26 พ.ค. 2022 เวลา 02:14 • การเมือง
ผู้ว่ากทม.เกาะกระแสประเทศไทย โดย ธนินท์ธรณ์
วันนี้ คนกรุงได้ผู้ว่าราชการกรุงเทพคนใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คุณ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ตัวแทนอิสระ ที่มีกลิ่นอายชองพรรคเพื่อไทย เมื่อเห็นภาพเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กระแสอยากเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดก็เริ่มมีการพูดถึงในสังคมออนไลน์กันมากขึ้น ซึ่ง ขอแยกไว้ในตอนหน้า จะเหมาะสมกว่า
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 สืบเนื่องจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2518 ซึ่งกำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นทบวงการเมือง
มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มาจากการเลือกตั้ง และอยู่ในตำแหน่งตามวาระ 4 ปี อย่างไรก็ดี ตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอยู่ตลอด โดยบางทีก็มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรีหรือคำสั่งของคณะรัฐประหาร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง คือ ธรรมนูญ เทียนเงิน ซึ่งชนะการเลือกตั้งในปี 2518
กล่าวคร่าว ๆ ได้ว่า
ระบบบริหารราชการแผ่นดินไทย แบ่งออกเป็น
– การบริหารราชการส่วนกลาง (กระทรวง / กรม) บริหารและกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศ
– การบริหารราชการส่วนภูมิภาค (จังหวัด / อำเภอ / ตำบล / หมู่บ้าน) แบ่งอำนาจไปจากส่วนกลาง
– การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น (อบจ. / เทศบาล / อบต. และรูปแบบพิเศษ คือ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) กระจายอำนาจจากส่วนกลางให้ประชาชนมีอำนาจในการบริหารและตัดสินใจกิจการสาะารณะตามที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งในต่างจังหวัด ไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้ว่าเช่นเดียวกับจังหวัดกรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองหลวง ด้วยเหตุที่ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดนอกเหนือจากเมืองหลวง เป็นการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง ไปควบคุมดูแล บริหารราชการบ้านเมืองในท้องถิ่นโดยแยกเป็นเขตจังหวัด
ซึ่งจากที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น การบริหารราชการแผ่นดินก็มีความทับซ้อนในหน้าที่อยู่พอสมควร เนื่องจากการวางระบบเครือข่ายอำนาจที่จงใจจะให้เอื้อประโยชน์แก่พรรคความหวังใหม่ของตนเองไว้ในรูปแบบองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในช่วงที่ตนเองดำรงค์ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในยุค รัฐบาลเชาวลิต ยงใจยุทธ ในช่วงปี พ.ศ. 2538
จนเมื่อเกิดการบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว เกิดภาวะฟองสบู่แตกจนลุกลามไปทั่วภูมิภาคเอเชีย รองนายกฝ่ายเศรษฐกิจในขณะนั้น ทักษิน ชินวัตร จึงแนะนำให้กู้เงินกับกองทุนระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และต้องยอมปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวตามนโยบายของผู้ปล่อยกู้
ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงทันทีถึง 100% ซึ่งก็ทำให้คนในรัฐบาลบิ๊กจิ๋ว ต่างช้อนซื้อเงินดอลล่าสหรัฐกันล่วงหน้าก่อนที่จะประกาศค่าเงินบาทลอยตัว เปรียบเทียบได้ว่ามีเงินอยู่หนึ่งล้านบาท ซื้อดอลล่าสหรัฐในวันนี้ ขายได้ถึงสองล้านเลยทีเดียว
ซึ่ง ถ้าใช้ภาษาชาวบ้าน ก็เรียกได้ว่า มีบ้านขายบ้าน มีรถขายรถ กู้หนี้ยืมสินมาให้ได้ทุกช่องทาง ทุ่มซื้อไม่อั้น จนในยุคนั้น เกิดคำว่า "ล้มบนฟูก" คือในขณะที่ประเทศกำลังจะล่มจม ก็มีคนกลุ่มหนึ่ง ร่ำรวยขึ้นมาอย่างมหาศาลในฉับพลันทันที ในขณะที่ประเทศกำลังจะเป็นหนี้ และประชาชนคนไทย ก็จะมี "หนี้รายหัว"เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติอีกด้วย
ซึ่งก็สามารถบอกได้ว่า รัฐบาลบิ๊กจิ๋วที่เข้ามาบริหารประเทศได้ปีกว่า ๆ ก็สร้างวิบากกรรมไว้กับประเทศไว้ได้อย่างใหญ่หลวง และสร้างเครือข่ายอำนาจทับซ้อน ในรูปแบบ ของการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เราเรียกกันว่า อบต.ไว้จนถึงทุกวันนี้
กลับมาดูที่ กรุงเทพมหานครฯ กรุงเทพไม่ใช่ประเทศ แต่เป็นหัวใจของประเทศ
ผมเคยพูดไว้ว่า ผมเองไม่ค่อยสนใจการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพราะผมไม่ใช่คนกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ มีปัญหายืดเยื้อคาราคาซังที่เป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไขยากมาอย่างยาวนาน กรุงเทพต้องการคนที่ทำงานจริงจัง ทำงานหนัก และมีวิสัยทัศน์
สิ่งที่เป็นปัญหาหลัก ๆ ของกรุงเทพนั้น ก็หนีไม่พ้น รถติด น้ำท่วม แต่ด้วยความรวดเร็วทันสมัยในยุคนี้ ปัญหาที่คนกรุงต้องการให้แก้ไขสิบประการแรกก็คือ
โลกโซเชียลสะท้อน 10 ปัญหาของ กทม.ที่คนกรุงเทพฯ อยากให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ลงมือแก้ไขเร่งด่วน
นำโด่งอันดับหนึ่ง 52.80% คือ ปัญหาถนนและทางเท้าชำรุด แม้จะเป็นปัญหาพื้นๆ ในโลกความเป็นจริง และไม่ปรากฏอยู่ในนโยบายหลักของบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่เสียงสะท้อนจากโซเชียลกลับมองปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะทำให้เกิดอุบัติเหตุรายวันและสร้างความยากลำบากให้ผู้ที่สัญจร
ตามมาด้วยปัญหาน้ำท่วมขัง 10.94% ส่วนอันดับ 3 ถึง 10 มีเสียงสะท้อนต่ำกว่า 10% ทั้งหมด ได้แก่ ความปลอดภัยทางม้าลาย มลพิษฝุ่น PM2.5 พื้นที่สีเขียว กล้องวงจรปิดและไฟส่องสว่าง ปัญหาค่าครองชีพ การจราจร น้ำเน่าเสียในคลองและหาบเร่แผงลอย
ซึ่ง หลัก ๆ ก็มาจากสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่คนเมืองกรุงเทพฟ้าอมร มองว่ามันช่างแย่เสียเหลือเกิน
ซึ่งจากที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น ปัญหาของเมืองกรุงนั้น หนักหนา ยุ่งยาก และเรื้อรัง ผู้ว่าคนเก่า คุณอัศวิน ขวัญเมือง ก็ได้แก้ไขและปรับปรุงไปในหลาย ๆ จุดในแปดปีที่ผ่านมา
ซึ่งระยะเวลาเพียงเท่านี้ ไม่สามารถจัดการปัญหาให้เรียบร้อยได้อย่างแน่นอน ซึ่งช่วงก่อนการเลือกตั้งผมเอง คิดว่า คนที่ได้เปรียบคู่แข่งที่สุด ก็น่าจะเป็นผู้ว่าเก่านี่แหละ ด้วยเหตุผลที่ว่า คนที่เคยทำงาน เคยสัมผัสปัญหามาก่อน ย่อมรู้ปัญหา รู้วิธีแก้ไข เข้าใจและ เข้าขากับทีมงาน วางระบบในการพัฒนาต่อยอดไว้ในใจเรียบร้อยกว่าผู้สมัครท่านอื่นอย่างดีแล้ว
แต่จุดอ่อนที่สุดของผู้ว่าเก่าก็มี นอกจากที่ตัวตนของแก ไม่ค่อยพูดไม่ค่อยจา ไม่ค่อยนำเสนอผลงาน ซึ่งตามหลักของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ผู้ประชาสัมพันธ์ประจำองค์กรที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ แต่ต้องเป็นตัวผู้นำองค์กรนั้น ๆ
ซึ่งในเรื่องนี้ แกสอบตก เพราะไม่ว่าจะมีผลงานดี หรือคืบหน้าไปเท่าได ก็ไม่มีใครรู้ ใครเห็น เป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นผลงานของแก
อย่างที่รัฐบาลลุงชวน อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบ สะสมเงินไว้ใช้หนี้ไอเอ็มเอ็ฟเสียเกือบหมด สุดท้ายก่อนที่เกือบจะสะสมเงินใช้หนี้ได้ ปีนั้นรัฐบาลลุงชวนก็สอบตก ด้วยคำพูดของประชาชนกบเลือกนาย ที่ให้ฉายาท่านว่า "ชวนเชื่องช้า"
ซึ่งด้วยนิสัยกบเลือกนาย รัฐบาลทักษิณก็เข้ามารับช่วงต่อในการบริหารประเทศ ฉวยโอกาศไปกู้เงินเพิ่มมาอีกนิดหน่อย แล้วรวบรวมใช้หนี้ประเทศ สมอ้างตีกินได้เท่ ๆ ว่าตนเป็นผู้ใช้หนี้ประเทศ พาคนไทยพ้นความวิบัติ ซึ่งถ้าเรียกกันตามประสาชาวบ้าน ก็คือเอาประเทศไปรีไฟแน้นซ์นั่นแหละครับ
คุณอัศวิน ก็มาตกม้าตายในรูปแบบนี้เช่นกัน
แต่ก็ เอาละ ในเวลานี้ เรา ไม่ใช่สิ คนกรุงเทพฟ้าอมร ก็ได้ผู้ว่าคนใหม่ ซึ่งผมเคยได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า กรุงเทพฯ ต้องการคนทำงาน คนขยัน และคนมีวิสัยทัศน์
ส่วนแกจะสังกัดพรรคการเมืองไหนอย่างไม่เป็นทางการรึไม่ ผมเองก็ไม่ได้ให้ความสนใจมาก เพราะปัญหากรุงเทพนั้นจริงจังมากกว่าจะมาเอ่ยถึงว่าคุณชัชชาตินั้นเด็กใคร และเหตุผลที่แกได้รับเลือก ก็น่าจะมาจากภาพลักษณ์ที่คนมองว่า เป็นคนทำงาน และจริงจัง อย่างคำพูดที่ว่า "แข็งแก่งที่สุดในปัฐพี"
และในส่วนของวิสัยทัศน์นั้น แกมีนโยบาบที่วางไว้ถึง 214 ข้อ ซึ่งผมขอแปะลิงค์อย่างเป็นทางการของแกให้ได้เข้าไปได้อ่านกันอย่างไม่ผิดเพี้ยนแทนจะเป็นการดีกว่า
และนี่น่าจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่เรียกได้ว่า เป็นการแสดงวิสัยทัศน์ในการทำงานให้คนกรุงเทพฯ ได้เห็นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง
ซึ่ง ก็หวังใจว่า ในวาระของแก จะมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความคาดหวังของผู้ไปใช้สิทธิ์ ซึ่งแน่ละ ปัญหาเรื้อรัง 4 ปีไม่น่าจะจบ แต่ก็หวังว่า แกจะมีผลงานโดดเด่น เข้าใจปัญหา เข้าใจคนเมือง มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี และถ้าแกดีจริง ก็อยากสนับสนุนให้เป็นต่อเนื่องไปนาน ๆ เช่นกัน
โฆษณา