31 พ.ค. 2022 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
Loop Mission สตาร์ตอัปที่ผลิต เบียร์, น้ำผลไม้ ไปจนถึง อาหารสุนัข ด้วย “ขยะอาหาร”
รู้หรือไม่ว่า 14% ของอาหารที่เก็บเกี่ยวได้ทั่วโลก กลับถูกนำไปทิ้งลงถังขยะ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยถูกกินมาก่อน จนทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่าง “ก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งกว่า 8-10% ของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็มีต้นตอมาจากขยะอาหารในหลุมฝังกลบ
1
จากปัญหาเหล่านี้ ก็ได้จุดไอเดียธุรกิจ และเกิดเป็น “Loop Mission” สตาร์ตอัปที่จะเข้ามาช่วยต่อชีวิตอาหารที่ใกล้ถูกทิ้ง ให้กลายมาเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าได้ หลักร้อยล้านบาท
1
และที่น่าสนใจ คือ Loop Mission ยังได้รับการสนับสนุนจาก “รัฐบาลแคนาดา” อีกด้วย
Loop Mission น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ Loop Mission เกิดขึ้นจากการพบกันของคุณ Julie Poitras-Saulnier และคุณ David Côté ซึ่งเขาเป็นเจ้าของเชนร้านอาหารมังสวิรัติ และบริษัทคอมบูชะ ส่วนคุณ Saulnier ว่าที่ภรรยาในอนาคต ก็เป็นคนที่มีประสบการณ์การทำงาน ในเรื่องสิ่งแวดล้อมมาแล้วในหลายองค์กร ทำให้ทั้งคู่มักจะพบเจอกับปัญหาขยะอาหารคล้าย ๆ กัน
1
ดังนั้น ทั้งสองจึงตกลงที่จะมาแก้ปัญหานี้ร่วมกัน ด้วยการก่อตั้ง Loop Mission ขึ้นในปี 2016
โดยเงินทุนในการทำธุรกิจครั้งนี้ มาจากการ “ขายบ้าน” ของคุณ Saulnier และการ “ขายธุรกิจ” ของคุณ Côté
ส่วนสินค้าแรกของ Loop Mission ก็คือ น้ำผักผลไม้สกัดเย็น 4 รสชาติ และวางขายในราคาประมาณ 130 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ถูกกว่าครึ่งหนึ่งจากท้องตลาด
โดยวัตถุดิบทั้งหมด จะมาจากผักและผลไม้ที่กำลังจะกลายเป็นขยะ
เนื่องจากขายไม่หมด หรือรูปร่างหน้าตาไม่สวยงามตามมาตรฐาน
อย่างเช่น สีผิดเพี้ยน รูปร่างบิดเบี้ยว ไปจนถึงเรื่องขนาดที่อาจจะเล็กหรือใหญ่จนเกินไป
ซึ่งแม้ว่าลักษณะเหล่านี้ อาจไม่ส่งผลต่อคุณภาพของวัตถุดิบ แต่มันกลับส่งผลให้ยากต่อการขาย ทำให้เหล่าร้านค้า และผู้ผลิตต้องทิ้งวัตถุดิบเหล่านี้ไปโดยเปล่าประโยชน์
โดยหลังจากวางขายน้ำผลไม้สกัดเย็นไปได้ไม่นาน ผู้ก่อตั้งทั้งสอง ก็เริ่มได้รับการติดต่อจากเกษตรกร, ร้านขายของชำ, ร้านเบเกอรี และโรงงานผลิตอาหาร ให้ทั้งคู่ช่วยกำจัดเศษอาหารที่เหลือทิ้ง
1
พอเรื่องเป็นแบบนี้ Loop Mission จึงได้ออกผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตามมา เช่น
- น้ำผลไม้สกัดเย็น จากผักและผลไม้ที่ใกล้ถูกทิ้ง
- เบียร์ จากการหมักขนมปังใกล้หมดอายุ ผสมกับผลไม้
- จิน จากเปลือกมันฝรั่ง
- สบู่ จากน้ำมันใช้แล้ว นำมาทำความสะอาด แล้วผสมกับผลไม้
ส่วนสาเหตุที่ Loop Mission มีการใช้ผลผลิตจาก “พืช” อยู่ในทุกสินค้า ก็เป็นเพราะว่าในจำนวนขยะอาหารทั้งหมดทั่วโลกนั้น จะมาจากพืชเป็นหลัก
อีกประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ แม้ว่าวัตถุดิบทั้งหมดที่ Loop Mission ใช้ จะเป็นสินค้าที่ใกล้ถูกทิ้ง ซึ่งปกติแล้ว ผู้ประกอบการที่นำสินค้าเหล่านี้ไปทิ้ง จะต้อง “เสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ”
แต่แทนที่ Loop Mission จะขอรับบริจาคมาแบบฟรี ๆ เพื่อประหยัดต้นทุน
พวกเขากลับเลือกวิธี “ซื้อ” วัตถุดิบในราคาที่ถูกกว่า ราว 30-40% ของราคาเต็ม
ซึ่งเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดค่ากำจัดขยะ และยังได้เงินกลับมา ไปพร้อม ๆ กัน
ส่วนเหตุผลที่ Loop Mission เลือกที่จะจ่ายเงินซื้อวัตถุดิบเหล่านี้ ก็เพราะต้องการกระตุ้นให้ร้านค้า ยอมมาเข้าร่วมกับ Loop Mission และยังเป็นการให้มูลค่ากับผลผลิตเหล่านั้น โดยการทำให้มันไม่ใช่ของเหลือทิ้ง แต่เป็นสินค้าชิ้นหนึ่งที่มีมูลค่า ที่ผู้คนจะไม่มองว่า ตัวเองกำลังบริโภคของเหลือใช้ หรืออาหารจากขยะ
เพราะจริง ๆ แล้วผลผลิตที่กลายมาเป็นขยะอาหาร ก็ไม่ได้เกิดจากการเน่าเสีย เพียงแต่เป็นผลผลิตที่หน้าตาไม่สวย หรือมาจากร้านค้าที่สั่งสินค้ามาขายมากเกินไป จนขายไม่หมด
อย่างไรก็ตาม ถึง Loop Mission จะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อผลผลิตที่กำลังจะหมดอายุ
แต่ราคาสินค้าของ Loop Mission ก็ยังถูกกว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ขายในท้องตลาด
เพื่อดึงดูดลูกค้าให้หันมาซื้อสินค้า และสินค้าส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการประหยัดเงิน หรือมองหาทางเลือกที่ดีต่อโลก
โดยในปัจจุบัน สินค้าของ Loop Mission มีวางจำหน่ายทั้งแบบออนไลน์ และตามร้านค้าขนาดเล็ก ไปจนถึงห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เช่น
- Sobeys ห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของแคนาดา
- Whole Foods Market ห้างสรรพสินค้าที่เน้นขายสินค้า เพื่อคนรักสุขภาพ
แล้วธุรกิจของ Loop Mission สามารถทำเงินไปได้เท่าไร ?
ตามที่ผู้ก่อตั้ง Loop Mission เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ในปีแรกที่ดำเนินธุรกิจ พวกเขาทำรายได้อยู่ที่ 34 ล้านบาท และ 3 ปีต่อมา รายได้ก็ก้าวกระโดดขึ้นมาเป็น 170 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยถึง 124% เลยทีเดียว
นอกจากนี้ พวกเขายังได้ต่อยอดแผนธุรกิจที่ชื่อ “Loop Synergies” ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจแบบ B2B
โดยเป็น “บริการให้คำปรึกษา” แก่ร้านขายของชำ และผู้ผลิต ที่ต้องการหาวิธีลดขยะอาหารที่เกิดจากธุรกิจของตัวเอง และยังสามารถนำกลับมาสร้างมูลค่าได้อีกครั้ง
ซึ่งทางบริษัทจะเข้าไปช่วยหาวิธีในการยืดอายุของอาหารเหลือทิ้ง ให้กลายเป็น “ผงผัก, ผลไม้อบแห้ง, น้ำผลไม้ ไปจนถึงปูเร (purée) หรือก็คือ การนำอาหารปรุงสุกจากผักหรือผลไม้ มาบดให้อยู่ในรูปครีมหรือของเหลว แล้วนำไปแช่แข็ง เพื่อให้สามารถเก็บไว้ใช้ได้อีกนาน
1
ถัดมาที่อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ
เมื่อเดือนเมษายน ปี 2022 นี้ รัฐบาลกลางแคนาดา ได้ให้เงินสนับสนุนแก่ธุรกิจ Loop Mission ไปถึง 41 ล้านบาท และยังมีรัฐบาลของรัฐเกแบ็ก ซึ่งเป็นรัฐที่ตั้งสำนักงานของ Loop Mission ก็ยังได้ให้เงินกู้กับบริษัทแห่งนี้ อีกเป็นจำนวนเงินมากกว่า 116 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนธุรกิจ Loop Mission ในการสร้างโรงงานแห่งใหม่ สั่งซื้อเครื่องจักร และสานต่อแผนการขยายธุรกิจไปยังสหรัฐอเมริกา
1
นอกจากจะไปได้สวยในแง่ของการดำเนินธุรกิจแล้ว
Loop Mission ก็ยังสามารถทำตามเป้าหมายที่อยากให้โลกดีขึ้นได้เช่นกัน
โดยพวกเขาช่วยให้ ผักและผลไม้กว่า 8,000 ตัน ไม่ต้องไปจบลงที่หลุมฝังกลบ
ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว 6,000 ตัน
และขนมปังมากกว่า 1 ล้านแผ่น ไม่ถูกทิ้งไปอย่างเสียเปล่า
1
เรื่องราวของ Loop Mission ถือเป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
เพราะในขณะที่ทั่วโลก กำลังเจอกับปัญหาราคาอาหาร และต้นทุนการผลิตที่กำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ
แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็โยนอาหารทิ้ง อย่างเปล่าประโยชน์ไปทุก ๆ วันเช่นกัน
ดังนั้นสิ่งที่ Loop Mission ทำ จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ธุรกิจหนึ่งเท่านั้น
แต่พวกเขาอาจกลายมาเป็น จิกซอว์ชิ้นใหม่ ที่ช่วยหยุดอาหารเหล่านี้ให้ไม่ไปถึงหลุมฝังกลบ และยังช่วยให้ผู้คนได้บริโภคอาหารในราคาที่ถูกลง รวมไปถึงช่วยให้ร้านค้า และผู้ผลิตไม่ต้องแบกรับภาระจากต้นทุนสินค้าที่ขายไม่หมด จนมากเกินไป..
โฆษณา