1 มิ.ย. 2022 เวลา 03:30 • ศิลปะ & ออกแบบ
รู้จัก Demna Gvasalia ดีไซเนอร์ผู้อยู่เบื้องหลัง ไอเดียสุดแปลกของ Balenciaga
“64,000 บาท” คือราคารองเท้า “Paris Sneaker” รุ่นใหม่ของ Balenciaga
ซึ่งราคานี้ สำหรับรองเท้าแบรนด์หรู ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจนัก
ถ้ามันไม่ได้มีรูปลักษณ์ที่ทั้ง “เก่าและขาด” เสมือนผ่านการใช้งานมานับครั้งไม่ถ้วน
ชนิดที่ว่าคนที่ไม่ได้อินกับแฟชั่น ต้องขยี้ตาและตั้งคำถามว่า “ใครจะซื้อรองเท้ายับเยินคู่นี้ไปใส่ ?”
แล้วใครที่เป็นเจ้าของไอเดียสุดแปลกนี้ ? ลงทุนเกิร์ลจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับเขากันค่ะ
ผลงานที่เป็นกระแสฮือฮาตั้งแต่ยังไม่วางขายนี้ มาจากไอเดียของคุณ Demna Gvasalia ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ คนปัจจุบันของ Balenciaga ที่คอยดูแลงานด้านการออกแบบของแบรนด์
หากจะพูดถึงความเป็นมาในเส้นทางแฟชั่นของคุณ Demna Gvasalia ก็เรียกได้ว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
โดยในปี 2006 เขาจบการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านการออกแบบแฟชั่น ที่ Royal Academy of Fine Arts เมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม
ซึ่งกลายเป็นใบเบิกทาง ให้เขาเริ่มเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับแบรนด์แฟชั่นชั้นสูง อย่าง Louis Vuitton และ Maison Martin Margiela
จนกระทั่งในปี 2014 เขาก็ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการร่วมก่อตั้งแบรนด์แฟชั่น “Vetements” และโด่งดังเป็นพลุแตกภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ถึงขั้นเป็นหนึ่งในแบรนด์สตรีตแฟชั่นที่ทรงอิทธิพลต่อเทรนด์โลกเลยทีเดียว
ผ่านไปเพียง 1 ปี หลังจากที่เขาฉายแววอันโดดเด่นผ่านแบรนด์ของตนเอง Balenciaga ก็ได้ประกาศแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของแบรนด์
นับจากนั้น Balenciaga ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์แฟชั่นที่ได้รับความนิยม และประสบความสำเร็จมากที่สุด ณ เวลานี้
ซึ่งเหตุผลหลัก เกิดจากการที่หัวเรือใหญ่คนใหม่นี้ ได้ปรับภาพลักษณ์ห้องเสื้อหรูเก่าแก่ โดยนำสตรีตแฟชั่นเข้ามาผสมผสาน เพื่อให้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ในบริบทชีวิตประจำวัน
รวมถึงสร้างสรรค์ผลงานมากมายที่เป็นกระแส ทั้งในวงการแฟชั่นและโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น
- การคอลแลบอเรชันกับแบรนด์ Crocs ซึ่งในเวลานั้นถูกตราหน้าว่าเป็น “แบรนด์รองเท้าที่น่าเกลียดที่สุดในประวัติศาสตร์” โดย Balenciaga ได้แปลงโฉม Crocs จากรองเท้าหัวโต ให้เป็นรองเท้าส้นตึก หนา 4 นิ้ว
- กระเป๋ารุ่น “Bazar Shopper” ที่กลายเป็นประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ โดยเฉพาะในบ้านเรา เพราะกระเป๋ารุ่นฮิตนี้ ดันมีรูปทรงและสีสันคล้ายคลึงกับกระสอบสีรุ้งตามสำเพ็ง
- กระเป๋ารุ่น “Arena Creased-Leather Holdall” กระเป๋าหนังใบใหญ่สีฟ้า ราคาประมาณ 73,000 บาท ที่ดูเหมือน “Frakta” ถุงช็อปปิงสีฟ้าของ IKEA ราคา 29 บาท ราวกับถอดแบบกันมา
จะเห็นได้ชัดว่า ชิ้นงานต่าง ๆ โดยฝีมือของคุณ Demna Gvasalia แสดงถึงความกล้าที่จะแตกต่างในโลกธุรกิจแฟชั่น
2
โดยการหยิบสินค้าธรรมดาในชีวิตประจำวัน ที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ มาเพิ่มความโดดเด่น และจัดแสดงใหม่ในฐานะสินค้าฟุ่มเฟือย เสียดสีแฟชั่นชั้นสูงบนรันเวย์ ที่ปกติแล้วจะเน้นภาพลักษณ์อันสูงส่ง นั่นเอง
มากไปกว่านั้น คุณ Demna Gvasalia ยังพา Balenciaga ไปในทิศทางที่สะท้อนประเด็นทางสังคมมากขึ้น โดยเขามักจะถ่ายทอดแนวคิด ด้วยการใช้เสียงของแบรนด์ สื่อสารเมสเซจผ่านผลงานอยู่เป็นประจำ
เช่น การจับมือเป็นพันธมิตรกับโครงการอาหารโลก (World Food Programme) ออกสินค้าแฟชั่นที่มีการสกรีนโลโกของโครงการอาหารโลก เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องปัญหาความอดอยาก พร้อมกับหักรายได้จากสินค้ากลุ่มนี้ ไปสนับสนุนโครงการอาหารโลกอีกด้วย
ไม่เพียงแค่เรื่องเล็ก ๆ ในสังคมเท่านั้น
แต่คุณ Demna Gvasalia ยังพา Balenciaga แสดงจุดยืนในการ “ต่อต้านสงคราม” จากเหตุการณ์ใหญ่ในปีนี้อย่าง “สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน”
ด้วยการจัดแฟชั่นโชว์ ที่นายแบบและนางแบบ ต้องเดินฝ่าลมแรงจากพายุหิมะเทียม ซึ่งบางคนยังถือถุงขยะขนาดใหญ่ระหว่างการแสดง เพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์อันโหดร้าย และการถูกบังคับให้ต้องพลัดถิ่นอย่างที่ชาวยูเครนกำลังเผชิญ ขณะที่เก้าอี้ของผู้เข้าร่วมงาน ยังได้จัดวางเสื้อยืดสีประจำชาติยูเครนไว้ทุกที่นั่ง
ซึ่งสาเหตุที่คุณ Demna Gvasalia ให้ความสนใจในประเด็นนี้ เพราะตัวของเขาเองก็มีพื้นเพที่ต้องลี้ภัยสงคราม หนีออกจากจอร์เจียประเทศบ้านเกิดตั้งแต่ยังเด็ก สงครามจึงเป็นเหมือนบาดแผลภายในจิตใจเขา
1
แน่นอนว่า แนวคิดต่าง ๆ ที่แบรนด์หยิบยกมาพูดถึง นอกจากจะเป็นการแสดงจุดยืนแล้ว ยังช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งทุกวันนี้พวกเขาให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมและการเมืองกันมากขึ้น
อ่านมาถึงตรงนี้ คงพอเข้าใจแล้วว่า ทำไมชื่อของคุณ Demna Gvasalia ถึงถูกยกย่องให้เป็นดีไซเนอร์ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของอุตสาหกรรมแฟชั่นในยุคนี้
นักออกแบบที่อาจดูมีความคิดที่แปลกในสายตาของใครหลายคน และไม่ว่าจะออกคอลเลกชันอะไร ก็มักจะตามมาด้วยเสียงวิจารณ์ก่อนเสมอ
อย่างไรก็ตาม แฟชั่นก็ไม่มีคำว่าถูกหรือผิด แต่เป็นเรื่องของความถูกใจ หรือไม่ถูกใจเท่านั้น
ซึ่งความแตกต่างจากใคร ๆ นี้เอง ที่ดึงดูดใจเหล่าผู้บริโภค ได้เป็นอย่างดี..
โฆษณา