Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A.Thitichai
•
ติดตาม
29 พ.ค. 2022 เวลา 13:42 • ประวัติศาสตร์
117 ปี บ้านสุริยานุวัตร
จุดเริ่มต้นทำการ "เทศบาลนครกรุงเทพ
จากข่าว ย้อนตำนาน 66 ปี ศาลาว่าการ กทม. “เสาชิงช้า” ก่อนโบกมือลา สู่ “ดินแดง” แล้วระบุถึง บทความ "ก่อนจะมาเป็น ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร" ซึ่งตีพิมพ์วารสาร บางกอก economy เล่ม 11 เมื่อปี พ.ศ.2552 เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ “ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "กทม.1 เสาชิงช้า" ตึกสี่เหลี่ยมที่เชื่อมต่อกันด้วยอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนตึกใดในกรุงเทพฯ
มีความเกี่ยวข้อง "บ้านสุริยานุวัตร" ก่อนจะมาเป็นที่ตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ในพื้นที่แห่งนี้ โดยสถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งเทศบาลกรุงเทพ
ประวัติบ้าน "สุริยานุวัตร"
บ้านสุริยานุวัตร ในอดีตเป็นเรือนพำนักอาศัย มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร "นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของไทย” ผู้เขียน "ทรัพย์ศาสตร์” ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย เริ่มต้นก่อสร้างปี 2448 เป็นบ้านที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเพื่อตอบแทนคุณความดี ในการปฏิบัติราชการด้วยความสามารถ ความเพียร และซื่อสัตย์สุจริตมาโดยตลอดของ "พระยาสุริยานุวัตร”
อาคารแห่งนี้ออกแบบก่อสร้างโดยนายมารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียน คนเดียวกับที่ออกแบบก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม และในปี 2532 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติที่ต้องอนุรักษ์ไว้ในฐานะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ
จาก "บ้าน" สู่ "ที่ทำการหลวง"
ก่อนที่ “พระยาสุริยานุวัตร” จะถึงแก่อนิจกรรมได้สั่งไว้ ว่า หากลูกหลานไม่สามารถดูแลบ้านหลังนี้ไว้ได้ให้คืนแก่หลวงไป เพราะเป็นของได้รับพระราชทานมา ภายหลังจากท่านถึงแก่อนิจกรรมประมาณ 4-5 ปี (ราว พ.ศ. 2483 - 2484) คุณหญิงลิ้นจี่ ภรรยาของท่านได้ขายบ้านหลังนี้ให้แก่รัฐบาล เนื่องจากท่านเป็นคนซื่อสัตย์ทํามาหากินโดยสุจริตตลอดมา เมื่อท่านถึงแก่อนิจกรรมแล้วจึงมีเงินเหลือให้ครอบครัวเพียง 4,000 บาทเท่านั้น
บ้านสุริยานุวัตร จึงได้แปรเปลี่ยนจากสถานะอาคารที่อยู่อาศัย กลายเป็นอาคารทำการหลวง หรือ ที่ตั้งหน่วยงานราชการ เริ่มต้นด้วย "สํานักงานเทศบาลนครกรุงเทพมหานคร" และ "กรมโลหะกิจ" ตามลําดับ และต่อมาได้ใช้เป็นสถานที่ตั้งของสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตั้งแต่ พ.ศ. 2493
จัดตั้ง "เทศบาลกรุงเทพ"
เมื่อ พ.ศ. 2476 ได้มีการยกเลิกมณฑลโดยพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2476 โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคไว้เป็นจังหวัดและอำเภอ เป็นการยกเลิกมณฑลต่างๆ คงเหลือเพียงจังหวัดพระนคร และธนบุรีที่มีการปกครองต่างจากจังหวัดอื่นๆ ตามสภาพภูมิประเทศ และความสำคัญ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476
พระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ. 2479 และจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2480 แต่เทศบาลเริ่มเปิดดำเนินงานในวันที่ 27 พฤษภาคม 2480 โดยที่ทำการเดิมของ "กรุงเทพมหานคร" เป็นการเช่าบ้านของคุณหญิงลิ้นจี่ สุริยานุวัติ ที่ถนนกรุงเกษม เป็นสำนักงาน มีพลเอกเจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นนายกเทศมนตรี คนแรก
บ้านสุริยานุวัตร กับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
บ้านหลังนี้ ได้ถูกใช้เป็นที่ประชุมของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยทายาทใกล้ชิดของ “พระยาสุริยานุวัตร” เล่าว่า บ้านหลังนี้เคยใช้เป็นที่ประชุมก่อการ เปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะผู้ก่อการ พ.ศ. 2475 เนื่องจากนายประจวบ บุนนาค บุตรชายคนสุดท้องของท่านร่วมเป็นผู้หนึ่งในคณะผู้ก่อการด้วย
เมื่อทราบเรื่องครั้งแรก “พระยาสุริยานุวัตร” โกรธบุตรชายมาก เพราะคิดว่าจะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ต่อมาเมื่อท่านเข้าใจว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อชาติอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขจึงได้อนุญาตให้ใช้เป็นที่ประชุมได้
ภาพพระยาสุริยานุวัตรกลับคืนสู่บ้าน
เมื่อ พ.ศ. 2533 สศช. ได้ร่วมกับกรมศิลปากรดําเนินการบูรณะอาคารแห่งนี้เป็นครั้งแรกในสมัย ดร.พิสิฎฐ ภัคเกษม เป็นเลขาธิการฯ โดยปรับปรุงให้อยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด และได้สืบหาทายาทของ “พระยาสุริยานุวัตร”
ซึ่งในที่สุดได้พบนางประชงค์ บุนนาค สะใภ้ของท่าน (ภริยาของนายประจวบ บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) ซึ่งขณะนั้นอยู่ในวัย 83 ปีและนับว่าเป็นญาติใกล้ชิดเพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู๋เนื่องจากบุตรและธิดารวม 7 คนได้ถึงแก่กรรมหมดแล้วและทุกท่านไม่มีทายาทเลย
ในโอกาสที่ สศช. ครบรอบ 42 ปีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 นางประชงค์ บุนนาค ได้มอบ “ภาพเหมือนของพระยาสุริยานุวัตร” เขียนด้วยสีน้ำมันขนาดใหญ่โดยจิตรกรชาวอิตาลีเมื่อ พ.ศ. 2441 พร้อมมอบเครื่องใช้ส่วนตัวอื่นๆ ซึ่งท่านนำกลับมาจากต่างประเทศให้แก่ สศช.
117 ปี จากบ้านมหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร "นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของไทย” อาคารบ้านหลังนี้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ด้านการเมืองการปกครองอีกด้วย
เรียบเรียงเนื้อหา : ฐิติชัย อัฏฏะวัชระ
อ้างอิง
...เอกสารประวัติอาคารสุริยานุวัตร คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ
... ข่าว "ย้อนตำนาน 66 ปี ศาลาว่าการ กทม. “เสาชิงช้า” ก่อนโบกมือลา สู่ “ดินแดง” กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
...“บ้านสุริยานุวัตร” จากบ้านของนักเศรษฐศาสตร์ไทยคนแรก สู่อาคารสำนักงานของสภาพัฒน์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร "นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของไทย” ผู้เขียน "ทรัพย์ศาสตร์” ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย
กรุงเทพมหานคร
ประวัติศาสตร์
การเมืองการปกครอง
1 บันทึก
4
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย