29 พ.ค. 2022 เวลา 16:40 • ครอบครัว & เด็ก
แนะนำ อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เพื่อพัฒนาสมอง สอดแทรกพฤติกรรมดีๆ ให้กับลูก
ถ้าให้นึกถึงกิจกรรมที่ทำร่วมกันกับลูก ๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่คิดถึงกิจกรรมอะไรกันบ้างคะ? บางครอบครัวอาจจะพาลูกไป
ปั่นจักรยาน, เดินเล่นในสวนสาธารณะ, ไปว่ายน้ำ, ไปสนามเด็กเล่น หรือวาดรูประบายสี เป็นต้น บางครอบครัวอาจจะชอบการเดินทางท่องเที่ยว, ไปทะเลก็สดชื่น, ไปภูเขาก็ได้ผจญภัย ก็แล้วแต่ว่ากิจกรรมอะไรจะเหมาะสมอย่างไรกับครอบครัวของคุณ จริงมั้ยคะ? แต่ลืมไปหรือเปล่าคะว่า มีกิจกรรม ๆ หนึ่งที่มีความสำคัญมาก ๆ ในการเตรียมบุตรหลานของคุณให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไม่น่าเชื่อ
กิจกรรมที่ว่าคืออะไรกันน้า?? นั่นก็คือ “การอ่านหนังสือ” นั่นเองค่ะ การที่ลูกและคุณพ่อคุณแม่ได้อ่านออกเสียงไปด้วยกัน ใช้เวลาไปด้วยกัน ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยหนังสือหลากหลายประเภท เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทักษะการอ่านของเด็ก ๆ มีความสำคัญต่อความสำเร็จในโรงเรียน
การทำงาน และชีวิตโดยทั่วไปได้อีกด้วย และที่มากไปกว่านั้นก็คือ การอ่านให้ฟังตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ จะช่วยเพิ่มเติมการเรียนรู้และเป็นแรงสนับสนุนให้พวกเขาในอนาคตได้อย่างน่าอัศจรรย์เลยค่ะ
แม้ว่าชีวิตการเป็นคุณพ่อคุณแม่จะวุ่นวายขนาดไหน แต่คุณควรพยายามอ่านหนังสือกับลูกอย่างน้อยวันละครั้งตามเวลาที่กำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอ แต่ก็อย่าท้อแท้หรือกังวลใจไปนะคะ
หากคุณอาจจะมีวันใดวันหนึ่งที่ไม่ได้อ่านหนังสือให้ลูกฟัง หรือ ไม่ได้ทำตามตารางเวลาการอ่านหนังสือของคุณกับลูกไปบ้าง อย่างน้อยแค่คุณอ่านหนังสือให้ลูกฟังให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็ถือว่าคุณได้วางรากฐานความสำเร็จให้พวกเขาแล้วล่ะค่ะ
อย่างตัวดิฉันเอง มีลูกสองคน ดิฉันจะอ่านหนังสือให้พวกเขาฟังไปพร้อม ๆ กัน และพยายามอ่านหนังสือตามลำพังกับลูกแต่ละคน เพราะการอ่านหนังสือให้ลูกในแต่ละวัยแต่ละอายุนั้น จะช่วยให้พวกเขาสามารถรับแนวคิดและกระตุ้นให้พวกเขาตอบคำถามได้ในปริบทที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย
อย่างเด็ก ๆ ที่อายุมากกว่า พวกเขาจะสามารถเข้าใจเรื่องราวที่มีความซับซ้อนได้มากกว่า สามารถบอกเล่าเรื่องราวและปะติดปะต่อเรื่องได้มากกว่า นั่นเองค่ะ
คุณพ่อคุณแม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มยังไง หาหนังสือประเภทไหน หรือ จุดประสงค์ของการอ่านหนังสือควรโฟกัสตรงไหน เพื่อที่การเล่านิทานหรืออ่านหนังสือจะได้มีผลต่อการพัฒนาการทางสมองแม้กระทั่งเด็กทารกที่ยังพูดไม่ได้
เมื่อคุณอ่านหนังสือให้พวกเขาได้ฟังแล้วล่ะก็ พวกเขาก็สามารถเชื่อมโยงคำที่คุณพูดกับรูปภาพประกอบจากหนังสือหรือสื่อการอ่านต่าง ๆ ที่จะนำมาเชื่อมต่อกับสิ่งต่าง ๆ ในโลกของพวกเขา การเชื่อมต่อทั้งหมดนี้เองค่ะที่จะเป็นการเชื่อมต่อของสมองให้พวกเขาได้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาต่อไปค่ะ
โฆษณา