28 พ.ค. 2022 เวลา 17:27 • ครอบครัว & เด็ก
เรื่องที่พ่อแม่ควรรู้เมื่อลูกต้องเข้า NICU
" ทำความรู้จักกับ NICU "
ห้อง NICU หรือ หอผู้ป่วยทารกแรกเกิดวิกฤติ
(Neonatal Intensive Care Unit)
ถือเป็นพื้นที่พิเศษสำหรับทารกเกิดก่อนกำหนด ทารกจะได้รับการรักษาอย่างดีที่สุด จากแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญมีการติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด ควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมกับทารกแต่ละราย
ทารกกลุ่มไหนบ้างที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ?
ถึงแม้ว่าทารกส่วนใหญ่ใน NICU จะเป็นทารกเกิดก่อนกำหนด อายุครรภ์ น้อยกว่า 37 สัปดาห์หรือน้ำหนักน้อยกว่า 2500 กรัม แต่ก็ยังมีทารกอีกมากมายที่ต้องได้รับการดูแลเป็น พิเศษ เช่น ทารกที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด ทารกติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือติดเชื้อช่วงแรกเกิด
ทีมในการดูแลทารกแรกเกิด
- กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านทารกแรกเกิด
แพทย์ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญในการดูแลทารกแรกเกิดจะคอยดูแลเกี่ยวกับความเจ็บป่วย ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ดูแลเกี่ยวกับภาวะโภชนาการ และจะเป็นผู้บริหารจัดการทีมในการดูแลทารก
- แพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ
หลายครั้งทารกแรกเกิดอาจมีปัญหาของระบบอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ระบบประสาท ระบบหัวใจ ก็จะหนีแพร่เฉพาะทางสาขาต่างๆมาร่วมเป็นทีมในการดูแลทารก
- พยาบาล
พยาบาลวิชาชีพที่ได้รับการอบรมเฉพาะทางจะคอยจับตาดูลูกน้อยของคุณตลอดเวลาและทำงานร่วมกันกับแพทย์ เพื่อให้เกิดการดูแลที่ดีที่สุดกับทารก
- ผู้ช่วยพยาบาล
ผู้ช่วยพยาบาล จะคอยช่วยดูแล และเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆในการดูแลทารก
- คุณพ่อคุณแม่
ไม่เพียงแต่แพทย์และพยาบาลเท่านั้นที่มีส่วนร่วมในการดูแลทารก คุณพ่อคุณแม่ยังถือเป็นหนึ่งในทีมดูแล และมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้ทารกน้อยดีวันดีคืน
อุปกรณ์ที่ใช้ในการดูแลทารก
- สายวัดความอิ่มตัวออกซิเจนและอัตราการเต้นของหัวใจ
อุปกรณ์ที่ใช้จะเป็นแถบเล็กๆ สีขาวหรือสีน้ำตาล มีไฟสีแดง ติดไว้บนผิว บริเวณฝ่ามือ หรือฝ่าเท้า ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ปรับระดับการให้ออกซิเจนได้อย่างเหมาะสม
- Transcutaneous CO2
เป็นเครื่องวัดรูปร่างกลมคล้ายกระดุม วางบริเวณผิวหนัง เพื่อวัดระดับของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผิวหนังทำให้สามารถประเมินและปรับการช่วยหายใจได้อย่างเหมาะสม
- สายวัดอุณหภูมิที่ผิวหนัง
ใช้วัดอุณหภูมิของทารกบริเวณผิวหนัง เพื่อจะได้ติดตามอุณหภูมิได้ตลอดเวลา
- อุปกรณ์วัดความดันโลหิต
เป็นแถบใช้พันรอบแขน หรือขา เพื่อวัดความดันโลหิตของทารกเป็นระยะๆ
- สายสวนหลอดเลือดบริเวณสะดือ
เป็นท่อยาวขนาดเล็กใส่ไปในเส้นเลือดที่ขั้วสะดือ เพื่อช่วยในการให้สารน้ำ สารอาหาร และใช้ดูดเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยไม่ต้องเจาะเลือดจากทารกซึ่งจะทำให้ทารกเจ็บจากการเจาะเลือด
- เครื่องส่องไฟ
เป็นโคมไฟชนิดพิเศษ ใช้ลดระดับสารเหลืองในตัวทารก ซึ่งหากปล่อยให้ระดับของค่าตัวเหลืองมีปริมาณสูงเกินไป
อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ทารกได้
- เครื่องช่วยหายใจ
เครื่องช่วยหายใจจะช่วยทารกหายใจผ่านท่อเล็กๆ ที่ใส่ทางปากเข้าสู่หลอดลมเพื่อให้อากาศเข้าสู่ปอดของทารกโดยตรง
ช่วยให้ทารกหายใจสบายขึ้น
- CPAP หรือ high flow nasal cannula
เป็นเครื่องช่วยหายใจแบบไม่รุกราน ที่ใส่ทางจมูกทารก ใช้ในกรณีที่ทารกสามารถหายใจได้เองในระดับหนึ่ง
การให้อาหารทารกแรกเกิดใน NICU
👼🏻 ให้อาหารทางเส้นเลือด
เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ทารกขาดสารอาหาร ในช่วงที่ทารกยังไม่พร้อมรับอาหารทางสายยาง หรือทางปาก มีหลายวิธีที่ใช้เช่น ให้ผ่านทางเส้นเลือดบริเวณสะดือ เส้นเลือดส่วนปลาย ทางเส้นเลือดใหญ่ โดยใช้สายสวนหลอดเลือดใส่เข้าทางเส้นเลือดเหล่านี้
👼🏻 ให้ผ่านทางสายยางลงสู่กระเพาะอาหาร
เนื่องจากทารกยังมีการดูดกลืนที่ไม่ดี จึงจำเป็นต้องให้นมผ่านทางสายยางเพื่อป้องกันการสำลัก โดยแพทย์จะคำนวณปริมาณนมที่เหมาะสมในแต่ละวันและค่อยๆ เพิ่มปริมาณอย่างช้าๆ
การเข้าเยี่ยมทารกใน NICU
โดยปกติพ่อแม่สามารถเข้าเยี่ยมทารกใน NICU ได้ตามช่วงเวลาที่กำหนด สิ่งที่สำคัญคือต้องปฏิบัติตามกฎการเยี่ยมของ NICU แต่ละแห่งเวลาในการเยี่ยมทารกอาจไม่สะดวกสำหรับพ่อแม่บางท่าน แต่การเยี่ยมทีจำกัดเพื่อเป็นการปกป้องทารกจากการติดเชื้อหรือแม้กระทั่งจากการกระตุ้นที่มากเกินไป ทารกต้องสำรองพลังงานทั้งหมดไว้สำหรับการหายใจและเพื่อการเจริญเติบโต
พ่อแม่ช่วยเสริมพัฒนาการลูก
พ่อแม่สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการเจ้าตัวเล็กเกิดก่อนกำหนดได้ระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาลด้วยการอุ้มกอดแบบจิงโจ้ หรือที่เรียกว่า kangaroo mother care
การทำ KMC จะช่วยทำให้ทารกสงบ หลับได้นานขึ้น รักษาอุณหภูมิกายให้คงที่ มีอัตราการเต้นของหัวใจ และหายใจสม่ำเสมอลดการใช้พลังงานของร่างกาย ลดการติดเชื้อ ส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่าง แม่-ลูก และสิ่งที่สำคัญ คือการให้ทารกดูดนมจากเต้าเมื่อทารกมีความพร้อม ช่วยเพิ่มความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกเกิดก่อนกำหนด
วิธีการทำ
kangaroo mother care
วิธีการทำ KMC โดยจัดให้ทารกนอนบนอก มารดาในท่าศีรษะสูงอยู่ระหว่างเต้านมของมารดาให้ หน้าอก ท้อง แขน ขาของลูกได้สัมผัสกับผิวหนังของมารดาหันศรีษะไปด้านใดด้านหนึ่ง ใส่ผ้าอ้อมให้ทารกใช้ผ้าพันรอบตัวมารดากับทารก
ในกรณีที่อุณหภูมิห้องเย็นหรือทารกน้ำหนักน้อยมากให้ใส่หมวก ถุงมือ ถุงเท้าให้ทารก
โฆษณา