3 มิ.ย. 2022 เวลา 11:30 • สิ่งแวดล้อม
ผืนป่าแห่งหนึ่งในอินเดียสว่างไสวในยามค่ำคืนด้วยแสงกะพริบจาก "หิ่งห้อย" นับพันล้านตัว !!!
1
หิ่งห้อยเป็นแมลงปีกแข็งที่สามารถเรืองแสงได้ ซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษที่ทำให้ใครหลายคนหลงใหล
1
แสงกะพริบของหิ่งห้อยหลักร้อยหรือพันตัวที่เกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นภาพที่สวยงามและดูโรแมนติกมาก แต่มันจะน่าตื่นตาตื่นใจแค่ไหนถ้าแสงกะพริบนั้นเกิดจากหิ่งห้อยหลายพันล้านตัว
Sriram Murali วิศวกรซอฟแวร์ของบริษัท Google ใช้เวลาว่างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำงานเพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องมลภาวะทางแสงให้กับคนทั่วไป
นอกจากนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เขายังมีความสนใจหิ่งห้อยมากเป็นพิเศษ โดยเดินทางเข้าป่าเพื่อศึกษาวิถีชีวิตของแมลงเรืองแสงชนิดนี้ และถ่ายภาพแสงกะพริบระยิบระยับของพวกมันเอาไว้ด้วย
Murali ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของเขตอนุรักษ์พันธุ์เสือโคร่ง Anamalai หรือ ATR ในรัฐ Tamil Nadu ประเทศอินเดีย ทำการศึกษาวิจัยลักษณะทางนิเวศวิทยาของพื้นที่ เพื่อหาวิธีอนุรักษ์หิ่งห้อยที่อาศัยอยู่ในผืนป่าแห่งนี้
โดยล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา Murali ได้ถ่ายภาพและทำหนังสั้นเพื่อถ่ายทอดความงดงามในยามค่ำคืนขณะที่หิ่งห้อยหลายพันล้านตัวกะพริบแสง จนดูราวกับว่าผืนป่า ATR เป็นพรมกำมะหยี่สีเขียวที่เรืองแสงได้
1
ภาพความงามอันแสนพิเศษนี้จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนของทุกปี ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่หายากมากในปัจจุบัน เนื่องจากการขยายตัวของเมืองและมลพิษที่เพิ่มขึ้น ทำให้หิ่งห้อยในหลายพื้นที่ทั่วโลกลดจำนวนลง
ดังนั้น การปรากฏตัวของหิ่งห้อยจำนวนมหาศาล จึงแสดงให้เห็นว่าป่าไม้ในเขต ATR มึความอุดมสมบูรณ์และยังไม่ถูกปนเปื้อนด้วยมลพิษมากนัก เพราะทุกช่วงชีวิตของหิ่งห้อยจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นดินชื้นแฉะหรือแหล่งน้ำที่สะอาด และพื้นที่ตรงนั้นยังจะต้องไม่ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพมากเกินไปด้วย
ทั่วโลกมีหิ่งห้อยมากกว่า 2,000 ชนิด โดยหิ่งห้อยตัวผู้ทุกชนิดจะมีปีก ในขณะที่ตัวเมียบางชนิดมีปีก บางชนิดไม่มีปีก และบางชนิดมีปีกสั้นมาก
หิ่งห้อยทั้งสองเพศมีอวัยวะเรืองแสงอยู่ที่ปล้องท้องส่วนปลาย โดยตัวผู้มีปล้องเรืองแสง 2 ปล้อง ในขณะที่ตัวเมียมักจะมีปล้องเรืองแสงเพียงแค่ปล้องเดียวเท่านั้น
หิ่งห้อยตัวผู้จะกะพริบแสงเพื่อส่งภาษารักดึงดูดตัวเมียชนิดเดียวกันให้เข้ามาผสมพันธุ์ โดยแสงของหิ่งห้อยจะเกิดขึ้นเมื่อสารลูซิเฟอริน (Luciferin) ที่อยู่ในปล้องเรืองแสงทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ลูซิเฟอเรส (Luciferase) โดยมีสาร Adenosine triphosphate หรือ ATP เป็นแหล่งพลังงาน และมีออกซิเจนที่ได้จากการหายใจเข้าไปทำปฏิกิริยาภายในด้วย
นอกจากความสวยงามของแสงกะพริบระยิบระยับแล้ว หิ่งห้อยยังเป็นสัตว์ที่ช่วยสร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติ เนื่องจากตัวอ่อนของมันจะกินหอยฝาเดียว ไส้เดือน และแมลงตัวเล็ก ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งหอยบางชนิดเป็นพาหะนำโรคเข้าสู่คนและสัตว์
ดังนั้น การลดลงของหิ่งห้อยย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น รวมทั้งระบบนิเวศโดยรวม
แต่ Sriram Murali แนะนำว่าเราทุกคนสามารถช่วยกันอนุรักษ์หิ่งห้อยได้หลายวิธี เช่น การดูแลรักษาต้นไม้ที่เป็นแหล่งที่อยู่ของมัน และการใช้แสงไฟในยามค่ำคืนเท่าที่จำเป็น ซึ่งจะช่วยอนุรักษ์นกและสัตว์ชนิดอื่นที่หากินในเวลากลางคืนด้วย
โฆษณา