25 พ.ค. 2022 เวลา 08:06 • ไลฟ์สไตล์
ผ้าม่อฮ่อม จังหวัดแพร่ (ตอนจบ)
ลักษณะการใช้สอย
เสื้อม่อฮ่อม คือเอกลักษณ์การแต่งกายของชาวเหนือ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่เมือง หันไปทางไหนก็จะมีแต่คนใส่เสื้อม่อฮ่อม ในปัจจุบันมีการนำผ้าม่อฮ่อมมาตัดเย็บในหลายรูปเพิ่มขึ้น นอกจากเสื้อคอกลมแบบคลาสิก ยังมีเสื้อคอจีน ผ้าพันคอ ผ้านุ่ง ผ้าถุง และผ้าฮ่อมบาติกสไตล์เพนต์ผ้าแบบชาวปักษ์ใต้ก็มี
1
และถ้าย้อนยุคสืบค้นในภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน มีการนำผ้าฮ่อมมาห่อเป็นลูกประคบสมุนไพรด้วย ชาวพื้นเมืองเผ่าต่าง ๆ ในภาคเหนือตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน นิยมใช้เสื้อผ้าม่อฮ่อมที่มาจากเมืองแพร่ และถ้าพูดถึงม่อฮ่อมแท้ต้องเป็นม่อฮ่อมแพร่เท่านั้น ชื่อเสียงของผ้าม่อฮ่อมแพร่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป
ทั้งนี้เนื่องจากมีคุณภาพ ความคงทนของเนื้อผ้าและสีม่อฮ่อมที่ใช้ย้อมผ้า ตลอดจนรูปแบบเรียบง่ายสะดวกต่อการสวมใส่ในหลายโอกาส
คนแพร่สวมใส่เสื้อม่อฮ่อม ในวันสงกรานต์สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่
ลักษณะการใช้สอยของผ้าม่อฮ่อมแบ่งออกตามประเภทการผลิต ได้ดังนี้
๑. ม่อฮ่อมทอมือดั้งเดิม เป็นการผลิตที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม โดยใช้คราม หรือฮ่อมในการย้อมเส้นฝ้ายและทอด้วยกี่มือพื้นบ้าน แล้วนำมาตัดเย็บด้วยมือ หรือใช้จักรเย็บผ้า ลักษณะการใช้สอยของผลิตภัณฑ์จากผ้าม่อฮ่อมทอมือดั้งเดิม มักจะนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อ และผลิตภัณฑ์เพื่อการใช้สอยต่างๆ เช่น.ผ้าจก ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้ารองจาน กระเป๋า เป็นต้น
ผ้าฮ่อมเทคนิคมัดหมี่
๒. ม่อฮ่อมจกมือ หรืออาจเรียกว่า ผ้าซิ่นม่อฮ่อมจกมือ เป็นการผลิตผ้าม่อฮ่อมที่เป็นการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการจกและย้อมด้วยวิธีดั้งเดิม เป็นการใช้วัตถุดิบธรรมชาติในการย้อม คือ ต้นฮ่อม และต้นคราม ผ้าม่อฮ่อมจกมือนี้ ส่วนใหญ่นำมาตัดเย็บเป็น ผ้าซิ่น ที่ใช้สวมใส่ในงานประเพณีสำคัญ ๆ และงานเทศกาลต่าง ๆ
ผ้าซิ่นม่อฮ่อมจกมือ
๓. ม่อฮ่อมประยุกต์ เป็นการนำต้นฮ่อม ต้นคราม และ/หรือ ต้นฮ่อมเครือ มาใช้ในการย้อมเป็นการย้อมสีธรรมชาติ อาจมีการพิมพ์ ผ้าม่อฮ่อมประยุกต์มักจะนำมาตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ผ้าปูที่นอน หมอน ผ้าคลุมเตียง ผ้าม่าน โคมไฟ ผ้าปูโต๊ะ พรมตกแต่งผนัง พรมปูพื้น ที่รองแก้วรองจาน เป็นต้น
เสื้อยืดพิมพ์และมัดย้อมด้วยสีฮ่อม ผลิตภัณฑ์จากร้านแก้ววรรณา
แหล่งผลิตผ้าม่อฮ่อม
ผ้าม่อฮ่อมในเมืองแพร่มีแหล่งผลิตที่สำคัญ ๔ แหล่งใหญ่ ๆ ซึ่งได้แก่ กลุ่มผลิตผ้าม่อฮ่อมบ้านพระหลวง บ้านเวียงทอง บ้านทุ่งโฮ้ง และบ้านประนอม ทาแปง โดยผ้าม่อฮ่อมจากแหล่งผลิต ๓ แห่งข้างต้น จะเป็นการผลิตผ้าม่อฮ่อมที่มีการย้อมโดยใช้ลักษณะของวิธีที่เรียกว่า “จกม่อฮ่อม” (การจก เป็นภาษาเรียกการย้อมผ้าม่อฮ่อมของชาวแพร่ เป็นกระบวนการนำผ้ามาจุ่มลงในโอ่ง)
ซึ่งเป็นเทคนิคของการย้อมผ้าม่อฮ่อมที่ต้องการให้ได้ผ้าม่อฮ่อมที่มีสีเข้มจนเกือบดำ แต่สีที่ใช้ในการย้อมจะเป็นครามเกล็ดที่มาจากโรงงาน คุณภาพของผ้าม่อฮ่อมที่ได้จึงเป็นผ้าม่อฮ่อมที่มีสีตกเยอะ เพราะจะมีสีส่วนเกินตกค้างอยู่ที่ผิวของเส้นใยผ้าเป็นจำนวนมาก
อนึ่งผ้าม่อฮ่อมที่ผลิตที่ บ้านป้าเหลือง ทองสุข กลุ่มบ้านทุ่งโฮ้ง จะมีการสร้างลวดลายบนผ้าม่อฮ่อมด้วยเทคนิคบาติก โดยการพิมพ์เทียนลงไปบนผ้าขาวแล้วนำไปย้อมสีม่อฮ่อม
ส่วนผ้าม่อฮ่อมของบ้านประนอม ทาแปง จะเป็นการผลิตผ้าม่อฮ่อม ด้วยวิธีธรรมชาติที่ครบวงจร คือ ตั้งแต่ การปลูกต้นฮ่อม การเตรียมสี การย้อม การทอที่มีการสร้างลายบนผ้าด้วยเทคนิคการจก และ เทคนิคมัดหมี่ผ้าม่อฮ่อมที่ผลิตที่ บ้านประนอม จะเป็นผ้าม่อฮ่อมที่สีไม่ตก
นอกจากนี้ยังมี แหล่งผลิตผ้าม่อฮ่อมย้อมธรรมชาติ แก้ววรรณา อีกแห่งหนึ่ง ที่ผลิตผ้าม่อฮ่อม และผลิตภัณฑ์ จากผ้าม่อฮ่อม ที่ควบคุมกระบวนการผลิต ให้เป็นธรรมชาติได้ทุกขั้นตอน
การสืบทอดจากภูมิปัญญาผ้าม่อฮ่อม
ผ้าม่อฮ่อม จังหวัดแพร่ได้รับการสืบทอด จากคนเชื้อสายลาวพวน หรือ ไทพวน ที่สยามส่งกองทัพไปลาว ได้คนเชื้อสายลาวพวนมาไว้ที่ทางทิศเหนือของเมืองแพร่ คือ บริเวณวัดสวรรค์นิเวศน์ ซึ่งภายหลังก็ย้ายไปบ้านไทยพวนทุ่งโฮ้งปัจจุบัน ซึ่งชาวลาวพวนมีความชำนาญในการย้อมสีครามจากพืชพรรณธรรมชาติ
การย้อมม่อฮ่อมแบบดั้งเดิม
วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตผ้าม่อฮ่อม
๑. ต้นฮ่อม ต้นฮ่อมเครือ หรือ ต้นคราม ต้นฮ่อมและต้นครามเป็นพืชสองชนิดที่อยู่กันคนละชนิดและคนละวงศ์ ต้นฮ่อมมีลักษณะเป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรงมีกิ่งก้านสาขา ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงกันข้ามรูปวงรี ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยละเอียด ดอกออกเป็นช่อที่ชอกใบมีดอกย้อยหลายดอก
ลำต้นสูงประมาณ ๕๐ - ๑๐๐ เซนติเมตร มักขึ้นในที่อากาศเย็น ที่น้ำแฉะ โดยเฉพาะข้างลำห้วยจะชอบมาก ในเวลานี้เหลือต้นฮ่อมในธรรมชาติน้อยมากๆ เพราะป่าเหลือน้อย และการค้าขายเสื้อผ้าม่อฮ่อมมีจำนวนมากขึ้น
สำหรับ ต้นคราม เป็นพืชชอบแดด ทนอากาศร้อน ดินเค็ม และฝนได้ดี ขึ้นอยู่ทั่วไปเป็นวัชพืชตามสวน ลักษณะเป็นไม้พุ่มอายุ ๑ - ๓ ปี แตกกิ่งก้านสาขามาก ความสูงประมาณ ๕๐ - ๑๕๐ เซนติเมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก คล้ายๆกับใบมะขาม ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกมีหลายสีแตกต่างไปตามพันธุ์ ฝักทรงกลมยาว ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กเพื่อใช้ขยายพันธุ์
ต้นฮ่อม (ซ้าย)-ต้นคราม (ขวา)
๒. ผ้าดิบหรือผ้าฝ้าย คือผ้าที่ทอจากเส้นด้ายฝ้าย ซึ่งแต่เดิมจะใช้เป็นฝ้ายทอมือ
๓. สีสำหรับย้อม ซึ่งได้แก่สีที่ได้จากต้นฮ่อม ต้นคราม และ ต้นฮ่อมเครือ
ลักษณะความโดดเด่นผ้าม่อฮ่อม
ผ้าม่อฮ่อมของชาวแพร่ เป็นวิถีชีวิตพื้นบ้าน ที่สั่งสมกันมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งมีเอกลักษณ์ของผ้าม่อฮ่อม ที่ต้องอนุรักษ์ไว้ ผ้าม่อฮ่อมเป็นผ้าที่มีกระบวนการย้อมที่ซับซ้อนและใช้เวลาในการย้อมมากกว่าการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติชนิดอื่นเป็นอย่างมาก
สีย้อมได้จากวัตถุดิบที่หาได้จากท้องถิ่น โดยใช้เพียงส่วนใบของ ต้นฮ่อม รวมทั้ง ต้นคราม และ ต้นฮ่อมเครือ ไม่ต้องไปถากเปลือกหรือขุดรากถอนโคนพืชมาทั้งต้น สีที่ได้ยังติดแน่นคงทนอยู่กับผ้าจนกว่าจะหมดอายุของผ้า ไม่ซีดจางไปง่าย ๆ เหมือนสีย้อมธรรมชาติอื่นๆ
การเตรียมสีฮ่อมและย้อมสีฮ่อมมีเทคนิคพิเศษกว่าการย้อมสีธรรมชาติอื่นๆ เริ่มตั้งแต่การเลือกใบฮ่อมอายุพอดี ที่แค่ซัก ๓ – ๔ เดือนและต้องเก็บกันตอนเช้ามืดก่อนน้ำค้างแห้ง
ผ้าม่อฮ่อมแท้ที่มีสีเข้มลึกจะผ่านการย้อมซ้ำแล้วซ้ำอีกมากกว่ายี่สิบรอบ แต่ไม่ว่าจะเป็นสีฟ้าอ่อนหรือสีน้ำเงินเข้ม สีที่ปรากฎจะต้องสดใส สะอาดไม่ดูขมุกขมอมหรือสีตุ่นๆ และสีจะต้องติดทน คือสีไม่ตก
สีน้ำเงินสดใสของผ้าม่อฮ่อมเป็นหนึ่งในบรรดาสีเก่าแก่ของโลก มีอดีตยาวนานร่วม ๖๐๐๐ ปี ถือกันว่าเป็นราชาแห่งสีย้อม เป็นที่รู้จักกันตั้งแต่วัฒนธรรมโบราณในเมโสโปเตเมีย อียิปต์ กรีซ โรม อาฟริกา และเอเชีย ผ้าม่อฮ่อมจะมีกลิ่นหอมเฉพาะ ที่สามารถไล่ มด และ แมลง ให้ไปไกลจากผู้สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าม่อฮ่อมและสามารถป้องกันผิวของผู้สวมใส่จากรังสีอุลตราไวโอเลตได้
ชุดม่อฮ่อมที่ใช้สวมใส่ในชีวิตประจำวันของชาวแพร่
ความโดดเด่นของลวดลายผ้าม่อฮ่อม
ผ้าม่อฮ่อมป็นผ้าพื้นเมืองที่เกิดจาก การใช้เส้นด้ายพุ่งและยืนที่ได้จากฝ้ายทอให้เกิดลวดลายขัดธรรมดาย้อมด้วยสีครามที่ได้จากต้นฮ่อมหรือต้นคราม โดยจะได้ผ้ามีสีเดียวกันตลอดทั้งผืน ลวดลายของผ้าม่อฮ่อมจึงเป็นลวดลายพื้นฐานที่เกิดจากการขัดสานกันระหว่างเส้นด้ายยืนกับเส้นด้ายพุ่ง
โดยปกติในโครงสร้างผ้า ๑ ลายซํ้าจะประกอบด้วยเส้นด้ายยืน ๒ เส้น และเส้นด้ายพุ่ง ๒ เส้น ขัดกัน แต่ทั้งนี้อาจใช้เส้นด้ายยืนมากกว่า ๒ เส้น และเส้นด้ายพุ่งมากกว่า ๒ เส้นก็ได้
โฆษณา