30 พ.ค. 2022 เวลา 13:35 • ศิลปะ & ออกแบบ
ทำไมต้องสีนี้
พื้นฐานของทฤษฎีสีก็คือจิตวิทยาสีซึ่งสำรวจสีและอารมณ์ รวมทั้งความรู้ด้านสี อันถือเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับสี มนุษย์จะรับรู้การมองเห็นได้จากแสง ซึ่งถูกดูดกลืนไว้หรือสะท้อนจากวัตถุ มากระทบกับนัยน์ตาผ่านทางเส้นประสาทไปยังสมองทำให้สามารถรับรู้ความเป็นสีขึ้นได้
สักนิดกับความหมายของสี
สี (Colour) หมายถึงองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของงานศิลปะ และเป็นองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึก อารมณ์และจิตใจ ได้มากกว่าองค์ประกอบอื่น ๆ
อธิบายสิว่าเรารับรู้เรื่องสีได้ยังไง
- การมองเห็นสี
ไอแซก นิวตัน กล่าวว่า วัตถุที่เราเห็นไม่ได้มีสีอย่างที่เราเห็น แต่สีที่เราเห็นคือสีที่ผิววัตถุนั้นสะท้อนออกมาต่างหาก นั่นแปลว่า แม้ว่าเราจะเห็นแอปเปิลเป็นสีแดง แต่ผิวของแอปเปิลแท้จริงแล้วดูดซับแสงสีทั้งหมดเอาไว้แล้วสะท้อนออกมาเฉพาะสีแดงต่างหาก
ตาเรารับคลื่นแสงช่วงที่เป็นสีแดงซึ่งสะท้อนออกมาจากผิวแอปเปิลส่วนคลื่นแสงที่มีความยาวคลื่นช่วงอื่น ๆ ยังคงอยู่ที่ผิวแอปเปิล
ดังนั้น สีขาวที่เราเห็นก็เกิดจากการสะท้อนแสงทุกช่วงคลื่นที่สามารถมองเห็นได้จากผิววัตถุเข้าตาของเรา ส่วนสีดำของวัตถุเกิดจากการดูดกลืนแสงทุกช่วงคลื่นเอาไว้และไม่มีช่วงคลื่นใดที่เราเห็นได้ด้วยเซลล์ประสาทรับแสงภายในดวงตา
และด้วยเหตุนี้เอง การจ้องมองวัตถุซึ่งเรามองเห็นเป็นสีขาวจึงมักทำให้เราแสบตามากกว่าวัตถุสีดำ ในทางกลับกันวัตถุที่มีสีดำอย่างเสื้อสีดำสามารถเก็บความร้อนได้ดีเพราะดูดซับคลื่นแสงไว้มากกว่าเสื้อสีขาว
ดังนั้น หากเรามาพิจารณาถึงกระบวนการที่ทำให้จิตเรารับรู้ถึงสีที่มองเห็นแล้ว ก็สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ๆ กล่าวคือ ขั้นตอนของ “การมองเห็นสี” และขั้นตอนของการเชื่อมโยงของประสาทสัมผัสและอารมณ์ความรู้สึกกับสีนั้น
นอกจากนี้เราก็มักอ่านพบบทความ ในนิตยสารแฟชั่นอยู่เนืองๆ แนะนำว่าควรใช้สีไหนในการสวมใส่แล้วจะพรางตาให้แลดูอ้วนขึ้น หรือผอมลงซึ่งแสดงถึงอิทธิพลของสีที่มีต่อความรู้สึกรับรู้ในเรื่องของขนาดได้ ความรู้สึกรับรู้อันเกิดจากสีข้างต้น ถือเป็นปรากฏการณ์ของ “ภาพลวงตา” อย่างหนึ่ง มิได้เกิดจากการสะท้อนของแสงจากวัตถุมายังนัยน์ตาของเรา เชื่อมโยงไปยังสมอง
- สีกับการรับรู้ อารมณ์ความรู้สึกและภาพลักษณ์
นอกจากสีจะบ่งบอกถึง ความเป็นสีและมีความสว่างของสีอยู่ในตัวแล้ว ยังสื่อถึงความรู้สึก เช่น ความอบอุ่นหรือบางเบาต่อผู้พบเห็นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากสัญญาณเกี่ยวกับสีซึ่งถูกส่งไปยังสมองนั้น นอกจากจะสื่อถึงการมองเห็นตามปกติแล้ว ยังทำให้เกิดการรับรู้และอารมณ์ความรู้สึกไปพร้อมๆ กันด้วย
ยกตัวอย่างง่ายๆ จากสิ่งใกล้ตัวที่เราเพิ่งเผชิญกันเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา นั่นก็คือ เรื่องของโรค การเมือง และสภาวะสงครามที่เลวร้าย และจากสัญชาติญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ ทำให้เราหลงไปได้ว่า สิ่งที่กล่าวมาทั้ง 3 ปรากฏการณ์นี้จะกลายเป็นความปกติใหม่ในไม่ช้า
ทำให้เกิดตัวอย่างงานออกแบบกราฟิก ที่สื่อถึงการรับรู้ และอารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนภาพลักษณ์อันเกี่ยวเนื่องกับสี แสดงทั้งที่เป็นที่รับรู้ร่วมกันของเหล่าผู้คนทั้งหลาย และที่แตกต่างกันไปตามแต่ละผู้คน
ผ่านกลุ่มควันสีชมพูกระจายเต็มท้องฟ้า ให้ทั้งความอึดอัด จากสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ ขณะเดียวกับที่มีสีชมพู เป็นสีที่ใช้แทนความเปล่งปลั่ง แจ่มใส เช่น ใช้เป็นสัญลักษณ์ของวัยรุ่น หนุ่มสาว หรือใช้แทนอารมณ์ของความสุข ซึ่งให้ความรู้สึกผ่อนคลายว่าสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่จะกลายเป็นสิ่งปกติที่อยู่ร่วมกันได้ในไม่ช้า
อยากเล่าเรื่องสีแห่งปีด้วย
การนำเสนอสีแห่งปี 2021 ของPantone จำนวนสองสี ซึ่งก็คือสี Ultimate Grey และสี Illuminating โดยเหตุผลในการเลือกสีแห่งปีเหล่านี้ค่อนข้างชัดเจน ดังว่า: การผสมผสานของสี Ultimate Grey ที่ยืนหยัดควบคู่ไปกับสีเหลืองอันส่องสว่างสดใสนั้น
Ultimate Grey (ซ้าย)-Illuminating (ขวา)
บอกเล่าเรื่องราวในเชิงบวกที่ต้องถูกสนับสนุนด้วยความแข็งแกร่ง ให้เกิดการใช้งานได้จริงและมั่นคง พร้อมๆ กับทำให้ผู้คนรู้สึกถึงความอบอุ่นและมองโลกในแง่ดี นี่คือการผสมผสานของสีสันที่ทำให้เรากลับมายืนหยัดและมีความหวังอีกครั้ง บนความต้องการกำลังใจและแรงสนับสนุนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับจิตวิญญาณของมนุษย์
นอกจากนี้จากคำกล่าวของ Leatrice Eiseman—ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันสี Pantone ที่ว่า
“การผสมผสานของสี Ultimate Grey ที่ยืนหยัดควบคู่ไปกับสีเหลืองอันส่องสว่างสดใสนั้นสื่อสารข้อความในเชิงบวกซึ่งถูกสนับสนุนด้วยความแข็งแกร่ง มันใช้งานได้จริงและมั่นคง แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกอบอุ่นและมองโลกในแง่ดี นี่คือการผสมผสานของสีสันที่ทำให้เรากลับมายืนหยัดและมีความหวังอีกครั้ง เราต้องการกำลังใจและแรงสนับสนุนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับจิตวิญญาณของมนุษย์”
สื่อได้ว่าถึงแม้แต่ละสีจะให้ความรู้สึกสงบและผ่อนคลาย แต่เมื่อมาจับคู่เข้าด้วยกันแล้ว พลังของมันก็แข็งแกร่งยิ่งขึ้น จนอาจพูดได้ว่านี่เป็นการอุปมาถึงความคิดที่ว่า จงแตกต่างเพื่อเสริมสร้างซึ่งกันและกัน โดยไม่แตกแยก
และจากการที่ Pablo Picasso เคยกล่าวไว้ว่า: “…สีสันผันเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์”
ซึ่งหมายความว่าวิธีที่เราตีความสภาพแวดล้อมรอบตัวของเราได้รับอิทธิพลจากสีและการผสมผสานของสีต่าง ๆ ที่เรารับรู้ในขอบเขตหนึ่ง ในระดับพื้นฐาน
นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมนักออกแบบตกแต่งภายในถึงไม่แนะนำให้ใช้สีแดงสำหรับผนังห้องนอน แทนที่จะใช้สีน้ำเงิน สีเขียว หรือสีขาว เพราะสีแดงทำให้เรารู้สึกตื่นตัว ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่คุณต้องการเมื่อพยายามนอนหลับ ในขณะที่สามสีหลังทั้งหมดนั้นให้ความรู้สึกปลอบประโลม บรรเทา และผ่อนคลายความตึงเครียด
จากที่ได้กล่าวมาแล้ว บทบาทของสีซึ่งเชื่อมโยงกับการรับรู้อารมณ์ความรู้และภาพลักษณ์นั้น นอกจากจะเป็นแนวคิดสำคัญในการศึกษาเรื่อง จิตวิทยาการใช้สีแล้ว ในขณะเดียวกันก็มีความสำคัญยิ่งในการใช้สีเป็นเครื่องมือเพื่อสื่อถึงการแสดงออก ของอารมณ์ความรู้สึกและภาพลักษณ์ของตนเองให้เป็นที่ปรากฏ ต่อสายตาของผู้คนรอบข้างอีกด้วย
แหล่งที่มาของข้อมูล
ดิสนีย์ สิงหวรเศรษฐ์. (2552). @ออกแบบสิ่งทอ. สํานักพิมพ์โอเดียนสโตร์.
โฆษณา