10 มิ.ย. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
อุตสาหกรรมเรือสำราญในสหรัฐอเมริกา เริ่มกลับมาคึกคัก
 
นับเป็นระยะเวลามากกว่าสองปีที่อุตสาหกรรมเดินเรือสำราญในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง ทั้งจากปัจจัยด้านการดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่เข้มงวดของรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้ไม่สามารถเดินเรือสำราญได้ตามปกติ
ประกอบกับปัจจัยด้านความกังวลของนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศที่กังวลต่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของตนเองด้วย ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในรัฐฟลอริดาซึ่งเป็นศูนย์กลางการเดินเรือสำราญขนาดใหญ่ในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มการแพร่ระบาดในสหรัฐฯ ที่เริ่มดีขึ้นในปัจจุบันประกอบกับการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดต่างๆ ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวผ่านเรือสำราญมากขึ้น
จากข้อมูลสำรวจตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบริษัท AAA พบว่า ในช่วงที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวตัดสินใจจองตั๋วเดินทางท่องเที่ยวผ่านเรือสำราญมากขึ้นเกินสองเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา
ผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมที่มีจุดเริ่มต้นการเดินทางในรัฐฟลอริดา ได้แก่ บริษัท Royal Caribbean Cruise Lines บริษัท Carnival Cruises บริษัท Norwegian Cruise Lines และบริษัท Celebrity Cruises ต่างเริ่มทยอยกลับมาให้บริการเดินเรืออีกครั้ง
นอกจากนี้ การตัดสินใจลดมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐฯ (Center for Disease Control and Prevention หรือ CDC) จากเดิมที่กำหนดให้ต้องมีผู้โดยสารที่ได้รับวัคซีนแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 เหลือร้อยละ 90
อีกทั้ง ยังได้ประกาศลดระดับความเสี่ยงของการเดินทางท่องเที่ยวผ่านเรือสำราญเหลือระดับ 2 (เสี่ยงระดับปานกลาง หรือ Moderate) หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้จัดอยู่ในระดับสูงสุดระดับ 3 (เสี่ยงระดับสูงสุด หรือ High Risk) มาเป็นเวลานานกว่าสองปีนับตั้งแต่ที่เกิดการแพร่ระบาด
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐฯ ยังไม่แนะนำให้ชาวอเมริกันที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงหรือยังไม่ได้รับวัคซีนเดินทางท่องเที่ยวผ่านเรือสำราญ
ผลการสำรวจของบริษัท AAA ดังกล่าวยังพบว่า กว่าร้อยละ 20 ของประชาชนชาวอเมริกันทั้งหมดต้องการหรือมีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวผ่านเรือสำราญในอนาคตอันใกล้ภายในระยะเวลาสองปีข้างหน้า
อีกทั้ง ร้อยละ 41 ของชาวอเมริกันยังเข้าใจและมีข้อมูลเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงและการป้องกันการได้รับเชื้อไวรัสจากการเดินทางผ่านเรือสำราญมากขึ้น โดยรวมชาวอเมริกันในปัจจุบันมีความเชื่อมั่นในการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและความปลอดภัยในการเดินทางผ่านเรือสำราญมากขึ้น
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่วางแผนเดินทางท่องเที่ยวผ่านเรือสำราญกว่าร้อยละ 43 ยังเชื่อมั่นในมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของอุตสาหกรรม เช่น มาตรการการฉีดวัคซีนของลูกเรือ มาตรการตรวจสอบหาเชื้อในลูกเรือก่อนขึ้นเรือ มาตรการเพิ่มระบบการระบายอากาศภายในเรือ มาตรการทำความสะอาดภายในเรือ และมาตรการเพิ่มจุดติดตั้งเจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือสำหรับผู้โดยสารภายในเรือ เป็นต้น
Ms. Coleen Mc Daniel ตำแหน่ง หัวหน้าบรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ Cruise Critic กล่าวว่า นักท่องเที่ยวในปัจจุบันเริ่มตระหนักว่าแทบจะไม่มีที่ใดที่มีความปลอดภัยจากการได้รับเชื้อไวรัสร้อยเปอร์เซ็นต์
ดังนั้น นักท่องเที่ยวในตลาดจึงเริ่มมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติในการอยู่ร่วมกับไวรัสและใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองต้องการตามระดับความเสี่ยงที่ทำให้ตนสามารถยอมรับได้ โดยนักท่องเที่ยวบางคนเชื่อมั่นในความปลอดภัยสำหรับการเดินทางผ่านเรือสำราญมากกว่าเครื่องบิน ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และงานกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในอาคารเสียด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างดีสำหรับอนาคตของอุตสาหกรรมการเดินเรือสำราญในสหรัฐฯ
Mr. Brandon Davis ผู้โดยสารจากรัฐจอร์เจียที่มีกำหนดการเดินทางเริ่มต้นจากรัฐฟลอริดากล่าวว่า การที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐฯ กำหนดให้ผู้โดยสารเรือสำราญควรจะต้องได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสยังเป็นมาตรการที่จำเป็นซึ่งสามารถสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารเรือสำราญได้
แม้ว่ากระบวนการตรวจสอบยืนยันผลตรวจและวัคซีนจะทำให้เสียเวลาในการเดินทางไปบ้างแต่ก็สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสารบนเรือทุกคนได้ว่าโอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดภายในเรือนั้นจะอยู่ในระดับต่ำ
จุดหมายปลายทางการเดินเรือสำราญที่ได้รับความนิยมในกลุ่มนักเดินทางชาวอเมริกัน ได้แก่ แอลาสกา ประเทศในกลุ่มแคริบเบียน และประเทศในทวีปยุโรป เป็นหลัก ส่วนประเทศในกลุ่มทวีปแอฟริกา ออสเตรเลีย และไอซ์แลนด์ ก็เริ่มกลับมาได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ปัจจัยด้านการปรับเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานในตลาดโลกรวมถึงปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อในตลาดมีอิทธิพลสำคัญต่อการปรับเพิ่มขึ้นของราคาค่าบัตรโดยสาร ดังนั้น นักเดินทางส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจจองตั๋วล่วงหน้าเร็วขึ้นเพื่อให้ทันสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อนปีนี้
ในช่วงก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อุตสาหกรรมเรือสำราญของสหรัฐฯ มีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด จำนวนนักท่องเที่ยวผ่านเรือสำราญในสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 13.1 ล้านคนในปี 2561 เป็น 14.2 ล้านคนในปี 2562 คิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมได้ทั้งสิ้น 2.51 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยท่าเรือสำราญที่สำคัญในสหรัฐฯ พิจารณาจากจำนวนผู้โดยสาร ได้แก่ ท่าเรือเมืองไมอามี รัฐฟลอริดา (ร้อยละ 24.67) ท่าเรือ Port Canaveral รัฐฟลอริดา (ร้อยละ 16.26) ท่าเรือ Port Everglades (ร้อยละ 14.00) ท่าเรือเมือง Galveston รัฐเท็กซัส (ร้อยละ 7.92) และท่าเรือเมือง Long Beach รัฐแคลิฟอร์เนีย (ร้อยละ 5.05) ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดที่ส่งผลกระทบไปแทบจะเกือบทุกอุตสาหกรรมรวมถึงอุตสาหกรรมการเดินเรือสำราญที่มีความเสี่ยงเกิดการแพร่เชื้อสูง ประกอบกับมาตรการห้ามเดินเรือโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐฯ ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการทำการเดินเรือสำราญเป็นระยะเวลาเกือบสองปีก่อนที่จะเริ่มกลับมาอนุญาตให้เดินเรือสำราญได้อีกครั้งในช่วงกลางปี 2564
ส่งผลกระทบ ทำให้อุตสาหกรรมการเดินเรือสหรัฐฯ หดตัวลงมากเหลือจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านเรือสำราญเพียงราว 2.7 ล้านคน มูลค่าอุตสาหกรรมหดตัวเหลือเพียงประมาณ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
ทั้งนี้ แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของภาวะการแพร่ระบาดรวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการเดินเรือในสหรัฐฯ ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของรัฐฟลอริดาที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและการเดินเรือสำราญค่อนข้างมาก
ในแต่ละปีอุตสาหกรรมเดินเรือสามารถสร้างงานในพื้นที่รัฐฟลอริดาได้กว่า 1.3 แสนตำแหน่ง คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหากคิดเฉพาะรายได้จากการจัดเก็บภาษีเป็นมูลค่ากว่า 213 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ การขยายตัวของอุตสาหกรรมการเดินเรือในพื้นที่ยังก่อให้เกิดความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมด้วย เช่น สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปกรณ์ตกแต่งภายในเรือ สินค้าของใช้ภายในเรือ และสินค้าของขวัญของชำร่วย ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกสำหรับผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าดังกล่าวด้วย
ผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำตลาดเรือสำราญในสหรัฐฯ ควรศึกษาและทำความเข้าใจพฤติกรรมและลักษณะการสั่งซื้อสินค้ารวมถึงข้อกำหนดของสินค้าแต่ละประเภทซึ่งแตกต่างกันอย่างลึกซึ้งเพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายตลาดผู้ประกอบการในสหรัฐฯ กล่าวคือ หากเป็นสินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์และตกแต่งภายในนอกจากสินค้าที่ออกแบบได้น่าสนใจสวยงามจะเป็นที่ต้องการแล้วในกลุ่มผู้ประกอบการเดินเรือแล้ว
สินค้าที่จะประสบความสำเร็จในการทำตลาดยังจะต้องที่มีคุณสมบัติปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและได้รับการรับรองจากหน่วยงานการเดินเรือสากล (International Marine Organization หรือ IMO) เช่น มาตรฐานการติดไฟ มาตรฐานการปล่อยก๊าซพิษ เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังควรที่จะมีสำนักงานหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อู่ต่อเรือทั้งในภูมิภาคอเมริกาและภูมิภาคยุโรปเพื่อความสะดวกในการติดต่อสั่งซื้อและการตรวจสอบแก้ไขปัญหาในกรณีต่าง ๆ
ในส่วนของกลุ่มสินค้าอาหารนั้นหากเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) เช่น ข้าว ข้าวนึ่ง และเส้นพาสต้า มักจะเปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าประมูลราคาโดยจะกำหนดราคาซื้อไว้ตลอดทั้งสัญญา (ส่วนมากระยะเวลา 1 ปี) สำหรับสินค้าอาหารและเครื่องดื่มทั่วไปจะมีคำสั่งซื้อไปยังตัวแทนในพื้นเขตที่เทียบเรือล่วงหน้าเพื่อให้จัดส่งสินค้าเป็นรายครั้ง
โดยผู้ประกอบการที่ทำการค้าด้วยมักจะมีโกดังเก็บสินค้าภายในท่าเรือเพื่อความสะดวกในการจัดส่งและลำเลียงสินค้าขึ้นเรือ ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยสนใจทำธุรกิจกับผู้ประกอบการเรือสำราญควรพิจารณาเปิดสำนักงานขายในเขตพื้นที่ท่าเรือหรือสร้างพันธมิตรกับผู้นำเข้าในพื้นที่เพื่อเป็นตัวแทนในการประสานงาน บริหารจัดการสต๊อก และจัดส่งสินค้าให้กับผู้ประกอบการเดินเรือตามคำสั่งซื้อ
แม้ว่าอุตสาหกรรมเรือสำราญจะมีข้อจำกัดค่อนข้างมากอีกทั้งยังมีคู่แข่งทางการค้าที่ครอบครองส่วนแบ่งในตลาดอยู่ก่อนแล้ว แต่โดยรวมอุตสาหกรรมเดินเรือสำราญมีขนาดใหญ่และยังมีความต้องการบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคอีกเป็นมูลค่ามหาศาล
อีกทั้ง ขณะนี้อยู่ในระยะเริ่มฟื้นตัวภายหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสและเป็นช่วงฤดูร้อนซึ่งจะเป็นช่วงที่ชาวอเมริกันนิยมเดินทางท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนเป็นจำนวนมากซึ่งก็น่าจะทำให้อุตสาหกรรมเดินเรือสำราญของสหรัฐฯ เป็นตลาดศักยภาพใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยได้อีก
โฆษณา