31 พ.ค. 2022 เวลา 11:18 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ครั้งแรกในไทย! สวทช. – เครือข่ายรถโดยสารไฟฟ้าไทย เปิดตัวและส่งมอบ ‘4 ต้นแบบ EV BUS’ เตรียมต่อยอดสู่ระดับอุตสาหกรรมการผลิตและออกแบบการบริการในอนาคต
เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย กับ 4 ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าคนไทยทำ ดัดแปลงจากรถเมล์ ขสมก. ที่ใช้แล้ว 20 ปี ภายหลังวิ่งบนเส้นทางให้บริการจริงของ ขสมก. นานกว่า 3 เดือน ทีมวิจัย สวทช. และภาคีเครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมรถโดยสารไฟฟ้าไทย พร้อมส่งมอบต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า ‘EV BUS’ ทั้ง 4 คัน ให้กับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ ขสมก. กฟผ. กฟน. และ กฟภ. นำไปทดลองขับใช้งานเต็มประสิทธิภาพ
เพื่อการออกแบบรูปแบบการให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะในระยะยาว สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการและภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าในประเทศ เผยทั้ง 4 รุ่น ใช้วัสดุในประเทศช่วยประหยัดต้นทุนรถบัสนำเข้า 30 % หรือลดต้นทุนได้ 7 ล้านบาทต่อคัน
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่าในช่วงระยะเวลา 2 – 3 ปียานยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากประโยชน์ในการลดต้นทุนด้านพลังงาน และที่สำคัญที่สุดคือการลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าลงทุนและน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าระดับอุตสาหกรรม จึงถูกพัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือ (Consortium) ภาคีเครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมรถโดยสารไฟฟ้าไทย ที่ดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย
ประกอบไปด้วยสมาชิกจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร กรมการขนส่งทางบก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) บริษัทเอกชนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
ทั้งนี้ สวทช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา โครงการการพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ขสมก. เป็นรถโดยสารไฟฟ้าเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย ระหว่าง สวทช. กฟผ. กฟภ. กฟน. และ ขสมก.
ซึ่งภายใต้โครงการฯ ดังกล่าวใช้ความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าที่มีคุณภาพ สามารถใช้งานได้ดี มีมาตรฐานและต้นทุนต่ำ ซึ่งต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าทั้ง 4 รุ่น ถูกพัฒนาจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ถูกแจ้งปลดระวางไปแล้ว นำมาปรับปรุงและพัฒนาเป็นรถโดยสารไฟฟ้า ให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ลดต้นทุนการนำเข้าหรือผลิตรถโดยสารไฟฟ้าใหม่
ด้วยมูลค่าสัดส่วนการผลิตชิ้นส่วนจากในประเทศมากกว่าร้อยละ 40 และมีต้นทุนต่ำกว่าการผลิตและนำเข้ารถโดยสารไฟฟ้าใหม่มากกว่าร้อยละ 30 หรือประมาณ 7 ล้านบาทต่อคัน ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้เพิ่มขีดความสามารถในการออกแบบและผลิตรถโดยสารไฟฟ้าได้มีคุณภาพภายใต้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเชิงวิศวกรรมจากความเชี่ยวชาญของนักวิจัยของ สวทช. และพันธมิตร
“สวทช. โดยทีมวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้ร่วมให้คำปรึกษา และแก้ปัญหาการใช้งานรถโดยสารไฟฟ้า พัฒนาต้นแบบสถานีประจุไฟฟ้าสำหรับรถโดยสารไฟฟ้าต้นทุนต่ำ ออกแบบวิธีการประเมิน วิเคราะห์คุณลักษณะ ทดสอบประสิทธิภาพ สมรรถนะ
รวมถึงพัฒนาสนามทดสอบน้ำท่วมขังร่วมกับ มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี และรับการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกอย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์การใช้งาน และได้ประเมินประสิทธิภาพการให้บริการ ความเหมาะสมผ่านการทดลองให้บริการบนเส้นทางให้บริการจริงของ ขสมก. เป็นระยะเวลา 3 เดือน
นอกจากนั้นยังมีความร่วมมือกับ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้า จากรถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ขสมก.”
โดยทั้ง ขสมก. กฟผ. กฟน.และ กฟภ. ในฐานะผู้สนับสนุนการพัฒนาจะนำรถโดยสารไฟฟ้าทั้ง 4 รุ่นไปทดลองขับใช้งานเต็มประสิทธิภาพ เพื่อการออกแบบรูปแบบการให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะในระยะยาว สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าในประเทศ
ที่สำคัญทำงานร่วมกับของหน่วยงานต่างๆ แบบจตุภาคี ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำตามแนวนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่สามารถผลิตรถโดยสารไฟฟ้าใช้เองในประเทศ ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับคนไทย
โฆษณา