27 พ.ค. 2022 เวลา 02:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กรณีศึกษา ลำพูน ศูนย์กลางอุตสาหกรรม ของภาคเหนือ
1
209,668 บาท คือ GPP ต่อหัวของชาวลำพูนในปี 2563
เรียกได้ว่าสูงที่สุดในภาคเหนือของไทย และสูงเป็นอันดับที่ 17 ของประเทศ
3
ลำพูนเป็นจังหวัดเล็ก ๆ มีประชากรเพียง 400,000 คน
มีเขตตัวเมืองตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่
2
โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลำพูน กลายเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวสูงก็เพราะภาคอุตสาหกรรม
ซึ่งลำพูน เป็นที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ
1
แล้วเขตอุตสาหกรรมของจังหวัดลำพูน มีที่มาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปในปี 2526
ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ของจังหวัดเล็ก ๆ ที่เงียบสงบในภาคเหนือ
ประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดลำพูนมีอาชีพเป็นเกษตรกร และมีผลิตผลทางการเกษตรที่โดดเด่นก็คือ ลำไย และกระเทียม
3
ในเวลานั้น ภาครัฐบาลต้องการขยายพื้นที่อุตสาหกรรม จากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ไปยังส่วนภูมิภาค โดยวางแผนจะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นในภาคเหนือ
เขตอำเภอเมืองลำพูน กลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ด้วยความที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่
มีการคมนาคมที่สะดวก และตัวเมืองจังหวัดลำพูนยังเจริญเติบโตช้า ราคาที่ดินยังไม่สูงเท่าเขตเมืองจังหวัดเชียงใหม่ สามารถพัฒนาให้เติบโต กลายเป็นฐานการผลิตส่งเสริมกับจังหวัดเชียงใหม่ได้
1
นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จึงดำเนินการก่อสร้างในเขตอำเภอเมืองลำพูน ด้วยพื้นที่ประมาณ 1,800 ไร่ สร้างเสร็จในปี 2528 ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกในระดับภูมิภาค ที่ตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
3
ในช่วงแรก การลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ถูกวางไว้ให้เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เพราะจังหวัดลำพูนเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผลหลายชนิด
2
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ คือหลังจากปี 2528
ที่เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “Plaza Accord”
2
ในช่วงปี 2523 ถึงปี 2528 ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักของโลก
หนึ่งในนั้นคือ เงินเยนของญี่ปุ่น จนเริ่มทำให้สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้าอย่างหนักกับญี่ปุ่น
3
พอเรื่องเป็นแบบนี้ สหรัฐอเมริกาจึงต้องการลดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับเงินเยน
ซึ่งนำไปสู่การทำข้อตกลง ที่เรียกว่า Plaza Accord ณ โรงแรมพลาซา นครนิวยอร์ก ในปี 2528
2
ข้อตกลงในครั้งนั้น ทำให้เงินเยนของญี่ปุ่นต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นราว 50%
การที่ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้น ก็ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่น มีราคาแพงขึ้นกว่าเท่าตัว
ทั้งยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการส่งออกของญี่ปุ่น ซึ่งในขณะนั้น เป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อันดับ 1 ของโลก
บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นหลายแห่ง จึงจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่ยังมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า โดยมองมาที่ประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงต่ำในอาเซียน ที่อยู่ไม่ไกลจากญี่ปุ่นมาก
และมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งก็คือ “ประเทศไทย”
2
บริษัทญี่ปุ่นจึงโยกย้ายฐานการผลิต มาตั้งโรงงานในประเทศไทย
ทำให้มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศของไทย ในช่วงปี 2528 ถึงปี 2531 เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 4 เท่าตัว
2
โดยในช่วงแรกนั้น โรงงานยังคงกระจุกตัวอยู่ในแถบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
แต่ต่อมาเกิดปัญหาการขนส่ง ทั้งวัตถุดิบและสินค้า เพราะมีปัญหาการจราจร
รวมถึงความแออัดของท่าเรือกรุงเทพ ราคาที่ดิน และค่าแรงก็เริ่มสูงขึ้น
1
นักลงทุนบางส่วนเลยมองหาทำเลอื่น ๆ ซึ่งเขตอุตสาหกรรมในจังหวัดลำพูน ก็เป็นเขตที่น่าสนใจ
โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
3
สำหรับปัจจัยที่ทำให้เขตอุตสาหกรรมในจังหวัดลำพูน เป็นที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากราคาที่ดิน และสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่
ประการที่ 1 ทำเลที่อยู่ไม่ไกลจากสนามบินเชียงใหม่ สะดวกต่อการขนส่ง
1
นิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ห่างจากสนามบินเชียงใหม่ เพียง 25 กิโลเมตร จึงเหมาะกับการตั้งโรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และมีน้ำหนักเบา สามารถขนส่งทางอากาศได้อย่างสะดวก ทั้งวัตถุดิบและตัวสินค้า
2
ประการที่ 2 อยู่ใกล้แหล่งน้ำ
นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำกวง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติของจังหวัดลำพูน
ทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจได้ว่าจะมีแหล่งน้ำเพียงพอ สำหรับกระบวนการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
2
ประการที่ 3 แรงงานราคาถูก
ด้วยค่าครองชีพในจังหวัดลำพูน ที่ต่ำกว่าแถบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงมีแรงงานท้องถิ่นอยู่พอสมควร ทั้งแรงงานในจังหวัดลำพูนเอง และจังหวัดอื่น ๆ ในเขตภาคเหนือตอนบน
ด้วยปัจจัย 3 ประการ โรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่น จึงได้เริ่มย้ายฐานการผลิตมาอยู่ที่จังหวัดลำพูนในปี 2531
1
โดยบริษัทที่ยังคงดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน เช่น Murata Electronics, Fujikura, Electro Ceramics และ Tanaka Precision
3
ด้วยความคึกคักของนิคมอุตสาหกรรม จึงนำมาสู่การขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อรองรับการเข้ามาของแรงงาน ทั้งหอพัก หมู่บ้าน และร้านอาหาร
ในขณะที่พนักงานและผู้บริหารชาวญี่ปุ่น ก็ทำให้เกิดการบริการต่าง ๆ ที่ขยายไปจนถึงเขตจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งหมู่บ้านจัดสรร สนามกอล์ฟ ร้านอาหาร สถานพยาบาล และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการจัดตั้งสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่
5
เขตอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จนในปี 2538 มีโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือกว่า 61 โรงงาน และดึงดูดแรงงานหลายหมื่นคนจากทั่วภาคเหนือ นำมาสู่เศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคการค้า และภาคบริการ
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่ขยายตัวก็ได้ทำให้เกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
1
แม่น้ำกวงที่เคยใสสะอาด กลับเต็มไปด้วยมลพิษ จนกลายเป็นแม่น้ำที่ปนเปื้อนมลพิษสูงสุดในภาคเหนือ คุณภาพของน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองจังหวัดลำพูน โดยรวมอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก จากการตรวจสอบของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1
7
และแม้ว่าในปัจจุบัน โรงงานอุตสาหกรรมจะมีการควบคุมในเรื่องของการบำบัดน้ำเสียแล้ว แต่เขตที่อยู่อาศัยของแรงงานในโรงงานกว่า 50,000 คน ยังไม่ได้รับการบำบัดที่เพียงพอ และยังคงมีการปล่อยของเสียลงสู่แม่น้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ปัญหานี้จะถูกแก้ไขอย่างไร
5
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดลำพูน กว่า 52% มีที่มาจากภาคอุตสาหกรรม มีนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ลำพูน และสวนอุตสาหกรรม เครือสหพัฒน์
2
อุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากบริษัทญี่ปุ่นแล้ว
ก็มีบริษัทของไทยอย่าง Hana Microelectronics
2
- อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร มีโรงงานของเครือสหพัฒนพิบูล และโรงงานของบริษัท Pepsi-Cola (Thai) Trading
1
- อุตสาหกรรมเครื่องประดับ มีโรงงาน Pandora และ International Metal and Jewelry (IMAJ)
4
- อุตสาหกรรมเลนส์ มีโรงงาน Hoya Optics
2
โดยญี่ปุ่นยังคงเป็นสัญชาติที่ครองสัดส่วนมูลค่าการลงทุนมากที่สุด กว่า 80%
และครองสัดส่วนโรงงานราว 50%
ส่วนโรงงานของบริษัทไทย มีสัดส่วนอยู่ที่ 30% และมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 8%
4
เศรษฐกิจของจังหวัดลำพูน มีที่มาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก
และเป็นเพียงไม่กี่จังหวัด ที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2563 แม้จะเผชิญกับวิกฤติโควิด 19
หลายบริษัทมีการลงทุนขยายพื้นที่โรงงาน โดยเฉพาะ Murata Electronics
1
แผนการในอนาคตของภาคเอกชนในจังหวัดลำพูน คือการผลักดันให้มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มอีก 1 แห่ง ในเขตอำเภอเมืองลำพูน คือนิคมอุตสาหกรรมจามเทวี
4
เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมใหม่ ๆ
อย่างอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์
2
ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า เศรษฐกิจของจังหวัดลำพูนจะเติบโตต่อไปอย่างไร
เมื่อภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญอยู่แล้ว จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นไปอีก
และในตอนนี้คงเรียกได้ว่า ลำพูน ได้กลายเป็นศูนย์อุตสาหกรรมที่สำคัญของภาคเหนือ และประเทศไทย ไปเรียบร้อยแล้ว..
1
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู สั่งซื้อเลยที่
โฆษณา