27 พ.ค. 2022 เวลา 02:02 • การศึกษา
เขียนอย่างไรให้เสร็จ
การเขียนถือเป็นการสื่อสารอีกทางหนึ่ง ซึ่งหลายคนก็มีความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นนักเขียน ออกหนังสือเป็นของตนเอง ตัวผมเองก็เช่นกันครับ แน่นอนว่าพอพูดถึงการเขียนส่วนใหญ่ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ยาก ไม่รู้จะเริ่มที่จุดไหน และทำอย่างไรให้การเขียนนั้นเสร็จสมบูรณ์
วันนี้ผมได้นำเทคนิคการเขียนให้เสร็จ จากหนังสือ The LOST SKILL ของอาจารย์ นพดล ผู้ที่มีประสบการณ์การเขียนหนังสือของตนเองมากกว่า 10 เล่ม มาฝากเพื่อนๆสำหรับคนที่อยากลองเขียนกันดูครับ
1. เขียนเรื่องที่ชอบ
อารมณ์คล้ายๆกับการอ่านหนังสือที่ชอบเลยครับ ซึ่งก็จะช่วยให้เราทำมันได้เรื่อยๆไม่เบื่อ ยิ่งเขียนก็ยิ่งมีความสุข เผลอๆแปปเดียวก็อาจจบเล่มเลยก็ได้ครับ
2. เขียนเรื่องที่รู้
เราจะสามารถเขียนสิ่งที่เรารู้ออกมาได้ง่ายกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะเรามีข้อมูลอยู่แล้ว ทำให้เรานั้นไม่ต้องใช้พลังงานมากในการเขียน การเขียนให้เสร็จจึงไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลยครับ และการเขียนเรื่องที่เรารู้ก็จะไปสอดคล้องกับข้อที่ 1 คือ เป็นเรื่องที่เราชอบ ถ้าชอบแล้วคนส่วนใหญ่ก็จะหาข้อมูลของเรื่องนั้นๆ จนเกิดความเชี่ยวชาญในที่สุด
3. เขียนวันละนิด
ผมเชื่อประโยคที่ว่าเล็กน้อยแต่สม่ำเสมอจะสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ การคิดที่ว่าจะตั้งใจเขียนให้เสร็จภายในกรอบเวลาเท่านั้นเท่านี้ โดยไม่คิดที่จะทำงานอื่นๆเลยนั้นส่วนใหญ่มักไม่สำเร็จครับ
บางครั้งหากเราเขียนอย่างเดียวโดยที่ไม่ทำอย่างอื่นเลย ผมเชื่อว่าไอเดียเราก็อาจจะหมดได้ อาจารย์แนะนำให้เราเขียนวันละนิดวันละหน่อย เช่น วันละ 1 หน้า ถ้าครบ 1 ปีก็ได้จำนวนหน้าถึง 365 หน้า เป็นหนังสือได้แล้วครับ
4. เขียนเค้าโครงหนังสือก่อนเนื้อหา
โดยเริ่มจากหน้าสารบัญก่อน ดูว่าเราอยากใส่เนื้อหาเกี่ยวกับอะไรและลำดับอย่างไร จากนั้นก็เขียนเนื้อหาตามโครงที่เราได้ตั้งเอาไว้ เพราะหากไม่ทำแบบนี้ตัวเนื้อหาอาจจะสะเปะสะปะวกวนไปมาได้
5. หาคนอ่านงานเขียนเรา
เหตุผล คือ เป็นการเช็คความสามารถในการเขียนของเราครับ เราจะได้รู้ว่างานเขียนแบบไหนของเราที่ได้รับความสนใจ จะได้เขียนในลักษณะนั้นอีก และงานเขียนไหนที่น่าเบื่อเราก็จะได้ไม่เขียนออกมาอีก
แล้วเราจะให้คนอื่นๆช่วยอ่านได้อย่างไร?
คำตอบ คือ Social media นี้แหละครับ เช่น Facebook, blockdit เป็นต้น โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้เองก็มีระบบ AI ที่ค่อยช่วยบันทึกข้อมูลการเข้าถึง ความสนใจของผู้คนต่อโพสท์ของเราอยู่แล้ว เหลือแค่เรานำมาวิเคราะห์เท่านั้น
6. หาแรงจูงใจในการเขียน
บางครั้งอาการรู้สึกเบื่ออาจเกิดขึ้นได้ต่อให้เป็นเรื่องที่เราชอบก็ตาม ดังนั้นการหาแรงจูงใจเข้ามาช่วยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญครับ ในหนังสือได้พูดถึงแรงจูงใจอย่างเช่น การเขียนโพสท์ลงในเฟสบุ้คเพื่อทำให้คนอื่นๆเห็นและอ่านข้อมูลดีๆในทันที การกดถูกใจ คอมเม้นและแชร์ จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับเราได้จริงๆครับ
7. เขียนเรื่องที่เป็นประโยชน์กับผู้อื่น
อาจารย์ นพดลได้แนะนำว่า นอกจากการเขียนในเรื่องที่ชอบและมีความรู้แล้ว ควรเลือกเขียนให้เกิดประโยชน์กับผู้อ่านด้วย การเขียนที่ดีต้องสรุปประเด็นให้ผู้อ่านสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
8. เขียนให้เข้าใจง่ายและน่าสนใจ
หลักๆเลย คือ อย่าพยายามใช้คำศัพท์เทนนิคเยอะๆครับ ต้องพยายามเขียนให้กระชับ ทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายที่สุด ยิ่งมีตัวอย่างประกอบด้วยยิ่งดีมากๆ อีกเรื่องที่ต้องระวังเลยคือคำผิด ถ้าผิดคำสองคำคงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าผิดมากๆ แบบคนอ่านอ่านไปสักพักก็เจอคำผิด แบบนี้อาจสร้างความรำคาญให้ไม่มากก็น้อยเลยครับ
9.อ่านเยอะๆ
ใช่ครับ นักเขียนที่ดีควรอ่านเยอะๆ การอ่านเปรียบได้เหมือนการรับวัตถุดิบเข้าไป ถ้าเรายิ่งอ่านมาก หมายความว่าเราก็จะมีวัตถุดิบเพื่อนำไปปรุงอาหารต่อได้อีกมากและหลากหลาย ในที่นี้การเขียนก็เช่นกันครับ เราจะมีไอเดียในการเขียนอีกมากเลย
10. อยู่ในกลุ่มของคนที่ชอบเขียนหนังสือ
เหตุผลหลักๆเลย คือ เมื่อเราถูกรายล้อมไปด้วยนักเขียน เราเห็นคนอื่นๆเขียน ก็จะช่วยให้เรานั้นอยากเขียนไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้เอาจริงๆสามารถใช้ได้กับอีกหลายๆเรื่องเลยครับไม่ใช่เฉพาะการเขียน เช่น การออกกำลังกาย ถ้าเราอยากมีแรงจูงใจในการออกกำลังกายเราก็ต้องเข้าไปในกลุ่มของคนออกกำลังกาย เป็นต้น
ครบแล้วครับสำหรับ 10 เทคนิคการเขียนให้เสร็จจากหนังสือ THE LOST SKILL หากเพื่อนๆเป็นคนหนึ่งที่ฝันอยากมีหนังสือเป็นของตัวเองสักเล่ม ลองอ่าน 10 เทคนิคนี้และนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตนเองดูนะครับ
เป็นกำลังใจให้เพื่อนๆพัฒนาตนเองเป็นคนที่เก่งขึ้นในทุกๆวันเติบโตไปพร้อมๆกันกับผมนะครับ
Let's Grow : โตไปด้วยกัน ครับ
โฆษณา