Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นิตยสารสาระวิทย์
•
ติดตาม
30 พ.ค. 2022 เวลา 09:03 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เปิดโลกนิทานดาว "ทางช้างเผือก"
โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ) Facebook: คนดูดาว stargazer
“วิญญาณฉันรอที่ทางช้างเผือก”
เพลงประกอบละครโทรทัศน์เรื่อง คู่กรรม ปี พ.ศ. 2533
คำร้องและทำนองโดย สุทธิพงษ์ วัฒนจัง (ชมพู ฟรุตตี้)
ภาพ The Origin of the Milky Way โดย Tintoretto ประมาณปี พ.ศ. 2118-2123 ที่มาภาพ Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Milky_Way
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เทพเจ้าซูส (Zeus) ราชาแห่งเทพกรีก ได้แอบมเหสีเฮรา (Hera) ไปหาหญิงสาวที่เป็นมนุษย์ชื่อ แอล์กมีนี (Alcmene) จนมีลูกชายเป็นเด็กทารกชื่อ เฮราคลีส (Heracles)
ซูสอยากให้เฮราคลีสเป็นอมตะด้วยการดื่มนมของมเหสีเฮรา แต่เฮราขี้หึงมาก ถ้าเฮรารู้ว่าเฮราคลีสเป็นลูกของกิ๊กซูส เฮราก็คงไม่ปล่อยเฮราคลีสไว้แน่ ดังนั้นซูสจึงวางแผน
คืนหนึ่งขณะที่เฮรากำลังหลับ ซูสแอบอุ้มเฮราคลีสย่องเข้ามา แล้วให้เฮราคลีสดื่มนมเฮรา
พอเฮรารู้สึกตัวตื่นขึ้นก็ตกใจที่จู่ ๆ มีเด็กทารกที่ไหนก็ไม่รู้มาดื่มนมของตน จึงผลักเฮราคลีสกระเด็นออกไป เฮราคลีสได้ดื่มนมของเฮราแล้วมีพลังเช่นเทพเจ้าจึงไม่เป็นอะไร แต่ระหว่างที่ผลักนั้นเฮราคลีสกำลังดูดนมอยู่จึงทำให้นมของเฮราหกราดไปบนท้องฟ้า เกิดเป็นทางน้ำนม (Milky Way) หรือคนไทยเรียกว่า “ทางช้างเผือก” เนื่องจากคนไทยเห็นเป็นทางบนสวรรค์ที่ช้างเผือกเดินอยู่ (ช้างเผือกเป็นสัตว์มงคล)
ส่วนคนจีนเห็นทางช้างเผือกเป็นแม่น้ำบนสวรรค์ มีนิทานเรื่อง “หญิงทอผ้ากับชายเลี้ยงวัว” เล่าว่า ชายเลี้ยงวัวได้พบรักกับหญิงทอผ้าที่เป็นนางฟ้าจากสวรรค์ที่แอบหนีมาเที่ยวเล่นที่โลกมนุษย์ ทั้งสองได้แต่งงานและมีลูกด้วยกัน 2 คน
หญิงทอผ้าเคยมีหน้าที่ทอผ้าแล้วนำไปประดับติดบนท้องฟ้าเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าและดวงอาทิตย์ตกตอนเย็น
1
เมื่อเธอไม่อยู่บนสวรรค์ท้องฟ้าจึงขาดสีสัน
เทพสวรรค์ออกตามหาหญิงทอผ้าจนพบแล้วพาเธอเหาะกลับสวรรค์ ชายเลี้ยงวัวได้นำหนังวัววิเศษมาห่มทำให้เหาะได้ พาลูกทั้งสองใส่ตะกร้าหาบ แล้วเหาะตามมา เทพสวรรค์ได้เสกให้เกิดแม่น้ำกว้างใหญ่บนท้องฟ้า ทำให้ชายเลี้ยงวัวไม่สามารถเหาะข้ามไปได้
ต่อมาเทพสวรรค์เห็นแก่หญิงทอผ้าและชายเลี้ยงวัวที่มีความรักมั่นคงต่อกัน จึงใจอ่อน ยอมให้ทั้งสองได้พบกันปีละครั้ง ทุกวันที่ 7 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ในวันนั้นเหล่านกจะมาต่อตัวเป็นสะพานให้คู่รักคู่นี้ได้เดินข้ามแม่น้ำมาพบกัน
แม่น้ำบนท้องฟ้านั้นคือ ทางช้างเผือก หญิงทอผ้าคือ ดาวเวกา (Vega) ในกลุ่มดาวพิณ (Lyra) และชายเลี้ยงวัวคือ ดาวอัลแทร์ (Altair) ในกลุ่มดาวนกอินทรี (Aquila) ดาวทั้งสองจะอยู่ข้างทางช้างเผือก
ภาพชายเลี้ยงวัวเหาะตามหญิงทอผ้า แต่มีแม่น้ำกว้างใหญ่บนท้องฟ้าขวางกั้นไว้ ที่มาภาพ หนังสือ สตรีจีนในนิทาน แปลโดย วันทิพย์ สำนักพิมพ์สายใจ หน้า 31
ปัจจุบันยังมีเทศกาลฉลองวันที่คู่รักทั้งสองมาพบกันเรียกว่า เทศกาลชิซี (Qixi 七夕) เมื่อญี่ปุ่นรับวัฒนธรรมจีนเรื่องนี้ก็จัดเทศกาลเช่นกันเรียกว่า เทศกาลทานาบาตะ (Tanabata たなばた)
ถ้าลากเส้นจากดาวเวกาไปดาวอัลแทร์ แล้วลากไปหาดาวเดเนบ (Deneb) ในกลุ่มดาวหงส์ (Cygnus) เกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมเรียกว่า สามเหลี่ยมฤดูร้อน (Summer Triangle) เป็นสามเหลี่ยมที่จะเห็นในช่วงฤดูร้อนของฝรั่ง (ในซีกโลกเหนือเส้นศูนย์สูตร) ตอนต้นเดือนกรกฎาคมตั้งแต่หัวค่ำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ชาวอินเดียเรียกทางช้างเผือกว่าเป็นแม่น้ำคงคาสวรรค์ ปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง “กามนิต” ว่ากามนิตและวาสิฏฐีคู่รักเมื่อตายแล้วจะไปพบกันที่นั่น เช่นเดียวกับโกโบริและอังศุมาลินในเรื่อง “คู่กรรม” ของทมยันตี
ในทางดาราศาสตร์ ทางช้างเผือกคือกาแล็กซี (galaxy) หรือดาราจักร ที่โลกเราเป็นสมาชิกอยู่ คำว่า galaxy มีรากศัพท์จากภาษากรีกว่า galaxias (γαλαξίας) แปลว่า นม มาจากนิทานเรื่องทางน้ำนมกับเฮราคลีส
ภาพลำแสงเลเซอร์ส่องไปที่ใจกลางทางช้างเผือก ถ่ายจากหอดูดาว Very Large Telescope (VLT) ประเทศชิลี โดย Yuri Beletsky ที่มาภาพ NASA https://apod.nasa.gov/apod/ap190106.html
กาแล็กซี คือระบบดาวที่อยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ประมาณว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกมีดาวฤกษ์ (คือดาวที่เหมือนดวงอาทิตย์) อยู่ประมาณ 1-4 แสนล้านดวง มีลักษณะเป็นก้นหอยมีคาน (barred spiral galaxy) เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 แสนปีแสง (1 ปีแสงเท่ากับ 9.46 ล้านล้านกิโลเมตร) คาดว่าตรงกลางทางช้างเผือกเป็นหลุมดำขนาดใหญ่
โชคดีที่โลกของเราไกลห่างจากจุดศูนย์กลางทางช้างเผือกประมาณ 28,000 ปีแสง โลกและดวงอาทิตย์ต้องใช้เวลาประมาณ 230 ล้านปีถึงจะโคจรรอบกาแล็กซีทางช้างเผือก
ภาพวาดทางช้างเผือก มองจากด้านบน ดวงอาทิตย์จะอยู่ค่อยมาทางด้านล่าง ที่มาภาพ NASA https://solarsystem.nasa.gov/resources/285/the-milky-way-galaxy/?category=solar-system_beyond
คาดว่าในจักรวาลมีกาแล็กซีทั้งหมดประมาณ 2 แสนล้าน ถึงมากกว่า 2 ล้านล้านกาแล็กซีในจักรวาลหรือเอกภพ
เราสามารถมองเห็นทางช้างเผือกด้วยตาเปล่า ตอนผมเป็นเด็กเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน สามารถมองเห็นทางช้างเผือกในกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันไม่สามารถเห็นในกรุงเทพฯ แล้ว เนื่องจากกรุงเทพฯ มีมลพิษแสง (light pollution) ที่เกิดจากแสงไฟฟ้าในเมืองมากขึ้น จึงต้องออกเดินทางไปดูในพื้นที่ที่มืดสนิทไกลจากเมือง
ดาวทุกดวงที่เรามองเห็นบนท้องฟ้านั้นล้วนอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือก
แต่ทางช้างเผือกที่เราเห็นเป็นแถบคล้ายเมฆนั้นเกิดจากมุมมองจากโลกที่มองเห็นด้านข้างของทางช้างเผือก เปรียบทางช้างเผือกเหมือนจานกินข้าว ถ้าเรามองด้านบนจะเห็นจานกลม แต่ถ้ามองจานด้านข้างจะเห็นเป็นเส้น
ตรงบริเวณใจกลางทางช้างเผือก (Galactic Center) ในกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius) ใกล้กลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius) และกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) เป็นบริเวณที่จะเห็นทางช้างเผือกมีดาวหนาแน่นที่สุดหรือสวยงามที่สุด
ภาพถ่ายทางช้างเผือก ที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยคุณมติพล ตั้งมติธรรม ด้านบนของภาพยังมีจรวด Ariane 5 ที่กำลังปล่อยสู่อวกาศ (เห็นเป็นจุดสีน้ำเงิน) และข้างขวาของจรวดคือดาวตก ดาวสว่างด้านล่างของภาพคือดาวศุกร์
จึงนิยมถ่ายภาพทางช้างเผือกให้เห็นบริเวณใจกลางทางช้างเผือกอยู่บนท้องฟ้าตลอดเวลา แต่บริเวณใจกลางจะเห็นเวลากลางคืนประมาณปลายเดือนมกราคมตอนเช้ามืดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถึงกลางเดือนพฤศจิกายนตอนหัวค่ำทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
⚛ นิตยสารสาระวิทย์
Website:
https://www.nstda.or.th/sci2pub/sarawit
Facebook:
https://www.facebook.com/sarawitnstda
Blockdit:
https://www.blockdit.com/sarawit
Twitter:
https://twitter.com/sarawitnstda
YouTube:
https://www.youtube.com/c/SARAWITTVHD
ทางช้างเผือก
นิทานดาว
milkyway
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เปิดโลกนิทานดาว
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย