27 พ.ค. 2022 เวลา 02:27 • ประวัติศาสตร์
น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว
ว่ายแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว
กลอนข้างต้น ก่อนจะเป็นเรื่องอิเหนา ตอนนางบุษบาเล่นธาร ซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 ทรงมอบหมายให้สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อยังดำรงพระยศเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงแต่ง เมื่อถึงวันจะอ่านถวายตัว พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีรับสั่งวานให้สุนทรภู่ อ่านตรวจดูเสียก่อน ซึ่งสุนทรภู่ได้อ่านแล้ว ได้ทูลแก่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ว่า เห็นดีอยู่แล้ว ครั้นเสด็จออก
เมื่อโปรดฯ ให้อ่านต่อหน้ากวี ที่ทรงปรึกษาพร้อมกัน ถึงบทแห่งหนึ่งว่า
น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว
(ว่าย)ปลาแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว
สุนทรภู่ ติว่ายังไม่ดี ขอแก้เป็น
น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา
ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว
โปรดตามที่สุนทรภู่แก้ พอเสด็จขึ้นแล้ว กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็กริ้ว ดำรัสว่า เมื่อขอให้ตรวจ ทำไมจึงไม่แก้ไข แกล้งนิ่งเอาไว้ติหักหน้าเล่นกลางคัน เป็นเรื่องที่ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ครั้งหนึ่ง
1
อีกครั้งหนึ่ง เมื่อรับสั่งให้ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงแต่งบทละครเรื่องสังข์ทอง ตอนท้าวสามลจะให้ลูกสาวเลือกคู่ ทรงแต่งคำปรารภของท้าวสามลว่า
จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว
ให้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา
ครั้นถึงเวลาอ่านถวาย สุนทรภู่ถามขึ้นว่า
"ลูกปรารถนาอะไร"
กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ต้องทรงแก้ว่า
"ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา"
ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ ว่า แกล้งประมาทอีกครั้งหนึ่ง แต่นั้นมาก็ว่า กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงมึนตึงต่อสุนทรภู่มาจนตลอดรัชกาลที่ 2
ย้อนกลับมาที่เรื่องอิเหนา ตอนบุษบาลงสรงนั้น ยังเป็นเกร็ดที่มีผู้ยกขึ้น มาโต้เถียงกันต่อไปอีก หลังจาก ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียงไว้แล้ว จะยกบทตอนลงสรงน้ำมาเล่าต่อไป ตามบทที่ว่า
"นางจึงสรงสนานในสระศรี
กับกำนัลนารีเกษมสานต์
หอมกลิ่นโกสุมปทุมมาลย์
อายอบชลธารขจรไป
บทเดิมของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ต่อไปว่า
น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว
ว่าย ? แหวกกอบัวอยู่ไหวไหว
ปลา ? แหวกกอบัวอยู่ไหวไหว
สุนทรภู่ขอแก้เป็น
น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา
ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว
บทต่อไปพระนิพนธ์ของ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ว่า
นิลุบลพ้นน้ำขึ้นรำไร
ตูมตั้งบังใบอรชร
ดอกขาวเหล่าแดงสลับสี
บานคลี่ขยายแย้มเกสร
บัวเผื่อนเกลื่อนกลาดในสาคร
บังอรเก็บเล่นกับนารี
นางทรงหักห้อยเป็นสร้อยบัว
สรวมตัวกำนัลสาวศรี
แล้วปลิดกลีบปทุมมาลย์มากมี
เทวีลอยเล่นเป็นนาวา
ลางนางบ้างกระทุ่มน้ำเล่น
บ้างโกรธว่ากระเซ็นถูกเกศา
บ้างว่ายแซงแข่งเคียงกันไปมา
เกษมสุขทุกหน้ากำนัลใน"
ตามบทเดิม ที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงนิพนธ์ไว้ กล่าวกันเป็น 2 อย่าง ในคำ ที่ว่า "ปลาแหวกกอบัว" หรือ "ว่ายแหวกกอบัว" เพราะฉบับที่คัดกันต่อๆ มา มีทั้งสองอย่าง
ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า "ปลาแหวกกอบัว" ถูกต้องกับของฉบับเดิม เพราะอ่านวรรคต้นกับวรรคท้ายได้ความว่าตัวปลา ถ้าเป็นคำว่า "ว่าย" เมื่ออ่านหรือฟังดูแล้ว ไม่รู้ว่าตัวอะไรว่ายแหวกอยู่ในกอบัว
อาจจะเป็นกบเป็นเขียดก็ได้ แต่เพราะคำ ตัว กับ ปลา อยู่กันคนละวรรค ฟังดูไม่ชัดแจ้งเด็ดขาดลงไปในกลอน
จึงเห็นว่าตามที่สุนทรภู่แก้ถวายนั้นดีกว่า
อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า "ว่ายแหวกกอบัว" จึงจะถูกตาม ฉบับเดิม ที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์มีพระประสงค์ ทรงนิพนธ์ขึ้นไว้เช่นนั้น เพราะคำว่า "แหวก" เป็นกิริยาของคน เหมาะสมกว่าของปลา
ภายในวัดเทพธิดาราม
และในคำว่า "เห็นตัว" นี้ คงตั้งพระทัยหมายถึง น้ำนั้นใสจนเห็นลำตัวบุษบา กับสาวสรรกำนัลใน กำลังว่ายแหวกอยู่ที่กอบัว และมีความสัมพันธ์ กับในบทต่อไปที่ว่า "นิลุบลพ้นน้ำขึ้นรำไร ตูมตั้งบังใบอรชร" นี่เป็นความเปรียบของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ครั้นจะทรงนิพนธ์ตรงๆ ก็ไม่ขวนคิด เหมือนกวีไม่มีเชิง ดังนี้
เพราะฉะนั้นคำที่สุนทรภู่แก้ไว้ ซึ่งกล่าวแต่ความไปในแนวทางธรรมชาติเท่านั้น คล้ายเดินแต้มหมากรุกชั้นเดียว อาจจะสู้ความหมายเดิมเขาไม่ได้
ข้อนี้ขอยกไว้ให้ผู้อ่านผู้ฟัง วินิจฉัยดูเอง เรื่องก็ต้องเปลี่ยนไป ตามที่สุนทรภู่แก้ไว้นั้น และยังเล่ากันต่อไปอีกว่า เมื่อกลับจากหน้าพระที่นั่งด้วยกันแล้ว กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ยังทรงต่อว่าสุนทรภู่อีก ถ้าไม่ใช่ต่อว่าเรื่องที่ทรงวานให้ตรวจก่อนแล้ว ก็เห็นจะเป็นเรื่องโต้เถียงกัน เกี่ยวกับความหมาย
ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่จนบัดนี้ เพราะหน้าพระที่นั่ง ไม่กล้าขัดพระราชประสงค์ จึงทรงขัดเคืองสุนทรภู่อยู่
ส่วนในเรื่องสังข์ทอง พระนิพนธ์ของ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ นั้น ก็มีคำกล่าวกันว่า สุนทรภู่แกล้งติประชด เป็นเชิงการเมืองภายใน จึงขอยกกลอนมา เพื่อเป็นทางพิจารณาดังต่อไปนี้
"มาจะกล่าวบทไป
ถึงท้าวสามลเรืองศรี
เสวยราชสมบัติสวัสดี
ในบุรีสามลพระนคร
อันองค์อัครราชชายา
ชื่อมณฑาเทวีศรีสมร
มีธิดานารีร่วมอุทร
ทั้งเจ็ดนามกรต่างกัน
น้องนุชสุดท้องชื่อรจนา
โสภาเพียงนางในสวรรค์
พรั่งพร้อมสาวสนมกำนัล
มีสุขทุกนิรันดร์วันคืน
ท้าวคิดรำพึงถึงเวียงไชย
นานไปจะเป็นของเขาอื่น
เห็นจะไม่จีรังยั่งยืน
ด้วยลูกเต้าเราแต่พื้นเป็นธิดา
จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว
ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา
ถ้าเขยคนใดดีมีบุญญา
จะยกพารามอบให้ครอบครอง"
กล่าวกันว่า ที่สุนทรภู่ ท้วงพระนิพนธ์ ความเดิมว่า "ให้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา" นั้นเป็นการท้วงมีเชิงว่า ปรารถนาสมบัติ หรือปรารถนาอะไร
จึงต้องทรงนิพนธ์แก้เสียใหม่ว่า
"ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา"
เรื่องนี้ก็เป็นเหตุให้กระทบกระเทือนพระทัย กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ อีกเรื่องหนึ่ง จึงทรงขุ่นเคืองพระทัยอยู่ตลอดรัชกาลที่ 2 ข้อนี้ว่าตามที่ได้เล่ากันมา
เมื่อกล่าวถึงสุนทรภู่ กับ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ แล้ว ในฐานะเป็นกวีที่ปรึกษาร่วมกัน ก็ย่อมมีความเห็นแตกต่าง และขัดแย้งกันเป็นธรรมดา ของการประพันธ์ สุนทรภู่ก็เชื่อในการกวีของตน กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ก็ถือพระองค์ว่าเป็นพระโอรส ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่มีพระชนมายุน้อยกว่าสุนทรภู่ 1 พรรษา
ซึ่งในเวลานั้นประทับอยู่ที่วังตะวันตก (วังท่าพระ) อยู่ตรงข้ามกับประตูสุนทรทิศา ส่วนสุนทรภู่ ก็อยู่ในที่พระราชทาน นับว่าไม่ห่างไกลกัน
จะเนื่องด้วยสุนทรภู่ มีความเคารพนับถือในกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ อย่างเจ้านายสามัญ เพราะมิได้เป็นชั้นเจ้าฟ้า และก็คงคาดไม่ถึงว่า จะได้ผ่านสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน สืบต่อรัชกาลที่ 2
คงด้วยเหตุนี้ หรือเหตุอื่น จึงมีเรื่องไม่ต้องพระประสงค์อยู่ตลอดมา ในระหว่างเป็นกวีที่ปรึกษาร่วมกัน ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีนั้น (ในเวลานี้คงประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม) ทรงพระชนมายุสูงกว่า เมื่อว่าตามศักดิ์สามัญแล้ว ก็เป็นชั้นพระเจ้าอา ของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ อาจจะถือว่าพระองค์เป็นผู้ใหญ่ ในเรื่องการขัดแย้งกันในระหว่างเป็นกวีที่ปรึกษา และทรงเห็นว่าไม่เป็นความสำคัญก็ได้
1
กล่าวถึงเรื่องที่สุนทรภู่ คุยว่าสำนวนกลอนที่เป็นปากตลาดนั้น ต้องเป็นไพร่อย่างตัวถึงจะแต่งได้ ดังนี้
หรือเรื่องที่ขัดแย้งกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ต่อหน้าพระที่นั่งก็ดี ดูจะเป็นการแสดงอัธยาศัย ให้เข้าใจกันไปว่า สุนทรภู่เป็นคนอวดตัว และดูหมิ่นเจ้านายเกินไป ทั้งเรื่องที่ขัดแย้งกัน ก็เป็นเชิงจะหักล้างในฐานะที่ไม่เหมาะสมเช่นนั้น
ด้วยกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ก็ถ่อมพระองค์ให้สุนทรภู่ ตรวจพระนิพนธ์ก่อน แล้วยังซ่อนเงื่อนเอาไว้ติเล่น ต่อหน้าพระที่นั่ง เช่นนี้ แม้สามัญชนก็ต้องโกรธ
ตามนัยดังกล่าวมา อาจจะมีผู้ตำหนิขึ้นได้ในภายหลัง ก็เป็นการกล่าวหาแต่ฝ่ายโจทก์ข้างเดียว โดยจำเลยไม่มีโอกาสจะแถลงให้ถ้อยคำความจริงได้ จึงขอพิจารณาเรื่อง ที่สุนทรภู่คุยอวด ซึ่งดูจะเป็นการหมิ่นเจ้านาย
จนทรงทราบถึงพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นั้น บางทีจะเป็นนโยบายของสุนทรภู่เอง คือมีความประสงค์ให้เจ้านาย ฝึกทอดพระทัยลงมานิพนธ์เรื่อง และใช้สำนวนปากตลาดลองดูบ้าง เพราะราษฎรสามัญจำนวนมากไม่รู้ภาษาราชาศัพท์ ย่อมจะเข้าถึงรสบทประพันธ์ให้ซาบซึ้งได้ยาก
เนื่องด้วยสุนทรภู่เคยเป็นครู และแต่งบทกลอนมาในหมู่ชนสามัญ ย่อมรู้เห็นในเรื่องนี้ได้ดี จึงแกล้งคุยอวด โดยเฉพาะแก่บุคคลที่ใกล้ชิดชอบเพ็ดทูล
เพื่อให้ถึงพระกรรณพระเจ้าอยู่หัว และเรื่องก็เป็นไปสมความปรารถนา ด้วยขัตติยมานะจึงได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง "ไกรทอง" อันเป็นประโยชน์ในทางวรรณคดี
เกิดขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง สืบมาเพราะนโยบายสุนทรภู่ คงไม่ได้อวดตัว หรือหมิ่นด้วยเจตนา เพื่อความยิ่งใหญ่ หรือเหนือไปกว่าพระเจ้าอยู่หัว แม้จะเป็นผู้มีอัธยาศัยขี้คุยบ้าง ก็อยู่ในลักษณะที่มีกาลเทศะ หรือเพื่อความสนุกสนานตามสมควร
ส่วนเรื่องที่ว่าสุนทรภู่ชอบหักล้างต่อหน้าพระที่นั่ง นั้น ข้อนี้ถ้ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงวานให้ตรวจต้นฉบับที่ทรงนิพนธ์ไว้ก่อน เป็นความจริง เมื่อสุนทรภู่ตรวจแล้วกราบทูลว่า "เห็นดีอยู่" แต่กลับไปท้วงขึ้นภายหลัง ดังนี้จะถือว่าเป็นการซ่อนเงื่อนงำไว้เช่นนั้น
ก็เห็นจะไม่ถูกต้องนัก เพราะขณะที่ตรวจแก้ บังเอิญคิดไปไม่ถึงในข้อที่จะเกิดบกพร่องขึ้น หรือเป็นเวลาที่ต้องใช้ อารมณ์เร็วเกินไป อย่างผู้ที่แต่งเรื่องไว้
เมื่อแรกก็เห็นดี แต่กลับเห็นไม่ดี ภายหลังกลับมาเห็นดี เช่นเดิมอีก จึงจะถืออารมณ์ให้แน่นอนนัก ย่อมไม่ได้ แม้จะเป็นผู้แต่งเอง พิจารณาเองยังเป็นไปเช่นนี้ บางคนเข้าที่คับขัน กลับเกิดปฏิภาณโวหารคล่องแคล่วเป็นฟุ้งเป็นแควไป บางคนก็นึกคิดอะไรไม่ได้ก็มี
ด้วยเหตุเหล่านี้ เรื่องที่สุนทรภู่ตรวจฉบับพระนิพนธ์ ของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ คงไม่เป็นเรื่องที่ซ่อนเงื่อนไว้ เพราะไม่ทันคิดในขณะนั้นก็เป็นได้
ถ้าสมมติว่าสุนทรภู่ได้ตรวจฉบับแล้ว ได้เห็นข้อบกพร่องมีอยู่ แต่ไม่กล้าแก้ไข เพราะเห็นว่าเมื่อแก้ถวายไป เผอิญตรงที่แก้ไว้นั้น ไม่ถูกพระราชประสงค์ของพระเจ้าอยู่หัว กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็จะทรงตำหนิได้ว่า แก้ให้เสีย
จึงรอไว้เมื่อประชุมปรึกษากันต่อหน้าพระที่นั่ง ให้ทรงพระราชวินิจฉัยดีกว่า เพราะถือว่าเวลาประชุม ก็เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งกันและกัน สร้างสรรค์งานอันประณีต ไว้แก่ชนชั้นหลังเท่าที่ควร
ถ้าบกพร่องขึ้นในต่อไป ก็จะเสื่อมเสียเกียรติคุณพระมหากษัตริย์ และคณะกวีที่ทรงปรึกษาร่วมกัน จึงเห็นทางว่า จะเป็นไปอย่างที่กล่าวนี้
อนึ่ง เรื่องที่ถูกกล่าวหาว่า ติประชดเป็นการเมือง นั้น เห็นจะโยงเรื่องเข้าหาความให้ลงรอยกัน สุนทรภู่ไม่อยู่ในฐานะมีเจตนาจะทูล หมายความดังนี้ต่อหน้าพระที่นั่งได้ ที่ทูลถวายความเห็นก็เป็นไปในแนวทางวรรณคดี หาได้ล่วงเกินกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ตามที่เข้าใจกันไม่ เรื่องที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จะพิจารณากันในทางใดก็ดี
แต่ก็ต้องยอมรับว่า กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ มีเรื่องที่ทรง อาฆาตขุ่นเคืองพระทัยในตัวสุนทรภู่ ถึงกับทรงมึนตึงอยู่ เห็นจะตลอดพระชนมายุของพระองค์
แต่พระองค์ก็ไม่ได้ทรงลงโทษเด็ดขาดกับสุนทรภู่ ยังคงให้โอกาสปฏิบัติธรรม และเดินทางจาริกยังตำบลต่างๆ ในหลายจังหวัด (ความคิดเห็นของข้าพเจ้า) จนสิ้นรัชสมัยของพระองค์
และไม่ว่าระยะเวลาจะผ่านไปจนครบรอบ กี่ร้อยปีก็ตาม ความจริงยังคงเป็นเช่นนั้นตลอดไป และผู้ที่รู้เหตุการณ์ในการตรวจทาน การแก้ไขต่อหน้าพระที่นั่งได้อย่างแจ่มชัดที่สุด ก็คงเห็นจะเป็น "สุนทรภู่"
ประวัติสังเขปสุนทรภู่
ประวัติสังเขปสุนทรภู่(ต่อ)
ดวงขะตาสุนทรภู่
ดวงชะตาสุนทรภู่
ดวงชะตาสุนทรภู่ (จบ)
สุนทรภู่ถึงแก่กรรม
สุนทรภู่ถึงแก่กรรม
สุนทรภู่ถึงแก่กรรม (จบ)
สมบัติของชาติ
สมบัติจองชาติ
สมบัติของชาติ(ต่อ)
สมบัติของขาติ(จบ)
โฆษณา