30 พ.ค. 2022 เวลา 07:00 • ประวัติศาสตร์
ความแตกต่างระหว่างเยอรมันและเยอรมนี
ประเทศเยอรมนียุคใหม่นั้นได้ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1871 (พ.ศ. 2414) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในช่วงแรกนั้นบรรดารัฐเยอรมันทั้งหมดล้วนมีเศษซากของความเป็นศักดินาเหลืออยู่ เยอรมนีในช่วงแรกจึงมีสถานะเป็น “จักรวรรดิ”
เมื่อสถาปนาจักรวรรดิเยอรมันขึ้นมาแล้วนั้น ตำแหน่งเจ้าผู้ปกครองก็ต้องเป็น “จักรพรรดิ” ตามสถานะของรัฐที่เป็น “จักรวรรดิ” โดยอ็อตโต ฟอน บิสมาร์ค นายกรัฐมนตรีสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือและปรัสเซียได้หารือกับพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 แห่งปรัสเซีย เกี่ยวกับตำแหน่งจักรพรรดิในอนาคตเมื่อจักรวรรดิเยอรมันจะถูกสถาปนาขึ้นมา
โดยพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเป็น “จักรพรรดิแห่งเยอรมนี” (เยอรมัน: Kaiser von Deutschland) ซึ่งบิสมาร์คนั้นแสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเยอรมนีนั้นเป็นดินแดนทางภูมิศาสตร์ที่ประกอบด้วยชาวเยอรมัน
ซึ่งแม้จะมีประเทศเยอรมนีกำเนิดขึ้นแล้วแต่อาณาจักรเยอรมนี ก็ไม่ได้กินอาณาเขตของดินแดนเยอรมนีทั้งหมด เพราะหากตีความคำว่า “เยอรมนี” แล้วนั้น มันจะรวมถึงออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์กรวมทั้งรัฐเก่าๆ ที่ในอดีตเคยเป็นดินแดนของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ด้วย
กรณีเดียวกับอินเดีย หากเราหมายถึงความเป็นรัฐหรือประเทศ เราอาจจะนึกถึงประเทศอินเดียซึ่งเป็นรัฐที่นับถือศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู แต่ข้อเท็จจริงนั้น ขอบเขตความเป็นอินเดียนั้นต้องรวมปากีสถานและบังกลาเทศเข้ามาด้วย
ในช่วงที่เกิดการปฏิวัติลูกโซ่ทั่วยุโรปในปี ค.ศ. 1848 (พ.ศ. 2491) บรรดาฝ่ายซ้ายในเยอรมนี (ซึ่งในเวลานั้นเยอรมนียังแตกออกเป็นรัฐต่างๆ โดยมีเจ้านครรัฐน้อยใหญ่ภายใต้ออสเตรียปกครองอยู่) ต้องการที่จะรวมเยอรมนีให้เป็นหนึ่งเดียวและเป็นรัฐชาติ
โดยรัฐสภาแฟรงค์เฟิร์ตซึ่งเป็นรัฐสภาของเยอรมนีในเวลานั้น ได้ตกลงที่จะถวายพระอิสริยยศพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 4 (พระเชษฐาของพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 เป็น “จักรพรรดิแห่งชาวเยอรมันทั้งหลาย” โดยคำนำหน้าพระอิสริยยศของเจ้าผู้ปกครองของยุโรปทุกพระองค์จำมีประโยคขึ้นต้นว่า “… (พระนาม) … โดยพระหรรษทานแห่งพระเป็นเจ้า … (ตามด้วยพระอิสริยยศ) ”
เช่น “คาร์ล โดยพระหรรษทานแห่งพระเป็นเจ้า จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์ กษัตริย์แห่งเยอรมนี กษัตริย์แห่งอิตาลี กษัตริย์แห่งสเปนทั้งปวง
อันมีกัสติยา อารากอน เลออน เนบารา กรานาดา โทเลโด บาเลนเซีย กาลิเซีย มายอร์กา เซบีญ่า คอร์โดบา เมอร์เซีย คาเอน อัลกาเวส อัลเกสีราส์ ยิบรอลต้า เกาะคานารี กษัตริย์แห่งสองซิชิลี กษัตริย์แห่งซาร์ดิเนียและคอร์ซิก้า กษัตริย์แห่งเยรูซาเล็ม กษัตริย์แห่งอินดีสตะวันออกและตะวันตก ฯลฯ …”
การเป็นกษัตริย์ “โดยพระหรรษทานแห่งพระเป็นเจ้า” ไม่ใช่โดยประชาชนนั้นดูจะค่อนข้างมีปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตยอยู่มาก อีกประการหนึ่งคือเจ้าผู้ปกครองทั่วยุโรปในเวลานั้นกลัวแนวคิดการปฏิวัติฝรั่งเศส คือ “เสมอภาค เสรีภาพ ภราดรภาพ” (ฝรั่งเศส: Liberté, Égalité, Fraternité)
การปฏิวัติในปี 1848 ในเยอรมนีนั้นดูเหมือนจะได้แนวคิดการปฏิวัติฝรั่งเศสค่อนข้างมากด้วย อีกประการหนึ่งคือตำแหน่งจักรพรรดิแห่งเยอรมนีนั้น คำว่า “จักรพรรดิ” เป็นตำแหน่งที่นโปเลียนแห่งฝรั่งเศสเคยใช้ เพราะหลายคนไม่ยอมรับตำแหน่ง “กษัตริย์”
เนื่องจากล้มพระเจ้าหลุยส์ที่ 16ไปแล้ว คำว่า “จักรพรรดิ”เลยกลายเป็นศัพท์ที่ค่อนข้างจะดูเสรีนิยมค่อนข้างมากหากมองในเวลานั้น เพราะไม่ได้ยึดกับคำว่า “กษัตริย์” อันเป็นคำแทนของศักดินาจารีต และเป็นคำที่ดูเข้ากันได้กับคำว่า “สาธาณรัฐ” (กรณีเดียวกันคือจักรวรรดิโรมัน โรมันนั้นเคยล้มกษัตริย์ไปครั้งหนึ่งแล้วและไม่มีใครอยากได้กลับมาอีก เมื่อเจ้าผู้ครองในเวลาต่อมาปกครองโรมัน เลยใช้คำว่าจักรพรรดิแทนที่กษัตริย์)
อีกประการหนึ่งคือหากเยอรมันรวมกันทั้งหมดแล้ว กษัตริย์ปรัสเซียทรงกลัวว่าบทบาทของปรัสเซียจะค่อยๆ หายลงไป (ซึ่งก็เป็นความจริง) ซึ่งในปี ค.ศ. 1867 (พ.ศ. 2410) ตำแหน่งองค์ประธานสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ (ซึ่งเป็นรัฐเยอรมันใหม่ ที่ถูกสถาปนาโดยปรัสเซีย ก่อนจะเปลี่ยนสถานะเป็นจักรวรรดิเยอรมัน) เป็นของกษัตริย์ปรัสเซียมาโดยตลอด
เมื่อสถานะของเยอรมันเหนือเปลี่ยนเป็นเยอรมนีเดียว (เนื่องจากรวมรัฐตอนใต้ในเวลาต่อมา) ตำแหน่งองค์ประธานสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ จึงเปลี่ยนเป็นจักรพรรดิเยอรมัน (เยอรมัน: Deutsches Reich) โดยจักรวรรดิเยอรมันมีสถานะเป็นรัฐรวมคล้ายกับสหรัฐอเมริกา คือเป็นสหพันธรัฐราชาธิปไตย โดยกษัตริย์ปรัสเซียทรงมีพระราชสถานะเป็นจักรพรรดิเยอรมันด้วย
ตำแหน่งของจักรพรรดิเยอรมันก็คือตำแหน่งถาวรของกษัตริย์ปรัสเซีย ตำแหน่งจักรพรรดิเยอรมันจึงผูกขาดโดยพระมหากษัตริย์ปรัสเซียโดยตรง แม้แต่พระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 จักรพรรดิเยอรมันและกษัตริย์ปรัสเซียพระองค์สุดท้าย ยังทรงเข้าพระทัยผิด โดยทรงคิดว่าเยอรมนีเป็นเพียงสหภาพส่วนพระองค์กับตำแหน่งกษัตริย์ปรัสเซีย แม้ตำแหน่งจักรพรรดิเยอรมันจะถูกยกเลิก
แต่พระองค์ก็ยังทรงเป็นกษัตริย์ปรัสเซียอยู่ตามเดิม (คล้ายๆ กับกรณีที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรทรงปกครองปากีสถาน แม้ปากีสถานถอดพระองค์ออกจากราชสมบัติ แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงเป็นประมุขของอังกฤษตามเดิม)
ซึ่งเป็นความเข้าพระทัยผิดของวิลเฮล์มที่ 2 พระองค์ทรงคิดว่าพระองค์จะสามารถรักษาพระยศกษัตริย์ปรัสเซียไว้ได้ หากเยอรมนีล้มล้างการปกครอง แต่เป็นสิ่งที่พระองค์คิดผิด เพราะข้อเท็จจริงคือกษัตริย์ปรัสเซียคือจักรพรรดิเยอรมัน หากตำแหน่งจักรพรรดิเยอรมันถูกถอดตำแหน่งกษัตริย์ปรัสเซียก็จะถูกถอดตามไปด้วย
รายการอ้างอิง
.
ภาษาต่างประเทศ
- William Dawson (14 July 2017). History of the German Empire.
- Rudolf Graf v. Stillfried: Die Titel und Wappen des preußischen Königshauses. Berlin 1875.
🖊️ ติดตามหัวข้อประวัติศาสตร์ได้ทุกช่องทาง
Facebook: หัวข้อประวัติศาสตร์
Blockdit: หัวข้อประวัติศาสตร์
YouTube: หัวข้อประวัติศาสตร์
โฆษณา