31 พ.ค. 2022 เวลา 02:00 • อาหาร
อย่าประมาทวิกฤติอาหารโลก และควรเตรียมรับมือ | บัณฑิต นิจถาวร
วิกฤติอาหารในเศรษฐกิจโลก คือภาวะขาดแคลนอาหารและราคาอาหารแพงขึ้น กำลังส่อเค้าทวีความรุนแรง กระทบชีวิตและความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก
1
อย่าประมาทวิกฤติอาหารโลก และควรเตรียมรับมือ
ประเทศเราแม้เป็นประเทศส่งออกอาหารก็ต้องไม่ประมาท เพราะวิกฤติอาหารจะไม่จบง่ายโดยเฉพาะถ้าสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียยืดเยื้อ ทำให้ต้องพร้อมที่จะเตรียมรับมือ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ความไม่เพียงพอของอาหารเทียบกับความต้องการบริโภคเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจโลกมาตลอด แม้เทคโนโลยีด้านการเกษตรและการผลิตอาหารจะดีขึ้นมาก
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความแปรปรวนของธรรมชาติ โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนที่กระทบการผลิตในภาคเกษตรทำให้อาหารขาดแคลน อีกส่วนคือปัญหาในการกระจาย คือกระจายอาหารที่เศรษฐกิจโลกผลิตได้ไปสู่ประเทศที่ขาดแคลน
ปีที่แล้วประมาณว่า ประชากรโลกเกือบ 200 ล้านคนขาดอาหาร เป็นผลจากภาวะโลกร้อนที่กระทบการผลิตอาหาร เช่น คลื่นความร้อนในอินเดียและอากาศแห้งในบราซิล สหรัฐอเมริกา แคนาดา ซึ่งทั้งหมดเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก
นอกจากนี้วิกฤติโควิดก็มีผลทำให้อาหารขาดแคลน เพราะดิสรัปชันในการขนส่ง ทำให้อาหารที่ผลิตได้ขนส่งไม่ได้ รวมถึงต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ราคาอาหารจึงปรับสูงขึ้นตาม
และที่สำคัญรายได้ของประชาชนที่ลดลงจากผลของวิกฤติโควิดก็ทำให้การเข้าถึงอาหารมีปัญหาโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย
ปีนี้สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียยิ่งทำให้สถานการณ์การขาดแคลนอาหารเลวร้ายมากขึ้น เพราะกระทบอุปทานอาหารในเศรษฐกิจโลกในสามทาง
1.สงครามทำให้การผลิตสินค้าเกษตรในเศรษฐกิจโลกชะงักงัน เพราะทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก สองประเทศนี้ส่งออกข้าวสาลีรวมกันประมาณร้อยละ 30 ของการส่งออกข้าวสาลีทั้งหมดในโลกและประมาณร้อยละ 20 ของการส่งออกข้าวโพด
ผลคือการผลิตสินค้าเกษตรลดลงจากผลของสงคราม ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับสูงขึ้น
1
2.สงครามกระทบการผลิตปุ๋ยซึ่งรัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ เพราะการผลิตก๊าซธรรมชาติและแร่โปแตชที่ใช้มากในอุตสาหกรรมปุ๋ยถูกกระทบ การขาดแคลนปุ๋ยและราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นทำให้การใช้ปุ๋ยลดลงกระทบผลผลิตต่อไร่
ผลคือปริมาณสินค้าเกษตรในตลาดโลกลดลง ราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้น กระทบต้นทุนการผลิตอาหาร ปริมาณการผลิตอาหาร และราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น
ที่สำคัญการขาดแคลนปุ๋ยและราคาปุ๋ยที่แพงทำให้เกษตรกรทั่วโลกจะลดการใช้ปุ๋ยขณะที่ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นก็ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรทั่วโลกแพงขึ้น ทั้งหมดจะกระทบการผลิตสินค้าเกษตรในทุกประเภทและการผลิตอาหาร ส่งผลให้การขาดแคลนอาหารในเศรษฐกิจโลกจะรุนแรงขึ้น
3.สงคราม มาตรการคว่ำบาตร การปิดล้อมเมืองท่า เช่น เมืองมาริอูโปลในยูเครน ทำให้การเคลื่อนย้ายและส่งออกสินค้าและอาหารที่ผลิตได้ทำได้ลำบาก เกิดภาวะขาดแคลนอาหารในประเทศผู้ซื้อที่ไม่สามารถนำเข้าสินค้าได้แม้มีเงินที่จะจ่าย เช่น กรณีอียิปต์ที่พึ่งข้าวสาลีนำเข้าจากยูเครนมาก
ผลคือปัญหาการกระจายอาหารที่มีอยู่ยิ่งหนักขึ้นกว่าเดิม ทำให้ภาวะขาดแคลนอาหารกระจายไปทั่ว ไม่ใช่เฉพาะในประเทศที่ยากจน
นี่คือสามสาเหตุที่ทำให้โลกขาดแคลนอาหาร ได้แก่ สงคราม ภาวะโลกร้อนและสถานการณ์เศรษฐกิจ ทำให้การผลิตอาหารลดลง กระจายไม่ทั่วถึง และราคาแพงขึ้น
ล่าสุดเดือน เม.ย.ดัชนีราคาสินค้าอาหารของ FAO เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่กว่า 50 ประเทศขณะนี้ขาดแคลนอาหารและรุนแรงสุดคือ เอธิโอเปีย ซูดานใต้ มาดากาสก้าใต้ และเยเมน
ที่สำคัญภาวะดังกล่าวทำให้กว่า 20 ประเทศขณะนี้ เริ่มเข้าแทรกแซงกลไกตลาดเรื่องอาหารด้วยมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น ห้ามส่งออกอาหารที่ผลิตได้หรือที่นำเข้ามาเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
มาตรการเหล่านี้แม้ดูดีในแง่การคุ้มครองประชาชนให้มีอาหารเพียงพอ แต่ก็จะทำให้การแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารในระดับโลกทำได้ยากขึ้น เพราะการจำกัดการเคลื่อนย้ายอาหารระหว่างประเทศ
ภาวะการขาดแคลนอาหารในเศรษฐกิจโลกคงกระทบประเทศเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้เราจะบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักและปลูกได้เองไม่ใช่ขนมปังที่ใช้แป้งสาลีและเป็นผู้ส่งออกอาหารมากกว่านำเข้า กระทบทั้งจากราคาอาหารที่สูงขึ้นและการส่งออกและนำเข้าอาหารในตลาดโลกที่จะมีข้อจำกัดมากขึ้น
ที่สำคัญความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามบวกกับการใช้นโยบายกีดกันทางการค้าที่อาจแพร่หลาย จะทำให้ภาวะการขาดแคลนอาหารยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น ประเทศเราจึงไม่ควรประมาทและควรเตรียมพร้อมเพื่อลดผลกระทบในกรณีเลวร้าย
เช่น ภาวะโลกร้อนที่กระทบการผลิตอาหารในบ้านเรา หรือหาประโยชน์จากสถานการณ์ขาดแคลนเพราะภาคเกษตรเรามีศักยภาพที่จะทำอะไรได้อีกมาก และเป็นฐานรายได้หลักของคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ขณะเดียวกัน ภาคเกษตรเราก็เป็นสาขาการผลิตที่ใหญ่ ผลิตผลต่ำ และปรับตัวช้า ทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะตอบสนองกับปัญหาได้อย่างทันการ
ดังนั้น สิ่งที่ทางการควรทำคือเตรียมตัว โดยใช้โอกาสที่ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้นและความต้องการในต่างประเทศมีมากสร้างแรงจูงใจให้การผลิตในภาคเกษตรของประเทศขยายตัวแบบก้าวกระโดด สร้างแรงจูงใจผ่านระบบตลาดให้แรงงานที่ว่างงานมากในปัจจุบันและเงินทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่ดีกลับเข้าภาคเกษตร
ทำในทุกประเภทการผลิตทุกสินค้าในทุกระดับตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้ผลผลิตเกษตรและอาหารในประเทศขยายตัว ทั้งเพื่อเพิ่มพูนปริมาณสต๊อกอาหารที่ประเทศมีเพื่อเตรียมตัวกับภาวะเลวร้ายและเพื่อหารายได้จากการส่งออก ถ้าเราใช้โอกาสนี้ขยายรายได้ของภาคเกษตรได้มาก รายได้คนส่วนใหญ่ของประเทศก็จะขยายตัว เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัว
ที่สำคัญทางการต้องตระหนักในเรื่องนี้และพร้อมยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ผลผลิตการเกษตรและปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย สามารถเคลื่อนย้ายภายในประเทศ ผลิตและนำเข้าได้อย่างเสรี
เพื่อลดข้อจำกัดให้การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารสามารถขยายตัวได้ง่ายขึ้น มีประชาชนและผู้เล่นรายใหม่เข้ามามีส่วนร่วม การแข่งขันมีมากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง
ถ้าทำได้ประเทศเราก็จะอยู่กับวิกฤติอาหารโลกได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น และได้ประโยชน์ในแง่การเติบโตของเศรษฐกิจ.
บทความโดย: ดร.บัณฑิต นิจถาวร | คอลัมน์ #เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
*หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 พ.ค. 2565
โฆษณา