1 มิ.ย. 2022 เวลา 03:25 • การตลาด
แยกกันออกมั้ย ? "Fact Vs Insight" สรุปความต่างระหว่าง ‘ข้อเท็จจริง’ กับ ‘ข้อมูลเชิงลึก’ ที่ล้ำค่า !
สำหรับนักการตลาด Insight ไม่ต่างจากหีบสมบัติที่อยู่ก้นมหาสมุทร หาได้ยาก แต่ถ้าได้ครอบครอง ก็ถือว่ามีชัยในศึกครั้งนี้ไปกว่าครึ่ง ! เพราะมันคือสูตรโกงที่ช่วยให้วางแผนการตลาดได้ง่าย และมีตรงใจกลุ่มเป้าหมายเป็นที่สุด
แต่อะไรที่ดี ก็ย่อมแลกมาด้วยความยากลำบาก เพราะ Insight ไม่ใช่ข้อมูลที่หาได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต แต่ต้องผ่านกระบวนการวิเคราะห์หลายต่อหลายขั้น ทำให้บางคนอาจเกิดความสับสนว่าข้อมูลที่มี มันคือ Insight อันแสนล้ำค่า แต่แท้จริงแล้ว มันเป็นเพียงแค่ Facts ธรรมดา
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไงล่ะ ว่าข้อมูลในมือนั้น คือ Insight หรือ Facts กันแน่ ? คำถามนี้ แอดหาคำตอบมาให้แล้ว ! ไปรู้จักคำศัพท์ทั้ง 2 คำกันดีกว่า~
ความหมาย : ข้อเท็จจริง Vs ข้อมูลเชิงลึก
ขั้นแรก ถ้าเราอยากรู้ความแตกต่าง ก็ต้องทำความรู้จักความหมายของทั้ง 2 คำ ให้เข้าใจก่อน ดังนี้
Fact (ข้อเท็จจริง) >> คือข้อมูลที่เป็นความจริงทั่วไป เป็นการรับรู้ และเข้าใจในตัวกลุ่มเป้าหมายเพียงเบื้องต้นเท่านั้น
• ตัวอย่างเช่น : คนวัยทำงานส่วนมาก ไม่นิยมกินมื้อเช้า
Insight (ข้อมูลเชิงลึก) >> คือความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย โดยผ่านการวิเคราะห์ และตีความถึง ‘สาเหตุ’ ของพฤติกรรมนั้น ๆ จากข้อมูลหลายส่วน จนสามารถเข้าใจลูกค้า ได้โดยที่ลูกค้าไม่ได้บอก
• ตัวอย่างเช่น : คนวัยทำงาน ไม่กินมื้อเช้า เพราะต้องรีบออกจากบ้าน มาให้ทันเข้างานออฟฟิศ
จะเห็นได้ว่า Insight คือการเข้าใจ และหาสาเหตุของการเกิด Fact นั้น ๆ ให้ได้มากที่สุด ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้เราเจอ Pain Point จริง ๆ ของกลุ่มเป้าหมาย ที่มีประโยชน์อย่างมากในการวางแผนการตลาด
วิธีการได้มา : สังเกต Vs วิเคราะห์
แน่นอนว่าหลังจากเข้าใจความหมายแล้ว ขั้นต่อมาในการเข้าใจความต่าง ก็คือการรู้จักวิธีการได้มาซึ่ง Facts และ Insight ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนี้
Facts >> สำหรับข้อเท็จจริงนั้น สามารถทำได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตพฤติกรรม, การเก็บข้อมูล ไปจนถึงให้ทำแบบสอบถาม ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าข้อมูลที่ได้จากการ Research คือ Insight แต่ที่จริงแล้ว ข้อมูลเหล่านั้นเป็นเพียง Facts ซึ่งเป็นข้อมูลเริ่มต้น ก่อนจะถูกนำมาเปลี่ยนเป็น Insight นั่นเอง
Insight >> วิธีการหาอินไซต์นั้น คือการนำ Facts ที่ได้จากการค้นคว้ามาวิเคราะห์ต่อยอด เพื่อเข้าใจให้ได้ว่ากลุ่มเป้าหมายนั้น รู้สึกนึกคิดอย่างไร โดยหลักการง่าย ๆ คือ “เอาใจเขา มาใส่ใจเรา” ซึ่งหากต้องการวิเคราะห์ Insight ให้ได้อย่างแม่นยำ จำเป็นต้องพึ่ง Data จากทั้ง 3 ส่วน อย่าง 1st Party, 2nd Party ไปจนถึง 3rd Party มาประกอบกัน
ตัวอย่างการใช้ประโยชน์จาก Insight
 
เมื่อเรามี Insight ของกลุ่มเป้าหมายแล้ว สิ่งสำคัญก็คือการนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งแอดขอหยิบเอาตัวอย่างแบรนด์ที่นำ Insight มาช่วยในการออกแบบสินค้าใหม่ นั่นก็คือ การคอลแลประหว่าง Cute Press X Bar B Q Plaza เปิดตัว Bye Bye Smell สเปรย์ดับกลิ่นปิ้งย่าง
​โดยแบรนด์ได้หยิบเอาอินไซต์ของชาวไทย ที่เป็นชาวเขตร้อนชื้น ทำให้มีเหงื่อออกได้ง่าย และทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ในระหว่างวัน มาต่อยอดกับ Pain Point ที่คนมักจะเลือกที่จะกินอาหารปิ้งย่างตอนมื้อเย็น หรือในวันที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องไปทำธุระต่อหลังจากการรับประทานในมื้อนี้ เนื่องจากไม่อยากให้มีกลิ่นติดตัวตลอดทั้งวัน
มาพัฒนาเป็นสเปรย์ดับกลิ่นปิ้งย่าง Bye Bye Smell ที่ เพียงแค่ฉีด ก็ช่วยให้กลิ่นไม่ติดผมและผิว แถมยังทำให้หอมตลอดทั้งวันอีกด้วย
เป็นอย่างไรบ้างคร้าบ เชื่อว่าเพื่อน ๆ น่าจะเข้าใจความแตกต่างระหว่าง Facts กับ Insights มากขึ้นแล้วนะครับ ซึ่งอย่างที่แอดบอกไป ถ้าเราสามารถหา Insights ของกลุ่มเป้าหมายได้ลึกมาเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสามารถนำไปปรับใช้กับแผนการตลาด และพัฒนาแบรนด์ได้มากขึ้นเท่านั้นนะคร้าบ อย่างไรก็ดี การหาข้อมูล ก็ต้องอยู่ภายใต้การเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคนะคร้าบบ~
โฆษณา