26 พ.ค. 2022 เวลา 12:30 • ธุรกิจ
จับควันเพื่อดับไฟ แก่นสำคัญจากใจทีมสื่อสาร เพื่อทุกคนในระบบเศรษฐกิจ
พฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีบทบาทอย่างมากในการหมุนโลกใบนี้ไปข้างหน้าในอัตราเร่งที่เร็วขึ้น ทำให้เกิดคำว่า "สื่อเก่า" และ "สื่อใหม่" ขึ้นมา สวนทางกับวิถีการใช้ชีวิตที่แยกโลกออนไลน์กับโลกออฟไลน์จากกันได้ยากขึ้นทุกที
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้องครบถ้วน และตรงกลุ่มเป้าหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญของทุกองค์กร โดยเฉพาะสถาบันหลักของระบบเศรษฐกิจการเงินอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
วารสาร BOT พระสยาม MAGAZINE มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธปท. ที่มาเล่าถึงบทบาท วิธีคิด และการทำงานของทีมสื่อสาร ธปท. ซึ่งต้องเผชิญความท้าทายทั้งจากพันธกิจของธนาคารกลางที่ทุกการดำเนินนโยบายล้วนมีผลกับประโยชน์ของคนในสังคม และจากภูมิทัศน์ของสื่อที่แตกต่างออกไปจากอดีตโดยสิ้นเชิง
1
งานที่เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน บทบาทการสื่อสารยิ่งสำคัญ
การทำงานของ ธปท. มีบทบาทอย่างมากต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่ออกมาตรการใหม่ ๆ มักจะมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปตามเหตุและปัจจัยของแต่ละฝ่าย ซึ่งคุณจันทวรรณชี้ว่าการสื่อสารมีความสำคัญยิ่งต่อการทำงานของธนาคารกลาง
"การดำเนินงานของธนาคารกลางแตกต่างจากอาชีพหรือองค์กรอื่น ๆ ที่สังคมจะมองหรือมีความเห็นไปได้ในทิศทางเดียวกัน เช่นงานด้านการปราบโจรผู้ร้าย หรือการรักษาโรคต่าง ๆ สังคมก็จะมองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่งานของธนาคารกลางนั้นเหมือนอยู่บนทางสองแพร่งเสมอ
ทุกมิติของสิ่งที่ธนาคารกลางทำจะมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และผู้ที่เสียประโยชน์ ถ้าดอกเบี้ยขึ้น ผู้ออมก็ยิ้มได้ ผู้กู้ก็เหนื่อยขึ้น ถ้าค่าเงินบาทแข็ง ก็กระทบผู้ส่งออก ค่าเงินบาทอ่อน ผู้นำเข้าก็เดือดร้อน
"ในอดีตก็ต้องยอมรับว่า ธนาคารกลางไม่ค่อยได้สื่อสารเพราะถือว่าเป็นการทำงานอย่างเทคโนแครต ที่ทำหน้าที่ประเมินเศรษฐกิจ ตัดสินใจนโยบาย ประสานผลประโยชน์ หรือรักษาสมดุลให้กับระบบ แต่วันนี้สังคมต้องการคำตอบเชิงประจักษ์มากขึ้น
ดังนั้น การสื่อสารจากธนาคารกลางจึงมีความสำคัญ เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจหลักคิดและเห็นภาพกว้าง หรือบริบทของการตัดสินนโยบายในแต่ละครั้ง การสื่อสารจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำนโยบายด้วย นโยบายจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ก็อยู่ที่ว่าผู้รับสารเข้าใจ ปรับพฤติกรรม และตอบสนองต่อนโยบายที่ออกมามากแค่ไหน"
บริหารความคาดหวังโดยยึดประโยชน์ของสาธารณชนเป็นที่ตั้ง
1
โจทย์ที่ท้าทายของ ธปท. และองค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลทั้งหลาย คือการสื่อสารที่เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มให้เกิดความเข้าใจอย่างเท่าเทียมกัน ธนาคารกลางทุกประเทศก็พยายามพัฒนาเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง พยายามที่จะสื่อสารและเปิดกว้างรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) มากขึ้น การใช้ภาษาจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทีมสื่อสาร ธปท. ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เท่าทันกับบริบทของสังคม
1
โจทย์ที่ท้าทายของ ธปท. และองค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลทั้งหลาย คือการสื่อสารที่เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มให้เกิดความเข้าใจอย่างเท่าเทียมกัน ธนาคารกลางทุกประเทศก็พยายามพัฒนาเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง พยายามที่จะสื่อสารและเปิดกว้างรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) มากขึ้น การใช้ภาษาจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทีมสื่อสาร ธปท. ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เท่าทันกับบริบทของสังคม
คุณจันทวรรณมองว่างานด้านการสื่อสารของธนาคารกลาง คือการบริหารความคาดหวังของสาธารณชน โดยจุดประสงค์ที่ต้องการคือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือการปรับตัวของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทีมสื่อสารทุกคนจึงต้องพยายามสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ โดยจะต้องคำนึงถึงผู้รับสารที่ปลายทางเสมอ
"ทุกวันนี้ สังคมคาดหวังให้ ธปท. สื่อสารมากขึ้น การสื่อสารที่มากขึ้นก็ถือเป็นการให้เกียรติประชาชนด้วยว่าพวกเราใส่ใจอยากจะอธิบายเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เวลาเขียนประกาศหรือนโยบายเป็นภาษากฎหมาย คนที่เข้าใจก็อาจจะมีแค่สถาบันการเงินหรือคนกลุ่มเล็ก ๆ ดังนั้น คนของ ธปท. ต้องคิดให้ครบตั้งแต่เริ่มเขียนประกาศเพื่อให้เข้าใจเจตนารมณ์และผลลัพธ์ปลายทางที่คาดหวังของการทำนโยบายนั้น ๆ"
นอกจากนี้ คุณจันทวรรณเสริมว่าทีมสื่อสารต้องหาจุดสมดุลของการสื่อสารให้ดี การสื่อสารที่มากไปอาจนำไปใช้บิดเบือนข้อความให้เข้าใจผิดได้ แต่การสื่อสารที่น้อยไปคนก็ไม่เข้าใจ อย่างไรก็ดี หากพบว่าเกิดความไม่เข้าใจจากสิ่งที่สื่อสารออกไป หน้าที่สำคัญของทีมสื่อสารก็คือการตามไปขยายความให้เกิดความเข้าใจ
4
นอกจากนี้ คุณจันทวรรณเสริมว่าทีมสื่อสารต้องหาจุดสมดุลของการสื่อสารให้ดี การสื่อสารที่มากไปอาจนำไปใช้บิดเบือนข้อความให้เข้าใจผิดได้ แต่การสื่อสารที่น้อยไปคนก็ไม่เข้าใจ อย่างไรก็ดี หากพบว่าเกิดความไม่เข้าใจจากสิ่งที่สื่อสารออกไป หน้าที่สำคัญของทีมสื่อสารก็คือการตามไปขยายความให้เกิดความเข้าใจ
ในยุคที่ใครก็เป็นสื่อได้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ทุกที่ทุกเวลา การสื่อสารนโยบายของธนาคารกลางก็ยากขึ้นเพราะใคร ๆ ก็สามารถวิจารณ์หรือให้ความเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่ ธปท. ทำได้ สิ่งที่ทีมสื่อสารพัฒนาคือการรับฟังให้มากขึ้น เพื่อที่จะรู้เท่าทันความเคลื่อนไหวและนำไปสู่การทำงานเชิงรุกต่อไป
"มีสำนวนที่ใช้ตอนตั้งสายงานเสถียรภาพ นั่นคือ 'จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน ป้องกันไม่ให้ลุกลาม' คิดว่าใช้ได้กับทุกส่วนงาน หน้าที่ทีมสื่อสารเองก็ต้องจับควันให้ไว ใครพูดที่ไหนก็พยายามไปฟังว่าเขาคิดอย่างไร ถ้าเกิดความเข้าใจผิดและจำเป็นต้องแก้ไขก็ต้องรีบแก้ เหมือนการเข้าไปดับไฟเพื่อป้องกันการลุกลาม ก่อนที่จะแพร่กระจายไปในวงกว้างและสร้างความตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น
1
เราทำงานเชิงรุกมากขึ้นและต้องมีกลุ่มเพื่อนหรือพันธมิตรข้างนอกที่จะช่วยเป็นกระบอกเสียง ช่วยกันพูดหลายทางด้วย เพราะเราเข้าไม่ถึงคนทุกกลุ่ม จึงต้องมีคนที่พวกเขาคุ้นเคยคอยช่วยพูดเพื่อสร้างความเข้าใจด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์กับงานสื่อสารมาก
"ตอนนี้มีงานใหม่เพิ่มเข้ามาคือการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ stakeholders ที่เราจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจมากขึ้น เพราะเรามี stakeholders ที่หลากหลาย เวลาเราพูดกับนักวิเคราะห์ นักการเงินก็จะเป็นรูปแบบหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ก็ต้องคุยกับผู้ประกอบการในภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) ซึ่งพวกเขาอาจจะไม่ได้สนใจข้อมูลเชิงเทคนิคมากนัก แต่เป็นผู้ได้รับประโยชน์หรือได้รับผลกระทบจากนโยบายโดยตรง เราก็ต้องคำนึงถึงกลุ่มเหล่านี้ด้วย"
1
นอกจาก stakeholders ภายนอกแล้ว ทีมงานสื่อสารภายในเองก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คุณจันทวรรณยอมรับว่าทุกวันนี้ทีมสื่อสารของ ธปท. ก็ยังมีการปรับตัวกันอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น ก่อนหน้านี้ จะแยกทีมงานการสื่อสารตามประเภทช่องทางของสื่อ คือสื่อดิจิทัลและสื่อกระแสหลัก
แต่เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า อย่างไรเสียนโยบายที่สื่อสารออกไปก็เป็นนโยบายเดียวกัน เพียงแต่บอกเล่าผ่านช่องทางที่แตกต่างกันเท่านั้น ทีมสื่อสารจึงปรับโครงสร้างใหม่เพื่อทำงานกับสื่อทุกประเภทในมุมมองเดียวกัน และตอนนี้ก็อยู่ตัวมากขึ้นแล้ว
นอกจากนี้ คุณจันทวรรณยังชื่นชมพนักงานในทีมสื่อสารทุกคนที่พัฒนาตัวเองเสมอ จากการเปิดพื้นที่ให้ใช้วิธีการใหม่ดึงความสนใจของผู้คนได้อย่างดี โดยที่ตนเองจะทำหน้าที่เป็นกรอบที่คอยดูเนื้อหาสาระที่ถูกต้องและครบถ้วน
"เราปรับโครงสร้างการทำงานกันไปหลายครั้งแล้ว ที่สำคัญเราต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่คิดและทำ ซึ่งน้อง ๆ ในทีมก็ทำได้ดี เสนอไอเดียทำกันเองแบบ bottom up เป็นบรรยากาศการทำงานที่ healthy เพราะมาจากกลุ่มคนที่อยู่หน้างาน เขาจะรู้ว่ากิมมิกแบบนี้จะสามารถดึงคนเข้ามาได้ พวกเขาจะเข้าใจกันและกัน เข้าใจสำนวน ภาษา และแนวคิด เราอาจจะไม่ได้ใช้สำนวนหวือหวา เพียงแต่หาวิธีดึงความสนใจของคนให้เข้ามาในเรื่องที่อธิบายยาก"
"เราปรับโครงสร้างการทำงานกันไปหลายครั้งแล้ว ที่สำคัญเราต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่คิดและทำ ซึ่งน้อง ๆ ในทีมก็ทำได้ดี เสนอไอเดียทำกันเองแบบ bottom up เป็นบรรยากาศการทำงานที่ healthy เพราะมาจากกลุ่มคนที่อยู่หน้างาน เขาจะรู้ว่ากิมมิกแบบนี้จะสามารถดึงคนเข้ามาได้ พวกเขาจะเข้าใจกันและกัน เข้าใจสำนวน ภาษา และแนวคิด เราอาจจะไม่ได้ใช้สำนวนหวือหวา เพียงแต่หาวิธีดึงความสนใจของคนให้เข้ามาในเรื่องที่อธิบายยาก"
ประสานความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศเพื่อเดินหน้าไปด้วยกัน
แม้หนึ่งในหน้าที่ของ ธปท. คือการกำกับดูแลสถาบันการเงินแต่ก็ใช่ว่าจะเกี่ยวข้องแต่กับระบบนิเวศของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น เนื่องจากธนาคารต่าง ๆ ก็จะมีหน่วยธุรกิจย่อยเป็นบริษัทหลักทรัพย์หรือธุรกิจประกันภัยซึ่งจะเกี่ยวข้องกับองค์กรอื่น ๆ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจเหล่านั้นด้วย
ทาง ธปท. จึงต้องทำงานกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และองค์กรอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด
"เราไปแลกเปลี่ยนมุมมองกับเขาเพราะแต่ละองค์กรก็มีความท้าทายของงานที่ทำ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ระหว่างกันได้ เราคุยกันตลอด เพราะปัจจุบันนี้โลกแคบลงมาเยอะมากแล้ว งานของเราไม่ได้อยู่ในโลกเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวแล้ว ยกตัวอย่างว่าเราอาจจะต้องพยายามเข้าใจงานด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกว่ามันเกิดอะไรขึ้น ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศก็จะช่วยเป็นที่ปรึกษาให้เราได้ว่า การวางตัวในเวทีโลกเราควรทำอย่างไร"
คุณจันทวรรณเป็นตัวแทน ธปท. ในการทำหน้าที่ Alternate Executive Director ที่ IMF ณ Washington DC ในช่วงปี 2549 - 2551
ส่วนความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศนั้นจะไม่ใช่งานของทีมสื่อสารโดยตรง แต่ ธปท. มีทีมที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ คือฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศที่ประสานงานกันด้านนโยบายเป็นหลัก และในบางกรณีจึงจะมีความร่วมมือในด้านการสื่อสารระหว่าง ธปท. กับธนาคารกลางอื่น ๆ ในโครงการที่ทำร่วมกัน
เช่น โครงการ PromptPay - PayNow ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการชำระเงินระหว่าง ธปท. และธนาคารกลางสิงคโปร์ รวมทั้งการส่งเสริมการชำระเงินด้วยเงินสกุลท้องถิ่นซึ่งก็เกี่ยวข้องกับเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศเพื่อนบ้าน ในการดำเนินงานเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็จะมาจากสายงานหลักที่ทำนโยบาย แต่สายสื่อสารจะเข้าไปช่วยกลั่นกรองข้อความเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจในประเด็นที่ต้องการสื่อสารด้วยอีกแรงหนึ่ง
หากถามว่า ธปท. ต้องสื่อสารพูดคุยกับองค์กรระหว่างประเทศมากแค่ไหน คุณจันทวรรณอธิบายว่า ในอดีต ธปท. ใส่ใจในบทบาทระหว่างประเทศจะเป็นเรื่องการรักษาสิทธิ์ เช่น การลงคะแนนเสียงในองค์กรระหว่างประเทศหรือสิทธิ์ในการใช้ทรัพยากรหรือความช่วยเหลือด้านวิชาการ แต่ระยะหลังบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศสามารถช่วยเป็นกระบอกเสียงสร้างความเข้าใจที่มีประโยชน์มาก จึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารกับองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้นด้วย
1
"อย่างเรื่องมาตรการเงินทุนเคลื่อนย้าย ประเทศเราใช้ และมีการประกาศปรับเปลี่ยนมาตรการเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นระยะ ๆ ตามความเหมาะสม ต่างจากโลกตะวันตกที่เงินทุนเขาเคลื่อนย้ายเสรี แทบจะไม่มีข้อจำกัด เราพูดเรื่องนี้มากขึ้นและประเทศเพื่อนบ้านเราก็ใช้มาตรการเหล่านี้ด้วย
เมื่อเรารวมตัวกันในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อพูดเรื่องนี้มากขึ้น ในที่สุดองค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ก็จะเข้าใจมาตรการเหล่านี้แม้ประเทศตะวันตกจะไม่ค่อยใช้
นอกจากนี้ เราเองก็ต้องชี้แจงว่าเราทำอย่างตรงจุด โปร่งใส และเมื่อไม่มีความจำเป็นก็ถอนมาตรการเหล่านั้นออก (targeted transparent and time - bound) แล้วสื่อสารให้คนในตลาดเข้าใจว่าทำไมเราใช้ นั่นก็เพราะตลาดเราเล็กมาก เงินเข้ามานิดเดียวก็สร้างแรงกระเพื่อมได้แล้ว
ประเทศอื่นในอาเซียนเขาก็เจอปัญหาเดียวกันกับเรา เมื่อช่วยกันแชร์ประสบการณ์และความท้าทายที่เจอ รวมถึงความสำเร็จจากสิ่งที่ทำ มันก็ช่วยปรับมุมมองขององค์กรระหว่างประเทศและนานาชาติได้"
ถ่ายภาพร่วมกับ Ms. Christine Lagarde กรรมการจัดการ IMF ในการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ หรือ International Monetary and Financial Committee (IMFC) เมื่อเดือนเมษายน 2562
ถ่ายภาพร่วมกับ Ms. Christine Lagarde กรรมการจัดการ IMF ในการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ หรือ International Monetary and Financial Committee (IMFC) เมื่อเดือนเมษายน 2562
สิ่งที่คุณจันทวรรณฝันในฐานะผู้ที่ทำงานด้านการสื่อสารคือการถ่ายทอดนโยบาย มาตรการ และข้อมูลของ ธปท. ออกไปสู่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความเข้าใจ
"มีคนเคยพูดว่า ถ้าเราสามารถพูดหรือเขียนอะไรให้เด็กอายุ 12 ปี เข้าใจเราได้ นั่นคือสุดยอดแล้วที่อยากจะเห็น เพราะว่าเด็กเหล่านั้นก็จะไปบอกพ่อแม่ ครู และขยายวงให้คนเข้าใจการทำงานของแบงก์ชาติมากขึ้น ทำอย่างไรจะให้คนเข้าใจเราทุกมิติ ไม่ใช่แค่เรื่องดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน
แต่ยังรวมถึงการกำกับดูแลหรือการดูแลผู้บริโภค ซึ่งระยะหลังประชาชนเริ่มเห็นมากขึ้นแล้ว แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเราทำได้ในระดับหนึ่งเพราะงานนี้เป็นเรื่องการบริหารความคาดหวัง แม้งานของเราจะขยายหน้างานออกไปจากเดิมมาก แต่ก็ไม่อยากให้เกิดความคาดหวังเกินกว่าขอบเขตและความเป็นจริงที่เราทำได้"
สิ่งที่คุณจันทวรรณฝากถึงทีมงานสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กรทุกคน คือการทำงานเพื่อให้เกิดการสื่อสารแบบสองทาง (two - way communication) ไม่เพียงส่งสารที่ถูกต้องออกไปในวงกว้าง ยังต้องเปิดใจรับฟังความเห็นจากสาธารณชน เพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานต่อไปด้วย ซึ่งทุกวันนี้ทีมสื่อสารก็ถือว่าทำงานได้ดีทีเดียว
"รู้สึกประทับใจน้อง ๆ ที่ทำงานด้วยกันมา ตัวพี่เองไม่ได้เรียนมาทางด้านการสื่อสาร ดังนั้น ทุกวันนี้เรียนรู้จากคนที่ทำงานด้วยทั้งสิ้น และหวังว่าพวกเขาจะได้เรียนรู้ด้านวิชาการหรืองานด้านเศรษฐศาสตร์การเงินจากพี่ ๆ ด้วย อยากจะฝากน้อง ๆ ว่าการทำงานสื่อสารไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว แต่เป็นการสื่อสารสองทางเสมอ ทั้งผู้รับสารและส่งสาร
บางทีเราผลิตสื่อออกไปเยอะ ๆ ก็อย่าลืมรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้ที่เราจับชีพจรเป็นประจำ จากทุกช่องทางที่แบงก์ชาติมีด้วย ฟังคนที่พูดถึงเรา ฟังเสียงสะท้อนที่มีต่อตัวเรา แล้วจะได้ปรับปรุงและพัฒนางานของเราได้อย่างต่อเนื่อง ทีมสื่อสารถือเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างทีมนโยบายและประชาชน จึงมีหน้าที่รับฟังและนำความเห็นเหล่านั้นมาถ่ายทอด เพื่อปรับปรุงการทำงานต่อไป"
การพัฒนาตนเองในโลกยุคใหม่เป็นงานที่ทำได้อย่างไม่รู้จบเพื่อช่วยกันยกระดับองค์กรให้สูงขึ้นจากมาตรฐานเดิม การทำงานของทีมสื่อสารจึงไม่หยุดนิ่งและจะท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในฐานะนักตรวจจับควันจะต้องป้องกันไฟที่อาจจะลุกลามได้ทุกเมื่อ เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ดีในทุกยุคสมัยทั้งวันนี้และวันข้างหน้า
โฆษณา