Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Think Trade Think DITP
•
ติดตาม
8 มิ.ย. 2022 เวลา 05:00 • ธุรกิจ
ภาวะเงินเฟ้อกระทบราคาสินค้าชุดชั้นในสตรีในสหรัฐฯ
ปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อในตลาดส่งผลที่ทำให้ราคาวัสดุการผลิตสินค้าชุดชั้นในสตรีในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นกระทบต่อผู้ประกอบการในตลาด รวมถึงแบรนด์ Journelle The Natalia Underwire Bra ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสินค้าชุดชั้นในคุณภาพสูงทำให้ต้องตัดสินใจปรับเพิ่มราคาจำหน่ายสินค้าจากเดิม 68 ดอลลาร์สหรัฐต่อชิ้นเป็น 98 ดอลลาร์สหรัฐต่อชิ้น
แม้จะตระหนักดีว่าการตัดสินใจดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายสินค้าของบริษัทได้ในอนาคต
Mr. Guido Campello เจ้าของแบรนด์ Journelle ที่เริ่มดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าชุดชั้นในสตรีตั้งแต่ปี 2559 ทราบดีว่าการปรับเพิ่มขึ้นของราคาจำหน่ายสินค้าในปัจจุบันจะไม่ส่งผลดีต่อกิจการอย่างแน่นอน
แต่บริษัทก็ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนการผลิตสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ โดยในช่วงที่ผ่านมาราคาต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าของบริษัทหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาระบบห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลก (Supply Disruption) จากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 และปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อในตลาดสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมาก
โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.5 ซึ่งเป็นระดับอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ในรอบ 40 ปี
โดยปัจจัยดังกล่าวยังเป็นสาเหตุที่ทำให้สินค้าแบรนด์ Lively ภายใต้บริษัท Wacoal International Corp. ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสินค้าชุดชั้นในสตรีรายใหญ่ตัดสินใจปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีจากเดิม 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อชิ้นเป็น 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อชิ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ด้วยปัญหาเช่นเดียวกันกับบริษัท Victoria’s Secret & Co. ที่ประสบปัญหาต้นทุนค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้นมากจนกระทบผลประกอบการบริษัทในช่วงปลายปีที่ผ่านมาทำให้บริษัทตัดสินใจปรับเพิ่มราคาสินค้าชุดชั้นในแบบใส่ประจำจากเดิมห่อละ 2 ชิ้นราคา 52 ดอลลาร์สหรัฐเป็น 54 ดอลลาร์สหรัฐด้วย
โดย Mr. Martin Waters ตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัท Victoria Secret’s Co. กล่าวว่า ปัญหาด้านภาวะเงินเฟ้อ ราคาวัตถุดิบการผลิต ค่าระวางเรือ ค่าแรงงาน และค่าขนส่ง ล้วนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั่วโลก
Ms. Sharon Leighton ตำแหน่งประธานบริษัท PVH Corp. บริษัทแม่ของชุดชั้นในแบรนด์ Calvin Klein แบรนด์ Warner’s และแบรนด์ True & Co. กล่าวว่า ปัจจัยดังกล่าวอาจจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ประกอบการบางรายที่อาศัยวัตถุดิบการผลิตสินค้าเพียงไม่กี่รายการ เช่น ชุดชั้นในแบบปราศจากโครงดันทรง (Wirefree) และชุดชั้นในแบบเสื้อกล้ามครึ่งตัว (Bralettes) เป็นต้น
ซึ่งชุดชั้นในเหล่านี้ยังมีต้นทุนการผลิตไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มสินค้าจากผ้าลูกไม้หรือสินค้าที่ต้องใช้วัสดุการผลิตหลายชนิด
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่บรรเทาลง ส่งผลให้ชาวอเมริกันออกไปใช้ชีวิตและทำกิจกรรมนอกที่พักอาศัยได้แทบจะเป็นปกติ ทำให้ผู้หญิงชาวอเมริกันต้องการซื้อสินค้าชุดชั้นในแบบที่มีโครงสร้างดันทรงเพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพของตนในการเข้าสังคมมากขึ้นด้วย
ข้อมูลจาก NPD Group รายงานมูลค่าตลาดสินค้าชุดชั้นในสตรีสหรัฐฯ ในปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.02 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับปี 2563 และขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับปี 2562
ในปี 2564 ราคาสินค้าชุดชั้นในแบบมีโครงดันทรงในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อชิ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มสตรีในตลาดสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคในตลาดส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึกถึงแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ามากนักเนื่องจากสินค้าชุดชั้นในสตรี ผู้บริโภคมักจะเลือกซื้อเป็นครั้งคราวจึงทำให้ไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงมากนัก ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค ผู้บริโภคมักจะรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาอย่างรวดเร็วเนื่องจากเป็นสินค้าที่ต้องซื้ออยู่เป็นประจำ
ทั้งนี้ ปัจจัยการปรับเพิ่มขึ้นของราคาต้นทุนพลังงานในตลาดโลกอันเนื่องมาจากสงครามการเข้ารุกรานยูเครนของรัสเซียส่งผลกระทบสำคัญต่อผู้ประกอบการในตลาดเนื่องจากส่งผลกระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบคุณภาพสูง เช่น ลูกไม้ ยางยืด ตะขอเกี่ยว และโครงดันทรงจากประเทศในทวีปยุโรป
ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 20 - 40 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อีกทั้ง ต้นทุนการย้อมสีผ้าลูกไม้ที่ต้องใช้ความร้อนในการย้อมในกระบวนการผลิตก็มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากจากปัจจัยการเพิ่มขึ้นของต้นทุนพลังงานในตลาดจนผู้ประกอบการบางรายในยุโรปถึงขั้นปฏิเสธที่จะจำหน่ายสินค้าให้ผู้นำเข้าเนื่องจากไม่คุ้มทุน
นอกจากนี้ วัสดุอุปกรณ์สำหรับบรรจุภัณฑ์และหีบห่อ เช่น กล่องกระดาษ ถุงกระดาษก็ล้วนแต่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นและเป็นอุปสรรคสำคัญในการคำนวณต้นทุนสำหรับผู้ประกอบการด้วย โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาราคาสินค้ากระดาษปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 30 ผู้ส่งออกสินค้าบางรายขาดแคลนกล่องกระดาษสำหรับบรรจุสินค้าทำให้ต้องหันไปเลือกใช้วัสดุอื่นทดแทนเพื่อบรรจุสินค้า เช่น ถุงผ้ากระสอบ เป็นต้น
ปัจจัยด้านค่าขนส่งสินค้าถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อผู้ส่งออกสินค้าในทวีปเอเชีย โดยผู้ประกอบการในสหรัฐฯ บางรายตัดสินใจลดการนำเข้าสินค้าจากประเทศในแถบเอเชียลงเกือบทั้งหมดและหันไปเลือกนำเข้าสินค้าจากยุโรปเป็นหลักแทนแม้ว่าราคาสินค้าในยุโรปจะแพงกว่าแต่เมื่อพิจารณาร่วมกับราคาค่าขนส่งแล้วยังถือว่าประหยัดกว่ามาก
แม้ว่าปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทั้งในและนอกประเทศจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในตลาดสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากปัจจัยด้านการปรับตัวเพื่อขึ้นของราคาพลังงานจะส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าชุดชั้นในสตรีก็ตาม แต่ในภาพรวมตลาดยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้
เนื่องจากผู้บริโภคที่ชะลอการซื้อในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ที่เกิดภาวะการแพร่ระบาดยังมีความต้องการที่จะซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นในขณะที่ปริมาณสินค้าในตลาดยังคงมีจำนวนค่อนข้างจำกัด ซึ่งน่าจะส่งผลทำให้ในปีนี้สหรัฐฯ ยังคงมีความต้องการนำเข้าสินค้าทั้งในรูปของวัตถุดิบการผลิตและสินค้าสำเร็จรูปเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา
ในปี 2564 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าชุดชั้นในสตรีเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.24 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยจีนเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าชุดชั้นในสตรีหลักของสหรัฐฯ มีสัดส่วนการนำเข้าทั้งสิ้นร้อยละ 33.76 รองลงมา ได้แก่ เวียดนาม (ร้อยละ 18.80) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 9.08) ศรีลังกา (ร้อยละ 8.99) และบังกลาเทศ (ร้อยละ 5.62) ตามลำดับ
ส่วนการนำเข้าจากไทยนั้นมีมูลค่าทั้งสิ้น 107.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 6) หดตัวลงร้อยละ 16.02 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตทั้งค่าวัตถุดิบและค่าแรงงานในตลาดที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลก รวมถึงปัจจัยค่าขนส่งสินค้าและค่าระวางสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมาโดยตลอดอีกด้วย
นอกจากนี้ ปัจจัยด้านอัตราภาษีนำเข้าสินค้า (พิกัดศุลกากร 6212) ซึ่งสินค้านำเข้าจากไทยไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ ทำให้สินค้านำเข้าจากไทยต้องชำระภาษีในอัตราที่ค่อนข้างสูงระหว่างร้อยละ 2.70 – 23.50 จึงทำให้สินค้าไทยแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้ค่อนข้างลำบาก
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยบางส่วนยังต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบคุณภาพสูงจากต่างประเทศโดยเฉพาะในทวีปยุโรปซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านราคาวัตถุดิบสินค้าและค่าขนส่งสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและจากภาวะสงครามยูเครน – รัสเซีย เช่นเดียวกันและอาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกโดยรวมของไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการไทยสามารถวางแผนบริหารจัดการต้นทุนค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงาน และค่าขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ยังจะสามารถรักษาตลาดส่งออกสินค้าชุดชั้นในสตรีในสหรัฐฯ ได้ในอนาคต
ในภาพรวมแม้ว่าสินค้าชุดชั้นในสตรีไทยจะได้รับผลกระทบจากทั้งนอกและในตลาดหลายปัจจัยซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโดยเฉพาะประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเอเชีย แต่โดยภาพรวมไทยก็ยังมีส่วนแบ่งตลาดพอสมควร
ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยสามารถปรับกลยุทธ์ในการทำตลาดทั้งการลดต้นทุนการผลิตรวมถึงการปรับปรุงสินค้าให้มีความน่าสนใจตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในตลาดปัจจุบันที่สนใจเลือกซื้อสินค้าตามลักษณะการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปทั้งแบบที่มีโครงสร้างดันทรง และแบบชุดชั้นในสำหรับกีฬา (Sport Bra) ที่ยังคงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวอเมริกันในปัจจุบันก็น่าจะเพิ่มโอกาสของสินค้าไทยในตลาดได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังควรคำนึงถึงปัจจัยด้านลักษณะโครงสร้างทางด้านร่างกายสตรีชาวอเมริกันที่แตกต่างจากผู้หญิงชาวเอเชียอย่างสิ้นเชิง เพื่อให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการทางสรีระของผู้บริโภคในตลาดซึ่งจะช่วยให้สินค้าเป็นที่ยอมรับในตลาดมากขึ้น
นอกจากนี้ การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์การผลิตที่มีนวัตกรรมขั้นสูง เช่น เนื้อผ้าที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย หรือเนื้อผ้าจากวัสดุพลาสติกนำกลับมาใช้ เป็นต้น น่าจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจของสินค้าไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย
อีกทั้ง การส่งเสริมการสร้างแบรนด์สินค้าไทยและการสนับสนุนดีไซเนอร์ไทยรุ่นใหม่ให้เข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ ให้มากขึ้นจะสามารถช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยในสหรัฐฯ ได้ในระยะยาว
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มรวมถึงชุดชั้นในเป็นอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญและจับตามองเป็นพิเศษในมิติด้านการใช้แรงงานเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก (Labor Intensive sector) และมักจะมีความเกี่ยวพันธ์กับการลักลอบใช้แรงงานผิดกฎหมาย ทั้งในรูปแบบของแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในประเทศผู้ผลิตในเอเชียและอเมริกาใต้
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรระมัดระวังในประเด็นดังกล่าวและให้ความสำคัญในการดูแลด้านสวัสดิภาพแรงงานในอุตสาหกรรมอย่างเท่าเทียม เหมาะสมและเป็นธรรมตามมาตรฐานสากลเพื่อลดโอกาสที่สหรัฐฯ จะใช้เป็นประเด็นในการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากไทย
เยี่ยมชม
ditp.go.th
ข่าวประจำสัปดาห์ (25-29เม.ย.2565) 1.ภาวะเงินเฟ้อกระทบราคาสินค้าชุดชั้นในสตรีในสหรัฐฯ
ข่าวประจำสัปดาห์ (25-29เม.ย.2565) 1.ภาวะเงินเฟ้อกระทบราคาสินค้าชุดชั้นในสตรีในสหรัฐฯ
สหรัฐอเมริกา
เงินเฟ้อ
แบรนด์ชุดชั้นใน
2 บันทึก
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย