1 มิ.ย. 2022 เวลา 13:30 • คริปโทเคอร์เรนซี
ดัชนีชี้วัดความกลัวและความโลภ
Crypto fear and greed index
ก่อนหน้านี้ดัชนีความกลัวและความโลภ ถูกพัฒนาขึ้นโดย CNNMoney เพื่อนำไปใช้ในตลาดหุ้น เป็นวิธีวัดการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นและดูว่าหุ้นมีราคาที่เป็นธรรมหรือไม่ โดยทฤษฎีนี้มีพื้นฐานอยู่บนตรรกะที่ว่าความกลัวที่มากเกินไปมีแนวโน้มที่จะผลักดันให้ราคาหุ้นลง และความโลภมากเกินไปมีแนวโน้มที่จะให้ผลตรงกันข้าม
และในปัจจุบันแนวคิดนี้ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้กับตลาดคริปโตฯ เพื่อใช้ดูพฤติกรรมที่แสดงออกมาทางอารมณ์ของนักลงทุน อีกทั้งใช้วัดความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อตลาด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตลาดอยู่ในสภาวะขาขึ้นหรือขาลง
ทำไมต้องวัดความกลัวและความโลภ?
เนื่องจากพฤติกรรมของตลาดคริปโตฯ นั้นผันผวนและเกี่ยวข้องกับอารมณ์เป็นอย่างมาก นักลงทุนจะอยากซื้อเมื่อตลาดปรับตัวขึ้นเพราะกลัวการพลาดโอกาส ส่งผลให้เกิดการกระทำที่เรียกว่า Panic BUY ในทางกลับกัน ก็มักจะขายเหรียญออกในทันทีเมื่อเห็นตลาดเป็นสีแดง เรียกว่า Panic SELL
จากสาเหตุดังกล่าว ดัชนีความกลัวและความโลภ จึงถูกพัฒนาขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์สภาพตลาดในมิติของอารมณ์ ซึ่งมีข้อสังเกตุง่ายๆ สองอย่าง คือ
1. ความกลัวที่รุนแรง อาจเป็นสัญญาณว่านักลงทุนกังวลมากเกินไป จึงอาจเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าซื้อ
2. เมื่อความกล้าและโลภเกินไป อาจแสดงถึงองค์ประกอบที่ครบสำหรับการปรับฐาน และนั่นอาจเป็นจังหวะที่ดีในการทยอยขาย
จึงวิเคราะห์ความรู้สึกปัจจุบันของตลาด และกำหนดตัวเลขให้เป็นมาตรวัดง่ายๆ จาก 0 ถึง 100 โดย
0-24 = กลัวแบบสุดๆ
24-49 = เกิดความกลัว
50-74 = เกิดความโลภ
75-100 = โลภแบบสุดๆ
Crypto Fear & Greed ถูกสร้างขึ้นจากการนำ Bitcoin เป็นข้อมูลอ้างอิงในการทำดัชนี ซึ่งเป็นเหรียญที่ใหญ่ที่สุดและได้รับความนิยมที่สุด ทำให้คนให้ความสำคัญและสามารถใช้เครื่องมือทางด้าน Social Network ในการตรวจวัดการให้ความสนใจซึ่งคาดหวังประสิทธิภาพได้
โดยหลักเกณฑ์ในการสร้างดัชนี มีปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดหลายอย่าง ได้แก่
📌 Volatility 25%
ใช้ค่าความผันผวน ณ ปัจจุบัน และ Maximum Drawdown ของราคา Bitcoin เปรียบเทียบดูความสอดคล้องของความผันผวนเฉลี่ยย้อนหลัง 30 วัน และ 90 วัน เมื่อความผันผวนเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของตลาดที่ควรระมัดระวัง
📌 Market Momentum/Volume 25%
คำนวณจากโมเมนตัมและปริมาณการซื้อขาย แล้วเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 30 วันและ 90 วัน จากนั้นนำค่าทั้งสองมารวมกัน ในข้อมูลแบบรายวันหากพบปริมาณการซื้อสูงในช่วงตลาดขาขึ้น จะมองว่าตลาดเริ่มมีความโลภที่มากเกินไป
📌 Social Media 15%
ใช้การตรวจตราจาก Social Media / Network ต่างๆ ว่ามีการพูดถึงคริปโตฯ แต่ละเหรียญอย่างไร เช่น การใช้ hash tag (#) หรือการส่งข้อความจากทวิตเตอร์มาวิเคราะห์
โดยคำนวณจากอัตราความเร็วในการแพร่สะพัดของข้อมูลและจำนวนการโต้ตอบของผู้ใช้งาน ยิ่งมีการใช้งานหรือผ่านตามากก็มีแนวโน้มว่าตลาดกำลังเข้าสู่ช่วงตลาดที่มีความโลภเกิดขึ้น
📌 Surveys 15%
แบบสำรวจความคิดเห็นบนเว็บไซต์ ซึ่งจะใช้วิธีเปิดรับความคิดเห็นจากชุมชนผู้ใช้งาน 2,000-3,000 ความเห็น แล้วนำมาคำนวณหาค่าเฉลี่ย (ปัจจุบันหยุดใช้ปัจจัยนี้ชั่วคราว)
📌 Dominance 10%
ใช้การคำนวณสัดส่วนของตลาดคริปโตเทียบกับ Bitcoin โดยมองว่าเมื่อคนส่วนใหญ่ซื้อ Bitcoin นั่นหมายถึงเกิดความกังวลว่าเหรียญ Altcoin มีการเก็งกำไรมากเกินไป จึงต้องการหาที่หลบภัย (มองว่า Bitcoin มีความปลอดภัยกว่า)
ในทางตรงกันข้าม เมื่อนักลงทุนขาย Bitcoin และเข้าซื้อ Altcoin เพราะคาดหวังกำไรที่มากกว่า นั่นหมายถึงสัญญาณของตลาดที่เริ่มมีความโลภมากขึ้น
📌 Trends 10%
Trends ในที่นี้ไม่ใช่แนวโน้มเรื่องของราคา แต่เป็น Google Trends ที่ใช้จำนวนครั้งของการค้นหาที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin มาวิเคราะห์ หากคำค้นหาเยอะ นั่นหมายถึงนักลงทุนให้ความสนใจกับตลาดนี้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน คำที่ใช้ค้นหาก็สามารถบ่งบอกถึงความกังวลได้เช่นกัน
ตัวอย่างการค้นหา
อย่างไรก็ตาม Fear & Greed Index เป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการใช้ Fear & Greed Index เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถให้ผลลัพธ์ที่ดีได้ ยิ่งตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความผันผวนสูง นักลงทุนควรศึกษาเครื่องมืออื่นๆ ประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมด้วย
Cr. edition.cnn, trinitythai
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา