25 พ.ค. 2022 เวลา 09:40 • การศึกษา
[ตอนที่ 67] สรุปเนื้อหาการเสวนาเรื่อง "ภาษาไทยในโลกกว้าง : การเรียนการสอนและการวิจัยภาษาไทยในบริบทนานาชาติ"
เนื้อหาในบล็อกตอนนี้จะเป็นเนื้อหาที่ “หนุ่มมาเก๊า” สรุปมาจากการเสวนาทางวิชาการ “ภาษาไทยในโลกกว้าง : การเรียนการสอนและการวิจัยภาษาไทยในบริบทนานาชาติ” ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.2021 ซึ่งทาง “หนุ่มมาเก๊า” เคยลงใน FB ส่วนตัวก่อนที่จะนำมาลงในบล็อกแห่งนี้ครับ
[Credit ภาพ : สถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาฯ]
[อาจารย์ผู้สอนภาษาไทยในมหาวิทยาลัยที่มาร่วมเสวนา]
- Prof. Bo Wenze ภาควิชาภาษาไทย คณะภาษาต่างประเทศ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง
- Assoc.Prof. Kyung-Eun Park ภาควิชาภาษาไทย คณะภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยฮันกุกภาษาและกิจการต่างประเทศ กรุงโซล เกาหลีใต้
- ศ.ดร. มารศรี มิยาโมโต สาขาไทยศึกษา คณะต่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยโอซากะ
หากใครต้องการที่จะดูการเสวนาออนไลน์ครั้งนี้ย้อนหลัง สามารถดูได้ที่ FB คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ : https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=3031841720382908
[ที่มาของภาพ : คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ]
สำหรับเนื้อหาที่ถอดจากการเสวนา ผมจะแยกเนื้อหาที่ออกเป็นประเด็นหลัก ๆ ดังนี้ครับ
1) เนื้อหาเรื่องการเรียนการสอนภาษาไทยส่วนที่สอดคล้องกันทั้งใน 3 ประเทศ
2) การเรียนการสอนและการวิจัยภาษาไทยในประเทศจีน
3) การเรียนการสอนและการวิจัยภาษาไทยในประเทศญี่ปุ่น
4) การเรียนการสอนและการวิจัยภาษาไทยในประเทศเกาหลีใต้
เนื้อหาในตอนนี้จึงเหมาะกับคนที่สนใจเรื่องของภาษาไทย ในแง่มุมของ “ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ” ของคนต่างชาติ ที่แตกต่างออกไปจาก “ภาษาไทยในฐานะภาษาแม่” ของคนไทยครับ
หากพร้อมแล้ว…เชิญอ่านได้เลยครับ
[Credit แผนที่ : unicpress.com]
1) เนื้อหาในการเสวนาส่วนที่สอดคล้องกันทั้ง 3 ประเทศ (จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้)
- ภาษาไทยเป็น "ภาษาต่างประเทศที่มีคนเรียนในระดับกลาง ๆ" ไม่ได้เป็น "ภาษาต่างประเทศยอดนิยม" (แบบภาษาสเปน ภาษาฝรั่งเศส ภาษารัสเซีย ภาษาเยอรมัน) แต่ก็มีคนสนใจจำนวนหนึ่ง เนื่องจากเรื่องการค้าขาย ธุรกิจ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว อาหารไทย ละครไทย
- สถานการณ์โควิดทำให้การเรียนการสอนภาษาไทยในมหาวิทยาลัยทั้งสามประเทศเป็นไปได้ยากขึ้น เช่น ช่วงปรับตัวเข้าสู่การเรียนออนไลน์ การจัดกิจกรรมเสริมการใช้ภาษาและกิจกรรมทางวัฒนธรรมไทยที่เกี่ยวข้อง (ชมรมแปลข่าวภาษาไทย ชมรมสนทนาภาษาไทย การแสดงละครภาษาไทย รำไทย ประกวดสุนทรพจน์) รวมถึงการส่งนักศึกษาไปแลกเปลี่ยนที่ไทยเพื่อผลักดันและฝึกการใช้งานภาษาจริง
ซุ้มประตูในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง [Credit ภาพ : Peking University Institute of Social Science Survey]
2) การเรียนการสอนและการวิจัยภาษาไทยในประเทศจีน
ลักษณะเฉพาะตัวของจีน : ประเทศที่มีจำนวนมหาวิทยาลัยเปิดสอนวิชาภาษาไทยมากที่สุด และความใกล้ชิดทางภาษาจากกลุ่มชาติพันธุ์ไต
- เปิดสอนภาษาไทยมาแล้ว 75 ปี ในช่วงแรกเริ่มมีมหาวิทยาลัย 3 แห่งเปิดสอนภาษาไทยเป็นสาขาเอก มาเพิ่มขึ้นช่วงหลังจีนเปิดประเทศ (ด้วยปัจจัยด้านการเดินทางติดต่อค้าขาย การทูต การท่องเที่ยว ละคร)
- ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนภาษาไทยมากกว่า 50 แห่ง ตามเขตปกครองต่าง ๆ เช่น กรุงปักกิ่ง เมืองซีอาน เมืองกว่างโจว มณฑลเสฉวน กวางตุ้ง กวางสี ยูนนาน
อย่างในกวางสี มีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนวิชาเอกภาษาไทยมีถึง 14 แห่ง ส่วนในยูนนานมีมหาวิทยาลัยเปิดสอนภาษาไทยเยอะพอสมควร เพราะอยู่ใกล้ไทยและเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์
- จีนเคยมีช่วงที่ต้องการคนใช้ภาษาไทยน้อย เพราะใช้แต่งานด้านการทูตระหว่างรัฐบาล หลังจีนเปิดประเทศ มีการติดต่อระหว่างจีน-ไทยมากขึ้น จึงเปิดรับนักศึกษาในสาขาเอกภาษาไทยมากขึ้น รวมถึงมีนักศึกษาต้องการเรียนเป็นวิชาเลือกมากขึ้น (แทนที่จะเรียนเป็นสาขาวิชาเอก)
นอกจากนี้ ยังต้องการนักศึกษาที่ไม่ได้รู้ภาษาอย่างเดียว แต่ต้องการผู้เชี่ยวชาญสาขาเฉพาะด้านที่รู้ภาษาไทย (อาจารย์คนจีนสอนภาษาไทยมาวิจัยด้านภาษาศาสตร์เกี่ยวกับภาษาไทยมากขึ้น)
- อาจารย์คนจีนสอนภาษาไทยสมัยก่อนต่างฝ่ายต่างสร้างตำรา แบบตัวใครตัวมัน ไม่มีมาตรฐาน
- จำนวนอาจารย์คนจีนสอนภาษาไทย มักไม่เกิน 5 คน/มหาวิทยาลัย
ตัวอย่างหนังสือเรียนภาษาไทย ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง
- การวิจัยเกี่ยวกับภาษาไทยในจีนเริ่มช้ากว่าในญี่ปุ่น เริ่มมีการวิจัยหลังเริ่มการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย
- ตัวอย่างหัวข้อวิจัยภาษาไทยในจีน : ภาษากลุ่มชาติพันธุ์ไตอย่างภาษาจ้วง เปรียบเทียบกับภาษาไทย ภาษาลาว (ซึ่งสมัยก่อนไม่อนุญาตให้วิจัยภาษาไทยเพราะถือเป็นภาษาต่างประเทศ) โครงสร้างภาษาไทย ไวยากรณ์ ภาษาศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (sociolinguistic) การศึกษารูปแบบและสัญลักษณ์ทางภาษา (typology)
- การวิจัยด้านภาษาไทยของอาจารย์คนจีนส่วนหนึ่งวิจัยเพื่อให้ได้ตำแหน่งทางวิชาการ แต่ก็เกิดคำถามว่าทำวิจัยไปเพราะอะไร เพื่ออะไร และงานวิจัยกลับประยุกต์กับด้านอื่นได้มากกว่าด้านการเรียนการสอนภาษาไทย
ตำราเรียนภาษาไทย (タイ語 "ไทโกะ") บนชั้นหนังสือที่ร้านหนังสือในกรุงโตเกียว [ภาพโดย "หนุ่มมาเก๊า"]
3) การเรียนการสอนและการวิจัยภาษาไทยในประเทศญี่ปุ่น
ลักษณะเฉพาะตัวของญี่ปุ่น : เริ่มการเรียนการสอนและการวิจัยภาษาไทยก่อนจีนและเกาหลีใต้
- เริ่มสอนภาษาไทยโดยการส่งนักศึกษาคนญี่ปุ่นมาเรียนภาษาไทยที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับมาเปิดสาขาวิชาภาษาไทยในมหาวิทยาลัยโตเกียวต่างประเทศศึกษา (Tokyo University of Foreign Studies / ชื่อย่อ 東京外大 "โตเกียวไกได" หรือ TUFS)
- คนญี่ปุ่นที่เรียนภาษาไทยมีหลายวัย ตั้งแต่คนแก่รุ่นที่ผ่านสงครามโลกในไทย หรือเคยทำงานหรือทำธุรกิจในไทย ไปจนถึงวัยรุ่น (มาเที่ยว อาหารไทย ละครไทย)
หนังสือเรียนภาษาไทยสำหรับนักธุรกิจหรือพนักงานชาวญี่ปุ่นในสนามกอล์ฟ [ภาพโดย "หนุ่มมาเก๊า"]
- ม.เทงริที่ จ.นาระ เคยเปิดวิชาเอกไทย (ภาควิชาไทยศึกษา) นานกว่าสิบปีก่อนปิดสาขาลงไปแล้วและกลายเป็นวิชาเลือก ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมี 3 มหาวิทยาลัยที่เปิดสาขาเอกเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมไทย (ม.คันดะ ม.โอซากะ ม.โตเกียวต่างประเทศศึกษา)
- แต่เดิมนั้น นักศึกษาคนญี่ปุ่นที่เลือกสาขาเอกภาษาไทย เดิมเพราะพลาดจากสาขาเอกภาษายอดนิยม (อย่างภาษาสเปน) พักหลังมี นักศึกษาที่เลือกสาขาเอกภาษาไทยเป็นตัวเลือกแรกมากขึ้น (เพราะสนใจวัฒนธรรม) แต่ยังมีนักศึกษาที่เลือกสาขาวิชาภาษาไทยไม่มาก
ขณะที่มีนักศึกษาจากคณะอื่นเรียนภาษาไทยเป็นวิชาเลือกพอสมควร (รวมถึงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทย-ญี่ปุ่นตามคณะอื่น ๆ) ซึ่งสอดคล้องกับการที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจภาษาเอเชียมากขึ้นในระยะหลังประมาณ 1980s เป็นต้นไป (ใน ASEAN : ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย)
บริษัทอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นต้องการคนญี่ปุ่นที่รู้ภาษาไทยมากขึ้น เพื่อส่งไปประจำที่ไทย (ช่วงที่การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยบูม) หรือกระทรวงการต่างประเทศ
หนังสือเรียนภาษาไทยขั้นต้นสำหรับคนญี่ปุ่น ที่มีตัวเอกในบทเรียนเป็นพนักงานบริษัทคนญี่ปุ่นที่ถูกส่งมาทำงานในไทย [ภาพโดย "หนุ่มมาเก๊า"]
- ความท้าทาย : การเขียนตำราสอนภาษาไทยที่เป็นภาษาแบบเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ภาษาแบบตำราเรียน (เช่น การใช้คำ “สวัสดี” “คุณ” การไหว้) จึงพยายามแทรกเรื่องวัฒนธรรมในวิถีชีวิตที่แฝงกับภาษา
- ปัญหาที่ 1 : ตำราเรียนภาษาไทยสำหรับคนญี่ปุ่นยังไม่มีการปรับมาตรฐาน (ตำรามหาวิทยาลัยหนึ่งอาจไม่เหมาะกับอีกมหาวิทยาลัย) ญี่ปุ่นมีหลายสถาบันแข่งกันสร้างมาตรฐานของตัวเอง แต่ในที่สุดยังไม่มีมาตรฐานกลางที่ตกลงร่วมกัน จึงส่งผลให้ยังไม่มีมาตรฐานในเรื่องตำราด้วย
- ปัญหาที่ 2 : พจนานุกรมไทย-ญี่ปุ่น ราคาแพงมากในตลาดหนังสือญี่ปุ่น ไม่เอื้อต่อนักศึกษา และยังไม่มีพจนานุกรมญี่ปุ่น-ไทยที่ดีเท่าพจนานุกรมไทย-ญี่ปุ่น
- ตัวอย่างหัวข้อวิจัยเกี่ยวกับภาษาไทยในญี่ปุ่น : วิจัยเชิงอักษรศาสตร์
--> รุ่นเก่า : แบบลักษณ์ภาษา (typology) ไวยากรณ์ มากกว่าแนวภาษาศาสตร์เชิงสังคมวิทยา
--> รุ่นใหม่ : การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural language processing), การแปลด้วยเครื่องจักรหรือปัญญาประดิษฐ์ (Machine/AI translation - การแปลหรือการใช้ภาษาในคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต สังคมออนไลน์), ภาษาไทยในการ์ตูนแปล, ภาษาพูดแบบไม่สุภาพ (พวกคำกูมึง)
หน้าปกตำราเรียนภาษาไทยมาตรฐานสำหรับคนเกาหลีใต้ ระดับ A0-A2 จัดทำโดยภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุกภาษาและกิจการต่างประเทศ (HUFS) [ที่มาของภาพ : Kyobo Book Centre]
4) การเรียนการสอนและการวิจัยภาษาไทยในประเทศเกาหลีใต้
ลักษณะเฉพาะตัวของเกาหลีใต้ : กฏหมาย "ภาษายุทธศาสตร์" ของรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีมุนแจอิน ทำให้เกิดการปรับมาตรฐานการเรียนการสอนและข้อสอบภาษาไทยในเกาหลีใต้
- เริ่มการเรียนการสอนภาษาไทยช้ากว่าในญี่ปุ่นกับจีน โดยเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยฮันกุกภาษาและกิจการต่างประเทศ (HUFS) หลังสงครามเกาหลี ภาษาไทยมาช่วงกลาง ๆ ในฐานะภาษาสำคัญทางยุทธศาสตร์ (ร่วมกับภาษาอินโดนีเซียกับภาษาเวียดนาม)
- ปัจจุบัน มี 3 ภาควิชาใน 2 มหาวิทยาลัยที่สอนด้านภาษาและวัฒนธรรมไทย ได้แก่ ภาควิชาภาษาไทย ภาควิชาการล่ามและการแปลภาษาไทย ใน HUFS กรุงโซล กับภาควิชาภาษาไทยในมหาวิทยาลัยพูซันภาษาและกิจการต่างประเทศ (BUFS) เมืองพูซัน
หน้าปกตำราเรียนภาษาไทยมาตรฐานของมหาวิทยาลัยพูซันภาษาและกิจการต่างประเทศ (BUFS)
- นักศึกษาคนเกาหลีใต้เลือกสาขาเอกภาษาไทยมากขึ้น เนื่องจากหลายปัจจัย
--> นโยบายการต่างประเทศ "มุ่งใต้ใหม่" ของอดีตประธานาธิบดีมุนแจอิน (เน้นเอเชียใต้+ASEAN)
--> กฎหมายส่งเสริมการเรียนการสอนภาษายุทธศาสตร์ 53 ภาษา (เลยมีคอร์สเรียนภาษาต่างประเทศที่หายากจำนวนมากในเวบไซต์เรียนออนไลน์ระดับชาติ K-MOOC)
--> การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระดับบุคคลระหว่างไทย-เกาหลีใต้
--> ธุรกิจเกาหลี (K-Pop แฟชั่น เกม แม้ว่าจะมีอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ย้ายออกจากไทยส่วนหนึ่ง)
- นโยบาย "ภาษายุทธศาสตร์" ของเกาหลีใต้ : ส.ส.เกาหลีใต้กำหนดเลือกภาษายุทธศาสตร์ จากภาษาที่มีคนเรียนน้อยกว่าภาษายอดนิยม แต่ประเทศที่ใช้ภาษานั้นมีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ การทูต ความมั่นคง มีจุดมุ่งหมายให้มีบุคลากรคนเกาหลีใต้ที่ใช้ภาษานี้ได้คล่องภาษาละ 5-6 คน
- จากนโยบาย "ภาษายุทธศาสตร์" งบประมาณลงจากรัฐบาลเกาหลีใต้ลงมาในด้านภาษาต่างประเทศในปี ค.ศ.2018 เริ่มการสร้างหลักสูตรมาตรฐานด้านการเรียนการสอนภาษาไทย (มีระดับ A0 เรื่องอักษร ระบบวรรณยุกต์ แล้วไล่ตามระดับทักษะภาษาแบบ CEFR ของยุโรปถึง C2) ตอนนี้กำลังทำตำรา A0-B2 และดำเนินการสร้างข้อสอบภาษาไทยมาตรฐาน เพื่อจะใช้ในอนาคต โดยระดับ A0-A1 ฝั่งฮันกุกทำและใช้ร่วมกับฝั่งพูซัน ตั้งแต่ A2 ต่างฝ่ายต่างทำ
**สำหรับเรื่องนโยบาย "ภาษายุทธศาสตร์" ของรัฐบาลเกาหลีใต้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.blockdit.com/posts/610c2530bbe63b085673b498
- ความท้าทายในอดีต : สอนอย่างไรให้นักศึกษาพูดภาษาไทยได้ดี สอนอย่างไรให้เป็นระบบ เน้นทักษะภาษาทั้งสี่ (ฟังพูดอ่านเขียน)
การสอนภาษาไทยแบบใหม่ จะเน้นเสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น การสื่อสารเป็นอันดับรองเนื่องจากอิทธิพลของการพัฒนาด้าน IT ที่ฉับไวทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างตลอดเวลา
- ความท้าทายใหม่ :
--> "เรียนภาษาต่างประเทศแล้วเดี๋ยวคอมพิวเตอร์ก็มาแทน" ซึ่งกำลังหาทางออกกัน
--> การเรียนภาษาไทยของคนเกาหลีใต้ให้เก่งระดับเจ้าของภาษานั้นยากมากและมีคู่แข่ง (คนไทยที่พูดเกาหลี คนเกาหลีที่โตในไทย) จึงเน้นเนื้อหาเชิงไทยศึกษามากขึ้น (การล่าม การแปล สังคม การเมือง ประวัติศาสตร์)
- ตัวอย่างหัวข้องานวิจัยด้านภาษาไทยในเกาหลีใต้ :
--> แนวโน้มเดิม : แนวการสอนภาษาเกาหลีแก่คนไทย การสอนภาษาไทยให้คนเกาหลี ภาษาศาสตร์เปรียบเทียบไทย-เกาหลี
--> แนวโน้มใหม่ : การสร้างคลังข้อมูลภาษาไทย, วิธีการสอนภาษาไทยด้วยโปรแกรมหรือสื่อออนไลน์, การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural language processing) และ การแปลด้วยเครื่องจักรหรือปัญญาประดิษฐ์ (Machine/AI translation - พวกบริษัท Naver Kakao LG Samsung และรัฐบาลเกาหลีใต้ต้องการ)
จากเนื้อหาที่ผมสรุปจากงานเสวนาวิชาการออนไลน์ “ภาษาไทยในโลกกว้าง : การเรียนการสอนและการวิจัยภาษาไทยในบริบทนานาชาติ” ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของ “ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ” สำหรับคนต่างชาติในปัจจุบัน ทั้งในด้านการเรียนการสอนและการวิจัย รวมถึงแง่มุมที่ส่งผลให้คนต่างชาติสนใจภาษาไทย โดยมีตัวอย่างจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ครับ
ทาง “หนุ่มมาเก๊า” จะพยายามถอดหรือสรุปเนื้อหาจากการเสวนาวิชาการทางด้านภาษาและวัฒนธรรมในประเด็นอื่น ๆ ที่สนใจมาลงบล็อกแห่งนี้ หากใครสนใจหรือชอบการถอดหรือสรุปเนื้อหาการเสวนาเหล่านี้ สามารถกดติดตามบล็อกแห่งนี้บน Blockdit ได้ครับ
แล้วพบกันใหม่ในตอนต่อไปครับ
โฆษณา