Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Dhamma Story
•
ติดตาม
9 ก.ค. 2022 เวลา 10:00 • การศึกษา
กรรมของคนฆ่าพระ
การเดินทางไกลในสังสารวัฏเพื่อข้ามไปสู่ฝั่งแห่งอมตมหานิพพาน ซึ่งเป็นที่สุดของการเดินทาง และเป็นที่สุดของการแสวงหานั้น จำเป็นจะต้องมีเสบียงคือบุญ เป็นเครื่องสนับสนุนเครื่องหล่อเลี้ยงให้เราได้สร้างบารมีอย่างสะดวกสบาย บุญกุศลเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องสั่งสมเอาไว้
เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้โอกาสในการสร้างบุญสร้างบารมี ก็จงอย่าปล่อยให้โอกาสนี้ผ่านไปอย่างน่าเสียดาย เพราะบุญเท่านั้นเป็นที่พึ่งของเรา ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า บุญจะสนับสนุนให้เราได้บรรลุจุดหมายปลายทางไปถึงที่สุดแห่งธรรม ดังนั้นให้รีบขวนขวายในบุญกุศลกัน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
“ยาวเทว อนตฺถาย ญตฺตํ * พาลสฺส ชายติ
หนฺติ พาลสฺส สุกฺกํสํ มุทฺธํ อสฺส วิปาตยํ
ความรู้เมื่อเกิดแก่คนพาล ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายเท่านั้น ความรู้นั้นย่อมยังปัญญาของเขาให้ตกไป และฆ่าสุกธรรมของคนพาลเสีย”
ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ มีความจำเป็นต้องอาศัยปัจจัย ๔ มาหล่อเลี้ยงขันธ์ ๕ หรือสังขารร่างกายของเรานี้ ทำให้เราต่างต้องดิ้นรนแสวงหาสิ่งต่าง ๆ ต้องเหน็ดเหนื่อยทนลำบากตรากตรำ เพื่อหาสิ่งเหล่านี้มาบำรุงหล่อเลี้ยงสังขารให้เป็นอยู่อย่างสุขสบาย
ดังนั้นเมื่อเรามีชีวิตเกิดขึ้นมาแล้ว จำเป็นต้องแสวงหาอุปกรณ์ที่จะช่วยในการแสวงหาปัจจัย ๔ ให้เกิดขึ้นมาโดยง่าย สิ่งที่อำนวยความสะดวกตรงนี้เรารู้จักดีนั่นก็คือ ความรู้และความสามารถ ผู้รู้ท่านเรียกว่า ศิลปะ
การมีศิลปะ คือความเป็นผู้ที่มีความแตกฉานในวิชาความรู้ต่าง ๆ แล้วสามารถนำเอาความรู้ความสามารถนั้นไปประกอบธุรกิจการงานเลี้ยงชีพได้ ศิลปะนี้มีคุณอนันต์แต่ก็มีโทษมหันต์เช่นกัน สามารถพลิกผันชีวิตของผู้นั้นได้ ถ้ามีศิลปะควบคู่กับจิตใจที่ดีงามมีความรู้คู่คุณธรรมก็จะทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้มาก แต่ถ้าเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นกับคนพาลก็มีแต่จะนำความพินาศย่อยยับมาให้ทั้งแก่ตนเองและคนส่วนใหญ่
ธรรมดาของคนพาลมักจะแสวงหาความรู้แล้วนำไปใช้ในทางที่ผิด ท้ายที่สุดการกระทำของตนเองนั้นจะเป็นเหตุให้ตนต้องประสบกับความทุกข์ในปัจจุบันชาติ และยังต้องเสวยผลกรรมในเวลาที่ละจากโลกนี้ไปแล้ว ดังนั้นศิลปะของคนพาลจึงเป็นเหมือนศิลปะอาบยาพิษ ดังเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
มีอยู่คราวหนึ่ง ที่พระมหาโมคคัลลานะอัครสาวกเบื้องซ้ายผู้เลิศด้วยฤทธิ์พร้อมกับพระลักขณเถระ ลงจากภูเขาคิชฌกูฏเพื่อไปบิณฑบาตโปรดสรรพสัตว์ ท่านมองไปรอบ ๆ แล้วกระทำการยิ้มแย้ม พระลักขณเถระสังเกตเห็นอาการของท่าน จึงถามสาเหตุของการแย้มนั้น ก็ได้รับคำตอบว่า ให้ไปถามอีกครั้งในสำนักของพระพุทธองค์เถิด
หลังจากบิณฑบาต พระเถระทั้งสองเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระลักขณเถระจึงถามเรื่องที่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะจึงเล่าให้ฟัง โดยมีพระบรมศาสดาประทับนั่งเป็นสักขีพยานว่า
"ขณะที่ลงมาจากเขา ท่านได้เห็นเปรตตนหนึ่งมีอัตภาพใหญ่โตประมาณ ๓ คาวุต ถูกค้อนเหล็ก ๖ หมื่นอัน ที่มีไฟติดลุกโพลง ตกลงมากระหน่ำศีรษะของเปรตนั้น ค้อนเหล็กได้ทุบศีรษะของเปรตจนแตกกระจาย แล้วศีรษะที่แตกกระจายนั้นก็รวมกันขึ้นใหม่อีก แล้วก็ถูกค้อนทุบแตกกระจายไปอีก เปรตร้องโหยหวนด้วยความทุกข์ทรมานแสนสาหัส"
พระบรมศาสดาทรงสดับถ้อยคำของพระเถระแล้ว จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เปรตตนนี้เราเห็นตั้งแต่ตรัสรู้ ครั้งเมื่อนั่งอยู่ที่โพธิมณฑล แต่เราไม่ได้บอกกับใคร เพราะถ้าเราบอกไปแล้วไม่มีใครเชื่อ ความไม่เชื่อนั้นจะเป็นกรรมติดตัวพวกเขาไป แต่วันนี้เราเป็นพยานของโมคคัลลานะ จึงบอกได้”
จะเห็นได้ว่า แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระบรมครูของพวกเราทั้งหลาย พระองค์ท่านจะตรัสอะไร ยังต้องใคร่ครวญให้รอบคอบก่อน เพราะอยากจะให้ถ้อยคำที่ตรัสออกไปเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ฟัง ภิกษุทั้งหลายทูลถามถึงบุพกรรมของเปรต พระองค์จึงตรัสเล่าให้ฟังว่า "
ในอดีตกาล มีบุรุษเปลี้ยคนหนึ่งเก่งมาก มีศิลปะในการดีดก้อนกรวด สามารถที่จะใช้ก้อนกรวดดีดไปที่ใบไม้ให้เป็นรูปอะไรก็ได้ จะเป็นช้าง ม้า ทำได้หมด ท่านใช้วิชานี้เลี้ยงชีพ โดยการดีดก้อนกรวดให้เด็ก ๆ ดู แล้วก็ได้ของกินของใช้จากเด็กเหล่านั้น
มีอยู่วันหนึ่ง พระราชาเสด็จผ่านมาประทับใต้ต้นไทร เห็นเงาของใบไม้เป็นรูปต่าง ๆ กระทบพระวรกายของพระองค์ จึงถามว่าเป็นฝีมือของใคร เมื่อรู้ว่าเป็นฝีมือของบุรุษเปลี้ย พระองค์ท่านเลยรับสั่งให้ไปสนองงานบางอย่างในพระราชวัง บุรุษเปลี้ยผู้นี้รับสนองพระราชโองการเป็นที่พอพระทัยมาก จึงได้รับพระราชทานทรัพย์สมบัติมากมาย
ใครก็ตามที่มีความรู้ความสามารถ แล้วนำไปใช้ได้เต็มที่ตามความต้องการของผู้บังคับบัญชา ซึ่งไม่ผิดศีลผิดธรรม ก็ย่อมนำแต่ความสุขความสำเร็จมาสู่ตนเองและครอบครัว ในคราวนั้นมีผู้ชายคนหนึ่ง เห็นบุรุษเปลี้ยได้ทรัพย์สมบัติมากมายจึงคิดว่า คนง่อยเปลี้ยแต่อาศัยศิลปะดีดก้อนกรวด ก็ประสบความสำเร็จในชีวิต แม้ตัวเราก็ควรจะเรียนไว้ จึงเข้าไปขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์
ครั้งแรกบุรุษเปลี้ยเห็นว่า ชายหนุ่มคนนี้เป็นคนนิสัยไม่ดี ถ้าสอนศิลปะนี้ให้ไป ก็มีแต่จะทำความพินาศย่อยยับให้เกิดขึ้นกับตนเอง จึงห้ามเอาไว้ แต่ชายหนุ่มก็ไม่เลิกล้มความตั้งใจ เข้าไปปรนนิบัติรับใช้ ทำให้พออกพอใจ จนบุรุษง่อยเปลี้ยรู้สึกสำนึกในบุญคุณ จึงตัดสินใจถ่ายทอดความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่ให้ไป
เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว บุรุษเปลี้ยถามลูกศิษย์ตนเองว่า "ท่านเรียนจบหลักสูตรแล้ว จะไปทำอะไรต่อล่ะ" ลูกศิษย์บอกว่า "ผมจะทดสอบความรู้ความสามารถดูเสียก่อน" อาจารย์ถามต่อว่า "เธอจะไปทำอย่างไร" ผมจะดีดแม่โคหรือมนุษย์ให้ตาย" อาจารย์เลยเตือนว่า "ถ้าเธอฆ่าแม่โค จะถูกปรับเสียเงิน ๑๐๐ กหาปณะ เมื่อฆ่ามนุษย์จะถูกปรับ ๑,๐๐๐ กหาปณะ เธออย่านำศิลปะนี้ไปรังแกสัตว์อื่นเลย"
ลูกศิษย์หนุ่มไม่ยอมเชื่อ แต่ก็คิดว่าจะฆ่าสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ถึงจะไม่โดนปรับ เมื่อเดินไปพบพระปัจเจกพุทธเจ้าซึ่งกำลังเดินเที่ยวบิณฑบาต จึงคิดว่า พระสมณะรูปนี้ไม่มีพ่อไม่มีแม่ เอาล่ะ เราจะทดสอบศิลปะกับพระสมณะรูปนี้แหละ จึงดีดก้อนกรวด เล็งช่องหูเบื้องขวาของพระปัจเจกพุทธเจ้า ก้อนกรวดเข้าไปโดนช่องหูข้างขวา ทะลุออกช่องหูข้างซ้าย ทุกขเวทนาแสนสาหัสได้เกิดขึ้นกับท่าน
พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านไม่สามารถเที่ยวบิณฑบาตต่อไปได้ จึงเหาะกลับไปพักที่บรรณศาลา ในที่สุดก็ต้องปรินิพพาน เพราะการกระทำของชายหนุ่มคนนั้น
สาธุชนที่เคยใส่บาตร ไม่เห็นท่านออกมาบิณฑบาต จึงตามไปดูที่บรรณศาลา เห็นท่านปรินิพพานแล้วก็ร้องไห้คร่ำครวญ ช่วยกันนำร่างของท่านไปฌาปนกิจ ส่วนชายหนุ่มก็ไปดูผลงานของตนเอง จำพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ จึงพูดด้วยความภูมิใจว่านี้เป็นฝีมือของตนเอง ไม่ได้สำนึกบาปกรรมที่ตนเองก่อไว้เลย ชาวบ้านรู้เข้าจึงพากันรุมประชาทัณฑ์จนสิ้นชีวิต
หลังจากตายไป เขาตกนรกหมกไหม้ยาวนาน ถูกไฟนรกเผาผลาญอยู่ในอเวจีมหานรก จนกระทั่งแผ่นดินสูงขึ้น ๑ โยชน์ จึงพ้นจากนรก แต่ยังมีเศษกรรมเหลืออยู่ จึงไปเกิดเป็นเปรตที่ถูกค้อนเพลิงทุบหัว ได้รับทุกข์ทรมานอยู่ที่ยอดเขาคิชฌกูฏ
จะเห็นว่า คนพาลเมื่อมีความรู้ก็เป็นความรู้ที่อาบยาพิษ เป็นอันตรายทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง
ดังนั้นความรู้ความสามารถต้องคู่กับคุณธรรมความดีที่เกิดขึ้นในใจ จึงจะช่วยไม่ให้ชีวิตตกต่ำ และเจริญรุ่งเรืองทั้งโลกนี้และโลกหน้า ความรู้ความสามารถ ศิลปวิทยาที่ศึกษามาดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้ โดยเฉพาะการศึกษาศิลปะแห่งการหยุดนิ่ง ซึ่งเป็นศาสตร์ที่จะนำเราไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ เป็นความรู้ที่น่าศึกษามากทีเดียว
พระบรมศาสดาเมื่อศึกษาความรู้ทางโลกจนจบ ๑๘ สาขาแล้ว ยังมองไม่เห็นว่า จะมีศาสตร์ไหนที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น พระองค์ทรงเห็นด้วยปัญญาที่สั่งสมมาข้ามภพข้ามชาติว่า การออกบวชเพื่อแสวงหาโมกขธรรม ทำใจให้หยุดนิ่งนี่แหละ จะเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งมวล จึงละทิ้งความรู้ทางโลกหันมาศึกษาความรู้ทางธรรม ศึกษาศาสตร์แห่งการทำใจหยุดนิ่งจากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ ใช้เวลานานถึง ๖ ปี
ในที่สุดพระองค์ก็ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นศาสดาเอกของโลกและจักรวาล
พวกเราทุกคนก็เช่นเดียวกัน ควรหาโอกาสมาศึกษาศิลปะแห่งการทำใจให้หยุดนิ่ง ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งชีวิต จะได้พบความสุขที่แท้จริงภายใน เพราะการทำใจหยุดนิ่งให้ถูกส่วนที่ศูนย์กลางกายเป็นสุดยอดของศิลปะทั้งปวง ดังนั้นให้ทุกท่านได้ใส่ใจกับศิลปะแห่งการเข้าถึงธรรมนี้ให้ดี ด้วยการหมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่งในทุกอิริยาบถ ให้เข้าถึงพระธรรมกายกันให้ได้ทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป หน้า ๑๐๕ – ๑๑๓
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
เล่ม ๔๑ หน้า ๒๓๙
2
3 บันทึก
46
14
53
3
46
14
53
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย