5 มิ.ย. 2022 เวลา 05:00 • ธุรกิจ
ท่าเรือ Tuas ของสิงคโปร์นำเทคโนโลยีมาช่วยในการตรวจปล่อยสินค้าได้เร็วขึ้น
1
สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสิงคโปร์ (Immigration and Checkpoints Authority : ICA) ได้เปลี่ยนแปลงกระบวนการตรวจสอบสินค้าแบบใหม่ (New Clearance Concept Cargo : NCC Cargo) ผ่านระบบอัตโนมัติและการดำเนินการตรวจปล่อยแบบไร้เอกสาร (Paperless) เพื่อให้การตรวจปล่อยสินค้าเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยในเดือนตุลาคม 2564 ICA ริเริ่มโครงการ On-the-Fly Clearance มาทดลองใช้ที่ท่าเรือ Tuas โดยการนำระบบคัดกรองสินค้าเคลื่อนที่ (Mobile Cargo Screening System : Mobile CASS) ที่มาอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าได้ โดยคนขับไม่ต้องรอบริเวณพื้นที่เก็บสินค้า (Holding Area) เพื่อรอรับผลสแกนภาพสินค้า
เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยคนขับลดเวลารอจาก 14-20 นาที เหลือเพียง 3-5 นาที โครงการริเริ่มนี้เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับท่าเรือ Tuas เพื่อรองรับปริมาณตู้สินค้าที่มากขึ้นในอนาคต และจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้สิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางการค้าระดับโลก
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ผู้กำกับ 1A Cedric Law รองผู้อำนวยการแผนกปฏิบัติการของ ICA กล่าวในขณะพาสื่อมวลชนชมการปฏิบัติงานของท่าเรือ Tuas ว่า
ในปัจจุบัน สิงคโปร์สามารถรองรับจัดการตู้ขนส่งสินค้าขนาด 20 ฟุต จำนวน 50 ล้านตู้ต่อปี จากการดำเนินงานของท่าเรือต่างๆ ในปัจจุบัน ได้แก่ ท่าเรือ Tanjong Pagar, Keppel, Brani และ Pasir Panjang แต่เมื่อท่าเรือ Tuas ดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2583 สิงคโปร์จะสามารถรองรับตู้ขนส่งได้เพิ่มขึ้น 30% คิดเป็นจำนวน 65 ล้านตู้ต่อปี
โครงการ On-the-Fly Clearance ได้นำเทคโนโลยีระบบคัดกรองสินค้าเคลื่อนที่มาใช้ เพื่อให้กระบวนการตรวจปล่อยสินค้าเร็วขึ้น
โดยในปัจจุบัน หลังจากท่าเรือทำการโหลดตู้สินค้าจากเรือขนส่ง คนขับจะไปรับตู้ที่ลานรับตู้หนัก จากนั้น คนขับนำตู้ไปผ่านระบบสแกนภาพด้วยรังสี (Radiographic Scanning Portal :RSP) และนั่งรอบริเวณพื้นที่เก็บสินค้า (Holding Area) เพื่อรอผลจากเจ้าหน้าที่ ICA วิเคราะห์ภาพสแกนสินค้าว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 14-20 นาที
แต่ที่ท่าเรือ Tuas หลังจากโหลดตู้สินค้าแล้ว คนขับสามารถขับผ่านระบบสแกนภาพ ด้วยรังสี จากนั้น เจ้าหน้าที่ ICA วิเคราะห์ภาพสแกน และตรวจสอบข้อมูลใบอนุญาตออกสินค้าและเอกสารประกอบการขนส่งแบบดิจิทัลผ่านระบบคัดกรองสินค้าเคลื่อนที่
ในขณะที่ คนขับไปยังประตูทางออก ระหว่างทางคนขับจะได้รับแจ้งผลการสแกนและใบอนุญาตดิจิทัลผ่าน Mobile Data Terminal แต่หากสินค้ามีความผิดปกติ คนขับจะขับไปยังจุดตรวจสอบสินค้าที่อยู่ใกล้ประตูทางออกเพื่อทำการตรวจสอบเพิ่มเติม เมื่อเทียบกับกระบวนการปัจจุบัน กระบวนการนี้จะใช้เวลาเพียง 3-5 นาทีเท่านั้น
นอกจากนี้ ท่าเรือ Tuas จะเริ่มให้การตรวจปล่อยสินค้าแบบดั้งเดิม (Conventional Cargo) ดำเนินพิธีการศุลกากรแบบไร้เอกสาร โดยคนขับจะส่งหมายเลขป้ายทะเบียนรถและหมายเลขใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องผ่านระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (SG Arrival Card E-Service) ก่อนที่สินค้าจะมาถึงจุดตรวจ
จากนั้น เจ้าหน้าที่ ICA จะตรวจสอบความถูกต้องของรายละเอียดข้อมูลเพื่อทำการตรวจปล่อยสินค้า จากเดิม ในปัจจุบัน คนขับจะต้องแสดงสำเนาใบอนุญาตและเอกสารประกอบที่จุดตรวจ โดยเจ้าหน้าที่ ICA จะทำการสแกนบาร์โค้ดของใบอนุญาตแต่ละฉบับเพื่อดึงข้อมูลสินค้าและตรวจสอบความถูกต้อง
ท่าเรือ Tuas สิงคโปร์ จะกลายเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2583 ท่าเรือ Tuas จะช่วยเพิ่มศักยภาพของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางขนส่งทางเรือของโลก การรองรับปริมาณตู้สินค้าในท่าเรือเพิ่มขึ้น จะช่วยลดต้นทุนโดยรวมด้านโครงสร้างพื้นฐานและการดำเนินงาน
ในขณะเดียวกัน ท่าเรือสิงคโปร์ได้พัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยจัดการระบบข้อมูลและเคลื่อนย้ายตู้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว นอกจาก โครงการ On-the-Fly Clearance, Mobile CASS แล้ว ท่าเรือสิงคโปร์จะนำเทคโนโลยี AI มาช่วยเจ้าหน้าที่ ICA วิเคราะห์สแกนภาพในการตรวจหาสิ่งผิดปกติ ในภาพสินค้า พัสดุ อีกด้วย
สำหรับท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย ได้มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนา Smart City กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย
เพื่อมุ่งเน้นการเป็นท่าเรืออัจฉริยะ โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพการขนส่งและเชื่อมโยงข้อมูลการขนส่งหลากรูปแบบ (Multimodel Transportation) และเกิดการบูรณาการข้อมูลทั้งผู้ให้บริการท่าเรือ รถไฟ รถบรรทุกขนส่งสินค้า และอื่นๆ
เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความแออัดในท่าเรือ และระยะเวลารอคอย เพื่อผลักดันท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือที่ได้มาตรฐานระดับโลก
โฆษณา