Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เรื่องมีมาก(แค่)อยากบอกต่อ
•
ติดตาม
29 พ.ค. 2022 เวลา 03:33 • ประวัติศาสตร์
รู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนคร ผู้ไท โส้ โย้ย กะเลิง เป็นใคร มาจากไหน?
ในภาคอีสานมีชุมชนวัฒนธรรมท้องถิ่นมากมาย ไม่ใช่มีแต่เฉพาะชาวไทลาวหรือชาวอีสานเท่านั้น หากมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาถิ่นเช่นกลุ่มผู้ไทหรือภูไท แสก โซ่หรือโส้ กูย ญ้อหรือย้อ โย้ย กะเลิง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบางสิ่งบางอย่างแตกต่างกันเฉพาะ
ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนครค่อนข้างจะเด่นชัดกว่า โดยเฉพาะที่จังหวัดสกลนครมีทั้งไทยอีสานหรือไทลาวที่ตั้งรกรากกระจัดกระจายทุกอำเภอ ส่วนชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่น ๆ อาจเห็นเด่นชัดเฉพาะจุด เช่น ผู้ไทมีมากในวาริชภูมิและพรรณานิคม ส่วนในอำเภอเมืองจะพบเห็นกะเลิง ย้อ และญวน สำหรับโย้ยจะมีมากที่วานรนิวาสและอากาศอำนวย
โส้รวมตัวที่กุสุมาลย์โดยโส้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มมองโกลอยด์ตระกูลมอญ-เขมร เช่นเดียวกับ พวกข่า กะเลิง และแสก ถิ่นเดิมอยู่ที่เมืองภูวานากระแด้งรอยต่อคำม่วน-สุวรรณเขต ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
กะเลิงกุดบากน้ำอูน ต้นตำรับวัฒนธรรมทับควาย
คำว่า กะเลิง ชาวจีนเรียกว่า คุน-ลุนหรือกุรุง ในภาษาจามเป็นกะลุง แหล่งใหญ่ของกะเลิงอยู่ที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำตะโปน
กะเลิงย้ายมาจากลาวครั้งศึกปราบเจ้าอนุวงศ์เวียงจันท์สมัยรัชกาลที่ 3 มาอยู่ตามแนวเทือกเขาภูพาน เช่น กลุ่มกะเลิงบ้านบัว อำเภอกุดบาก บริเวณต้นน้ำอูน อาชีพดั้งเดิมของกลุ่มนี้จะทำไร่ภู มีข้าวไร่ พริก ฝ้าย และยาสูบเป็นหลัก โดยข้าวไร่ของกะเลิงมี 2 ชนิดคือ ข้าวฮูด และข้าวฮ้าว อย่างแรกเมื่อรวงสุกใช้มือรูดเมล็ดได้จากรวง ส่วนอย่างหลังต้องเกี่ยวแบบเดียวกับนาหว่าน
กะเลิงจัดเป็นกลุ่มชนที่มีฝีมือในการหาของป่าโดยเฉพาะหมากแหน่ง ที่เป็นสมุนไพรออกผลตามโคนต้นไม้ติดกับรากพืชในช่วงเดือน 9 ก่อนนี้กะเลิงจะเลี้ยงหมูพื้นบ้านที่ชื่อว่า “หมูกี้” เป็นหมูหูสั้นราคาดีแต่ไม่เลี้ยงเป็นเรื่องเป็นราว แม้ว่าหมูชนิดนี้มีเนื้อแดงมากก็จริง แต่ชาวบ้านนิยมใช้เลี้ยงผีปู่ตา กระทั่งมีการปลูกมันสำปะหลังมากขึ้นการเลี้ยงหมูจึงน้อยลง เพราะเกรงว่าจะลงทำลายไร่
ชาวกะเลิงยังคงเชื่อในผีแจหรือผีเรือนอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังเชื่อในเรื่องผีป่าผีภู เวลาออกล่าสัตว์จะต้องพูดหยาบตลกลามกเพื่อให้ผีป่าชอบใจด้วยเสมอ เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปมากถึงขนาดผู้เฒ่าบ้านบัวบอกว่า “เมื่อป่าไม้หมดไปเพิ่นกะหนีไปอยู่ที่อื่น อย่างผีดำหมากก่อน แต่ก่อนเข็ด (ศักดิ์สิทธิ์) แต่ทุกวันนี้มันบ่เข็ดป่าหมดแล้ว ผีก็อยู่ไม่ได้”
ในอดีตมีระบบแลกเปลี่ยนระหว่างกันตามลักษณะหลักแหล่งของหมู่บ้าน อย่างเช่นกะเลิงตามภูเขาทำไร่ จะนำผลผลิตลงมาแลกกับคนในบ้านอื่น เช่นกะเลิงที่บ้านนายอ บ้านดงมะไฟที่มีดตีขวานขาย ส่วนไทย้อบ้านสามผงริมแม่น้ำสงครามมีปลาร้า ปลาย่าง และผู้ไทบ้านม่วง-บ้านขมิ้น อำเภอพรรณานิคม ทำหม้อดิน ตุ่มน้ำและเกลือสินเธาว์
บรรยากาศสมัยเก่าจะมีคาราวานกองเกวียนของ “นายฮ้อย” มาจอดพักที่ทุ่งนาใกล้หมู่บ้านแต่ละแห่งเสมอ หมู่บ้านทุกแห่งจึงมิได้อยู่ในสภาพโดดเดี่ยว
ชุมชนกะเลิงเป็นชุมชนระบบเครือญาติทั้งโดยสายเลือดและเครือญาติข้างเคียง หลายหมู่บ้านมีคนในสกุลเดียว ยกตัวอย่าง สกุลกุดวงศ์แก้วเป็นสกุลของกะเลิงบ้านบัว เช่นเดียวกับสกุลศรีมุกดาเป็นของกะเลิงบ้านกุดแฮด แต่ถ้าที่กุดบากต้องเป็นสกุลดาบละอำ
ซึ่งความเหมือนเช่นนี้อาจไม่ใช่เกิดแต่เฉพาะการแต่งงานเท่านั้น หากเป็นไปได้จากการเปลี่ยนนามสกุลตามเพื่อให้เป็นอะไรโดยนัยหนึ่งเดียวของหมู่บ้าน อีกประการเพราะกะเลิงรูปร่างเตี้ยผิวคล้ำผิดกับผู้ไทกลุ่มอื่น การเลือกคู่ครองจึงต้องคล้ายกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาชีวิตคู่
กะเลิงทุกวันนี้ยังฝังใจอยู่กับภาพเก่า ๆ ถึงกับบอกว่าตัวเองเป็นไทภูหูสั้นหรือคนที่มีความรู้น้อยนั่นเอง
ป่าช้าหรือดอนปู่ตาเป็นป่าที่มีความสำคัญต่อชุมชนถือเป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ จุดนี้จึงยังเป็นป่าที่เหลืออยู่ ตามธรรมเนียมของผู้ไท ข่า โส้ กะเลิง แต่เดิมนั้นนิยมฝังศพเผาศพในป่าช้า ตรงกันข้ามกับกลุ่มไท ลาว ย้อ โย้ย ที่แต่เดิมนิยมเผาศพในที่นา โดยทำพิธีเสี่ยงไข่โยนไปแตกที่ไหนแสดงว่าผู้ตายให้เผาศพตรงนั้น
อีกอย่างที่น่าสนใจ คือ “วัฒนธรรมบนทับควาย” ของชาวกะเลิงที่เกิดจากการย้ายสัตว์เข้าไปหากินในป่าโคกระหว่างนั้นจะเกิดเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ระหว่างพ่อกับลูก มีการเรียนรู้วิธีการฟันเชือก จักสานเครื่องมือเครื่องใช้และวิทยาการอื่น ๆ ที่จะนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตเมื่อเติบใหญ่ขึ้น
ผู้ไทถือผี มีบันทึกไว้ในพงศาวดารเมืองแถนกล่าวถึงตำนานการเกิดมนุษย์ต้นกำเนิดของชาวผู้ไทว่าเกิดจากเทวดา 5 พี่น้องกับภรรยา ก่อนตายเพื่อเกิดใหม่ได้อธิษฐานจิตเข้าไปอยู่ในน้ำเต้าที่ลอยลงมาตกที่ทุ่งนาเตาใกล้เมืองแถน เมื่อน้ำเต้าแตกออกเกิดเป็นมนุษย์ชายหญิง คนแรกเป็นพวกข่า คนที่สองเป็นไทดำ คนที่สามเป็นลาวพุงขาว คนที่สี่เป็นจีนฮ่อ คนที่ห้าเป็นแกวหรือญวน
ชาวผู้ไทที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองวัง เมืองตะโปน เมืองคำอ้อ หลังกบฏเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 กระจายอยู่ในอีสาน เหนือแถวอำเภอสหัสขันธ์ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร อำเภอหนองสูง อำเภอคำชะอี และอำเภอเมืองมุกดาหาร เรียกได้ว่ากระจัดกระจายอยู่โดยรอบเทือกเขาภูพานในเขตกาฬสินธุ์ มุกดาหาร นครพนม สกลนคร อำนาจเจริญ ยโสธร
ผู้ไทมี 2 พวกคือ ไทดำ และไทขาว มีความคล้ายกันในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพิธีกรรมความเชื่อ การบวช แต่งงาน พ่อล่าม การเฆี่ยนเขย ผีเรือนผีบรรพบุรุษ
การนับถือผีของชาวผู้ไทจะมีการผสมผสานกับพุทธในพิธีกรรมตามฮีตสิบสอง เช่น การทำบุญข้าวสาก การทำบุญข้าวประดับดิน และการทำบุญซำฮะ เป็นพิธีกรรมอันสืบเนื่องจากความเชื่อเรื่องผี แต่มีพระเข้าร่วมพิธีด้วย
การเลี้ยงผีบรรพบุรุษของชาวผู้ไท จะมีอยู่ 2 ลักษณะคือ เลี้ยงประจำปีที่นิยมในวันสงกรานต์ และเลี้ยงในการบะ และการคอบ (การบะหรือการบนบานศาลกล่าว ส่วนการคอบคือการแก้บนอาจเรียกว่าการขอบก็ได้) โดยมีเจ้าจำเป็นสื่อกลางระหว่างคนกับผีที่ผู้ไทจะเรียกว่าผีเจ้าปู่เจ้าจ้ำจะเป็นคนที่สืบทอดมาตามสายตระกูลชั้นสูงในอดีต ดังนั้นการแต่งตัวในพิธีจะคล้ายนักรบโบราณ เสื้อผ้าสีแดงคลุมยาวถึงเข่า ถือง้าวและเหน็บดาบสั้น
เครื่องสังเวยในพิธีที่ขาดไม่ได้คือ น้ำหอมจากการฝนแก่นจันทน์แดงและแก่นจันทน์หอมผสมน้ำสะอาดถวายเป็นเครื่องดื่มช้างซึ่งหมายถึงเหล้าจากปลายข้าวผสมแกลบหมัก เรียกเหล้าไหและม้าที่เป็นเหล้าโรงหรือเหล้าขาว
ส่วนเครื่องเซ่นที่เป็นอาหารหลัก ต้องมีลาบแดง แกงร้อน (ลาบแดงคือก้อยหรือลาบเลือด แกงร้อน คือแกงเนื้อเครื่องใน) นอกจากนี้ยังต้องมีเนื้อสด ๆ และเท้าสัตว์ครบข้างประกอบด้วย สำหรับของหวานจะเป็นข้าวดำ (ข้าวเหนียวนึ่งคลุกดินหม้อ) และข้าวแดง (ข้าวเหนียวนึ่งคลุกปูนแดง) ดอกไม้นิยมใช้พวงมาลัยดอกจำปา ที่เชื่อกันว่าเป็นดอกไม้บูชาผี
ในกลุ่มผู้ไทมีไทดำ (ไททรงดำหรือลาวโซ่ง) ซึ่งเป็นชนชาติไตสาขาหนึ่งที่อพยพมาจากสิบสองเจ้าไทหรือสิบสองผู้ไทแถวเมืองแถน หรือเดียนเบียนฟู เข้ามาอยู่ในไทยลึกเข้ามาถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่หากย้อนกลับไปอดีตมีบันทึกบอกว่าไทดำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
บรรพบุรุษมาจากเมืองทันต์ ประเทศลาวเมื่อครั้งสงครามเมืองทันต์ สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี จนกระทั่งในรัชกาลที่ 3 ไทดำกลุ่มนี้ได้ย้ายขยับลงมาอยู่ที่บ้านแหลมและเขาย้อย (โดยเฉพาะที่ตำบลหนองปรง ที่คนไทดำเรียกว่าบ้านเก่า) จังหวัดเพชรบุรี อีกส่วนหนึ่งอพยพโยกย้ายถิ่นขึ้นมาถึงนครปฐม สุพรรณบุรี และพิษณุโลก
ไทดําที่จริงผิวขาวแต่ที่เรียกเช่นนี้เพราะเครื่องแต่งกายนิยมใช้ ผ้าสีดํา คล้ายกับพวกที่อยู่แถบเมืองไลใส่ผ้าสีขาวเรียกไทขาว
เคยมีบันทึกหนึ่งเขียนถึงไทดำเมืองวาด เมืองชายแดนเวียดนามด้านทิศตะวันตกติดจังหวัดหัวพันของลาวว่า ไฟฟ้าเมืองนี้ดับเวลาสี่ทุ่มครึ่ง คำว่า ดับไฟฟ้า ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า มอดไฟ เป็นภาษาน่ารักแบบไม่น่าเชื่อว่านอกจากคำว่าดับไฟอันเป็นคำไทยแท้ ๆ แล้ว ในภาษาไทดำยังสามารถใช้คำว่ามอดไฟแทนได้อย่างไม่ขัดเขิน
ในบันทึกดังกล่าวยังบอกถึง “ป่าแห้ว” หรือป่าช้าแปลตามภาษาไทลุ่มน้ำตาว ที่มีพิธีกรรมอันผูกโยงกับผีไม่มีศาสนา เมื่อเผาศพคนตายไทดำเมืองวาดจะเอากระดูกไปฝังที่ป่าแห้วแล้วสร้างบ้านขนาดเล็กคล้ายหอผีที่เรียกว่า “เรือนแห้ว”
มีเครื่องมือทำกินเช่นแหจับปลา วางไว้หน้าเรือนแห้วประดับธงผ้าแขวนในแนวตั้งมีร่มคล้ายฉัตรแขวนด้วยนก (แทนผู้ชาย) หรือปลี (แทนผู้หญิง) ความคล้ายเช่นนี้ พอเห็นได้ในพิธีส่งวิญญาณไปสวรรค์ของกลุ่มผู้ไทบ้านท่าบ่อศรีสงคราม
นัยตรงนี้บอกได้ถึงความเหมือนของไทดำในลาว เวียดนาม รวมถึงไทดำเพชรบุรีและผู้ไทบางพื้นที่ในแอ่งสกลนคร ซึ่งคติความเชื่ออันเกี่ยวเนื่องการนับถือผีไม่ใช่แต่เพียงผู้ไท หากยังรวมถึงกลุ่มโส้ด้วยที่ศรัทธานี้ยังมีอย่างแนบแน่น
พวกธรอหรือโส้ทางแอ่งสกลนครภาษาพูดมีส่วนคล้ายกับพวกกูยหรือส่วยทางอีสานใต้อย่างมาก นักภาษาศาสตร์จัดภาษาโส้กับส่วยอยู่ในตระกูลมอญ-เขมรสาขากะตุ ซึ่งได้แก่ภาษาธรอ กูย เขมร มอญ ข่า และบลู
เหตุที่ชาวโส้ดั้งเดิมอาศัยอยู่ตามไหล่เขาแถวเมืองบก เมืองวังของลาว ทำให้มีความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณเวทมนตร์ไสยศาสตร์อย่างมาก ดังนั้นโส้จึงมีพิธีเหยาหรือเยาอันเป็นพิธีกรรมของการทรงเจ้าเข้าผีเพื่อบำบัดความเจ็บไข้เสมอ รวมถึงพิธีเลี้ยงผีแจหรือผีเรือน
พิธีเรียะธรอระเวียหรือเลี้ยงผีตาแฮก และพิธีซางกะมู๊ด (ซางแปลว่าการกระทำ ส่วนกะมู๊ดแปลว่าผี ดังนั้นซางกะมู๊ดจึงหมายถึงการกระทำให้ผีดิบกลายเป็นผีสุกก่อนที่จะนำคนตายไปเผาหรือฝัง)
ประเพณีพิธีกรรมส่วนใหญ่จะมีความเชื่อปะปนอยู่ด้วยจนแยกไม่ออกว่าอะไรคือประเพณี อะไรคือพิธีกรรม โดยเฉพาะการเลี้ยงชุมนุมผีหรือพิธีเหยาลงสนามที่ในแต่ละชุมชนจะจัดไม่ตรงกัน ระหว่างเดือน 3-6 นั้น นับเป็นพิธีใหญ่อันรวมความหมายตรงนี้อย่างครบถ้วน เป็นพิธีกรรมที่ทำกันเป็นประเพณีประจำทุก ๆ ปี
ไทโส้ที่ยังรวมกลุ่มกันเด่นชัดที่สุดในแอ่งสกลนครอยู่ที่อำเภอกุสุมาลย์ ที่นั่นยังมีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจโดยเฉพาะด้านดนตรีที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม ชนกลุ่มนี้มีประเพณีเฉพาะและใช้เครื่องดนตรี “เฉพาะ” เป็นองค์ประกอบสำคัญ เช่น กระจับปี่ (พิณ) ซอหนังกบ แคน กลองตุ้ม กลองเล็ง โปงลาง พังฮาด ฉิ่ง ฉาบ หมากกรับแก็บ
ส่วนเครื่องดนตรี (เครื่องให้จังหวะ) ที่ได้จากวัสดุธรรมชาติหรือของรอบตัว เช่น บั้งไม้ไผ่ มีดหัก เคียวหัก ขวานหัก และโอ่ง เหล่านี้จะเน้นการใช้เฉพาะเวลาทำพิธีกรรมเท่านั้น อย่างเช่นมีดหัก ขวานหักจะใช้เป็นเครื่องสร้างจังหวะในพิธีซางกะมู๊ด
ไทโส้เชื่อว่ามีอยู่ 2 ผีที่ต้องบูชา คือ ผีน้ำอันหมายรวมถึงผีป่า ผีเขา ผีฟ้าผีแถน ผีนาผีไร่ และผีมูล (ผีบรรพบุรุษ) ซึ่งการเหยาผีมูลจะใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีหลักประกอบเครื่องทำจังหวะธรรมชาติ เช่นบั้งไม้ไผ่ท่อนยาว 1 เมตรกระทุ้งดิน ลายแคนของชาวโส้ที่บรรเลงในพิธีกรรมจะมี ลายผู้ไทใหญ่ ลายผู้ไทน้อย ลายภู่ตอมดอก เป็นต้น
ชุมชนประมง โย้ยริมน้ำ ในกระบวนกลุ่มชาติพันธุ์ของแอ่งวัฒนธรรมสกลนครนั้น ไทย้อและไทโย้ยจัดเป็นกลุ่มที่วางรากฐานวัฒนธรรมปลาแดกได้ชัดเจนที่สุดกลุ่มหนึ่ง
โย้ยเป็นกลุ่มชนเก่าแก่มีถิ่นฐานในมณฑลไกวเจา-กวางสี จีน จะเรียกโย้ยว่าสร้อง แต่บางแห่งของเวียดนามเรียกว่าโด้ย โย้ยยังมีเรียกชื่ออื่นอีกว่าอี้หรือไย แต่โย้ยเรียกตัวเองว่าโย่ยโดยสรุปไม่ว่าจะเป็นโย่ย อี้ ไย สร้อง และโด้ย รวมความหมายถึงโย้ยทั้งสิ้น
โย้ยอพยพครั้งใหญ่เมื่อเกิดศึกเจืองที่ซำเหนือก่อนย้ายมาตั้งถิ่นใหม่ที่บ้านฮ่อมท้าวฮูเซใกล้เมืองมหาชัยกองแก้ว ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์บันทึกว่าไทโย้ย อำเภออากาศอำนวย บรรพบุรุษมาจากปากน้ำเมืองฮ่อมท้าวฮูเซ ประเทศลาวในสมัยรัชกาลที่ 2 แรกตั้งหลักฐานที่บ้านม่วงริมยาม (ริมลำน้ำยาม ตำบลอากาศในปัจจุบัน)
จากนั้นกระจายไปยังตำบลสามัคคี โพนงาม ท่าก้อน นาฮี วาใหญ่ โพนแพง และบะหว้า ดังนั้นในเขตอำเภอนี้จึงนับได้ว่ามีไทโย้ยปักหลักอย่างหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของสกลนคร
ธรรมชาติแต่เดิมของไทโย้ยเป็นคนใจบุญและนิ่งเย็น ระบบความเชื่อจะศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างมาก โดยเฉพาะประเพณีการไหลเรือไฟที่ทำต่อเนื่องกันมานาน แต่โบราณแล้วโย้ยถือเอาการไหลเรือไฟเป็นประเพณีบุญเดือนสิบ โดยจะมีพิธีกรรมร่วมกัน 2 อย่างประกอบกันคือ ประเพณีบุญข้าวสาก (สลากภัต)
ทางพุทธทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ ชาวโย้ยถือวันนี้เป็นวันโฮมหรือวันรวมญาติด้วย และประเพณีไหว้ห้านบูชาไฟหรือการไหลเรือไฟอันเป็นประเพณีทางพราหมณ์ เป็นการบูชาแม่น้ำ
การไหลเรือไฟเดิมทำจากกาบท่อนกล้วยต่อกันยาว 5-6 เมตร ใส่ขนมข้าวต้ม กล้วย อ้อย มะพร้าวอ่อน เผือก มัน ส่วนเครื่องประดับหลักมีตะเกียงหรือขี้ไต้ที่
โย้ยเรียกว่า ก้านจู้ เรือไฟจะปล่อยลอยตามลำน้ำเพื่อนำสิ่งชั่วร้ายไหลลงแม่น้ำโขงและเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า
ที่เชื่อกันว่าประทับไว้บนหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนันมหานนที การไหลเรือไฟนี้บางกระแสว่าเป็นการอัญเชิญผีเงือกกลับเมืองฮ่อมปากกะดิงในแม่น้ำโขง ซึ่งสัมพันธ์กับฤดูกาลที่น้ำในแม่น้ำยามไหลลงแม่น้ำโขงเป็นปกติในช่วงนี้
ความเชื่อในเรื่องผีของโย้ยมีเช่นเดียวกับชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนครกลุ่มอื่น ๆ เชื่อในผีตาแฮกหรือผีไร่นา เชื่อในผีปู่ตาหรือผีแจ โดยเฉพาะความเชื่อในผีน้ำหรือผีเงือก ที่ถือเป็นผีเลว คติต่าง ๆ เหล่านี้อาจใช้เป็นอุบายไม่ให้เด็กเล่นน้ำซึ่งอาจจมหรือไม่สบายได้
สำหรับไทย้อซึ่งมีมากเป็นอันดับสองรองจากกลุ่มไทลาว ภาษาพูดอยู่ในกลุ่มตระกูลไตแบบเดียวกับผู้ไท สังคมย้อเป็นสังคมเกษตรกรรม ทำนาเป็นหลักมีประเพณีที่เรียกว่า “นาวาน” คล้ายกับการลงแขกทำนาในภาคกลาง ซึ่งการวานแรงใช้ได้กับทุกเรื่อง
บ้านย้อในอดีตจะเป็นบ้านแฝดติดกันสองห้องมีหลังคาแยก เรียกว่า “เฮืยนหัวลอย” ต่อมาพัฒนาเป็นหลังคาเดี่ยว ย้อถือตัวว่าสูงศักดิ์มาจากชาติตระกูลเจ้า ดังนั้นการแต่งงานจะวนเวียนอยู่แต่เฉพาะในกลุ่มย้อเท่านั้น มีเรื่องน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับสังคมย้อ เฉพาะในวันแต่งงานซึ่งเป็นงานมงคลนั้นปลาจะถือเป็นอาหารชั้นเยี่ยม ยกตัวอย่างลาบเตี้ยหรือลาบปลาตอง (ปลาฉลาด) จัดเป็นอาหารพิเศษนิยมในวันนี้
ย้อและโย้ยนิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ “ไหล” เป็นส่วนใหญ่ อาชีพหลักที่เห็นนอกจากทำนาก็คือการประมง
พระยาอนุมานราชธน ปราชญ์เมืองไทยจำแนกวัฒนธรรมออกเป็น 4 ประเภทคือ คติธรรม วัฒนธรรมเกี่ยวกับการดำเนิน ชีวิตเป็นเรื่องของจิตใจ เนติธรรม วัฒนธรรมทางจารีตประเพณี วัตถุธรรม วัฒนธรรมทางเครื่องมือเครื่องใช้บ้านเรือน และสหธรรม วัฒนธรรมทางสังคมที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข
วัฒนธรรมของกลุ่มชนเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมย่อยที่คู่ควรต่อการศึกษา บางอย่างเกี่ยวโยงและบ่งบอกความเป็นมาของชนชาติในภาพรวมได้
ไทย
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย