีตในการปฏิบัติงานอย่างมาก เริ่มตั้งแต่นำวัตถุดิบ ซึ่งประกอบด้วย ทองแดง 7 ส่วน ดีบุก 2 ส่วน และเศษสำริด 1 ส่วน มาย่อยลงเบ้าหลอมบนเตาตี ที่โหมด้วยไฟแรงสูงต่อเนื่อง จนโลหะหลอมละลายเข้าเป็นน้ำทองเนื้อเดียวกัน ทิ้งให้เย็นเป็นก้อน จากนั้นนำมาเผาไฟแดงแล้วตี และดัด จนได้เป็นรูปทรงตามต้องการ
2. ช่างลาย ทำหน้าที่ตีเก็บรอยค้อนทำให้เนื้อภาชนะเรียบเสมอกัน ก่อนตีลายต้องทาดินหม้อให้ทั่วภาชนะ เพื่อให้ผิวมีความลื่น ไม่ฝืดเวลาตี
3. ช่างกลึง ทำหน้าที่กลึงผิวภาชนะให้เรียบเสมอกัน
4. ช่างกรอ เดิมเรียกกว่า ช่างตะไบ เพราะช่างใช้ตะไบเป็นเครื่องมือตกแต่งผิว
5. ช่างเจียร เป็นขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นมาจากโบราณ ใช้เครื่องเจียไฟฟ้า เพื่อตกแต่งตำหนิต่างๆ
6. ช่างขัด ใช้หินเนื้อละเอียดขัดภาชนะให้ขึ้นเงา ต่อชิ้นใช้เวลารวม 4 วัน
เป็นที่น่าเสียดายว่า แหล่งผลิตงานหัตถกรรมเครื่องทองลงหินในปัจจุบัน พบว่าจำนวนผู้ผลิตเหลือน้อยราย อาจเป็นเพราะว่าเป็นการผลิตในอุตสาหกรรมครัวเรือน ที่ถูกสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และ/หรือมีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขัน เครื่องทองลงหินที่เคยเป็นที่นิยมอย่างสูง จนช่างทำกันไม่ทัน จึงเกิดผลกระทบให้ตลาดเครื่องทองลงหินซบเซาลงเรื่อยๆ
ถึงวันนี้ กล่าวได้ว่า เหลือแค่โรงงานขันลงหินบ้านบุ “เจียมแสงสัจจา” และ”ศูนย์หัตถกรรมทองลงหิน ชุมชนประดิษฐ์โทรการ 47-49” เท่านั้นที่ยังเป็นผู้ผลิตงานมรดกชิ้นนี้ในประเทศไทย
แหล่งที่มาข้อมูล
ตะลอนทัวร์ OTOP. (9 มี.ค. 2550)./เครื่องทองลงหินบ้านบุ ตำนานมีชีวิตหนึ่งเดียวในไทย./ MGR Online./https://mgronline.com/smes/detail/9500000026503
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป.). /ขันลงหิน-บ้านบุ./ https://zhort.link/Nol
โฆษณา